xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตามจิกไม่ปล่อยตรวจบริษัทเสี่ยง เผยหากพบขึ้นป้ายเตือนประชาชนทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” ตามจิกบริษัทเสี่ยง หากพบไม่ปลอดภัยหรือเข้าข่ายฉ้อโกงแจ้งเตือนทันที ป้องกันประชาชนตกเป็นเหยื่อเหมือนกรณี “ยูฟัน” แนะโหลดแอปฯ ไว้ใช้ตรวจสอบ จะได้รู้บริษัทไหนดี บริษัทไหนเสี่ยง

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำการติดตามและตรวจสอบบริษัทเสี่ยง หรือบริษัทที่ทำธุรกิจเข้าข่ายฉ้อโกง และตกเป็นข่าวทั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่ออื่นๆ อย่างใกล้ชิด โดยเมื่อทราบว่าเป็นบริษัทอะไรก็ให้เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทว่าทำธุรกิจตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ที่อยู่บริษัทถูกต้องหรือไม่ รายชื่อกรรมการเป็นใคร มีชื่อซ้ำมาซ้ำไปหรือไม่ และการส่งงบการเงินเป็นอย่างไร ส่งหรือไม่ส่ง

ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นบริษัทที่มีความผิดปกติก็จะแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ โดยจะระบุในหมายเหตุงบการเงินเลยว่าเป็นบริษัทที่ควรจะระมัดระวังในการทำธุรกิจ หากจะติดต่อหรือเข้าร่วมในการทำธุรกิจ ก็ควรจะใช้วิจารณญาณเป็นพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบขึ้น

“อย่างกรณีบริษัท ยูฟัน สโตร์ ที่เกิดปัญหาแชร์ลูกโซ่ กรมฯ ก็ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว โดยล่าสุด สคบ.ได้ยกเลิกวัตถุประสงค์เรื่องขายตรงแล้ว กรมฯ ก็จะยกเลิกต่อไป และได้ขึ้นเตือนไว้เลยว่าบริษัทนี้มีปัญหาอะไร คนจะได้รู้ และเลี่ยงที่จะทำธุรกิจด้วย” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว

สำหรับบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเครือข่ายยูฟัน ทั้งบริษัท ยูฟัน สโตร์ และบริษัท ยูฟัน พร็อพเพอตี้ กรมฯ ได้มีการติดตามและตรวจสอบ โดยได้ตรวจสอบการเชื่อมโยงกับบริษัทต่างๆ หากพบว่ามีกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ อีกก็จะมีการตรวจสอบ และหากพบความผิดปกติก็จะมีการแจ้งเตือนต่อไป

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรมฯ ขอแนะนำให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชันของกรมฯ ชื่อ DBD e-Service ในการตรวจสอบบริษัทต่างๆ ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบเลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อ วันที่จดจัดตั้ง สถานะ ทุนจดทะเบียน ที่ตั้ง หมวดหมู่ธุรกิจ วัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจ ปีที่ส่งงบการเงิน และคณะกรรมการบริษัท ซึ่งหากเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจปกติก็จะไม่มีหมายเหตุอะไร แต่ถ้าเป็นบริษัทเสี่ยง บริษัทที่มีข่าวฉ้อโกง กรมฯ ก็จะแจ้งไว้ในหมายเหตุทันทีเพื่อเป็นการเตือน

สำหรับบริษัทที่จะถูกแจ้งเตือนเพื่อให้ระวัง เช่น บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกินไป บริษัทที่ไม่นำส่งงบการเงินประจำปี บริษัทที่กรมฯ เรียกสอบบัญชี แต่ไม่ให้ความร่วมมือ บริษัทที่สถานที่ตั้งมีปัญหา ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือสถานที่ตั้งไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียน

แอปพลิเคชัน DBD e-Service กรมฯ ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2557 โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯ ได้ทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอส และแอนดรอยด์ผ่านกูเกิลเพย์และแอปสโตร์ สามารถใช้บริการงานต่างๆ ของกรมฯ ผ่านมือถือ ซึ่งใช้ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล สถานที่ตั้ง กรรมการบริษัท ทุนจดทะเบียน เพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทนั้นๆ และใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจทำธุรกิจ หรือติดต่อค้าขาย และยังสามารถติดตามข่าวสารของกรมฯ ผ่านแอปฯ ดังกล่าวได้ด้วย โดยล่าสุดมีผู้ใช้บริการระบบแล้วรวม 4 แสนครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น