xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากตุรกีสู่แท็กซี่สุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม

ผศ.ดร.สุเทพ ทองงาม
ผู้อำนวยการสำนักบรรณสารการพัฒนา
อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)


ผมได้มีโอกาสเดินทางไปตุรกีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งการไปเป็นหมู่คณะบ่อยครั้งที่ต้องมีการใช้บริการรถบัสหรือรถโค้ชในท้องถิ่น เลยได้สังเกตเห็นข้างรถโค้ชที่ผมใช้บริการว่ามี free WiFi ให้ใช้บนรถซะด้วย(ไม่นับตามโรงแรมที่ก็บริการฟรีเช่นกัน) ในภาพเป็นประตูรถ ก็ไม่แน่ใจว่าเมืองไทยมีแบบนี้หรือยัง แล้วมันมีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการหรือเปล่า

พอได้เดินทางไปเรื่อย ๆ ก็ถึงบางอ้อว่าการที่ผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวสามารถใช้อินเทอร์เน็ตแม้อยู่ระหว่างเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างไร คงเป็นที่ทราบกันดีว่ายุคนี้เป็นยุคของเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้คนก็จะใช้เวลาไปกับการติดต่อกับเครือข่ายสังคมของตนผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ เป็นต้น และสมาร์ทโฟนหรือเครื่องมือสื่อสารแบบไร้สายต่าง ๆ ในปัจจุบันก็มีความสามารถในการเล่นโปรแกรมเหล่านี้ได้ แต่โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์บนสมาร์ทโฟนของเรานั้นจะกลายสถานะเป็นเพียงไม้ประดับทำด้วยพลาสติกไปในทันทีหากเราไม่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ แล้วเมื่อบนรถมี WiFi ให้ใช้ฟรี ใครล่ะจะไม่ไลน์ ไม่อัพสถานะบนเฟซ และแน่นอนว่า รูปภาพต่าง ๆ ที่ผ่านพบไม่ว่าสถานที่ ข้าวของที่ซื้อในช่วงนั้น ๆ ก็คงจะต้องถูกส่งไปในสังคมออนไลน์เผื่อแผ่เพื่อนฝูงพร้อมทั้งอวดไปในตัว ด้วย คราวนี้พรรคพวกเพื่อนฝูงก็จะรู้กันทั่วว่าท่านอยู่ที่ไหน และก็หลีกไม่พ้นการฝากซื้อของหรือแนะนำให้ซื้อโน่นซื้อนี่ ซึ่งเมื่อก่อนต้องฝากให้เรียบร้อยก่อนเดินทาง และหากของที่ต้องการไม่มีหรืออาจไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ หรือราคาไม่ตรงกับที่รับฝากมา ผู้ซื้อก็อาจไม่กล้าซื้อเพราะกลัวซื้อผิด หรือกลัวผู้ฝากไม่ยอมจ่าย ครั้นจะโทรศัพท์กลับไปถาม ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก และบางทีก็ไม่ทราบว่าจะโทรศัพท์อย่างไร เดี๋ยวนี้ใช้โทรศัพท์สาธารณะกันไม่ค่อยจะเป็นเสียแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ เราสามารถติดต่อเพื่อนของเราได้ตลอดเวลา เมื่อเรารู้ว่าเพื่อนเราอยู่ที่ไหนแบบ real time เราก็ส่งรูปของที่ต้องการไปให้ และหากของที่ต้องการไม่มีหรือมีของรุ่นอื่นก็สามารถไลน์กลับไปถามพร้อมรูปและราคาได้ทันที รวมทั้งกรณีราคาเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ผลก็คือทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และพรรคพวกในเครือข่ายเดียวกันก็จะรู้ด้วย ดีไม่ดีมีคนอื่นฝากซื้อเพิ่มอีก ผมไม่ทราบว่าสถิติการซื้อของฝาก ของที่ระลึกมากขึ้นหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ในทริปที่ผ่านมา ขอบอกว่าเพิ่มขึ้นแน่ ๆ อย่างน้อยก็สำหรับผมคนหนึ่งล่ะ หากไม่ได้เห็นรูป Turkish delight ข้างบนนี้ที่ส่งมาให้ผ่านทางเฟสในระหว่างที่ผมอยู่ที่ตุรกี ผมก็คงไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้ เพราะมีหลายแบบเหลือเกินสำหรับขนมชื่อนี้ ตอนแวะที่ร้านผมยื่นโทรศัพท์ให้คนขายดูเลยว่าขนมในตู้ของทางร้านกับขนมในภาพคือสิ่งเดียวกันหรือไม่ ในที่สุดก็ได้ของที่ตรงกับความต้องการจนได้

ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลและธุรกิจการท่องเที่ยวของตุรกีหรือไม่ก็ตาม ผมว่ามัน เป็น การใช้ประโยชน์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์กับธุรกิจการท่องเที่ยว ได้เป็นอย่างดีตัวอย่างหนึ่ง เพราะการใช้จ่ายเพื่อซื้อของท้องถิ่นหรือของที่ระลึกก็เป็นรายได้เข้าประเทศที่ผมคิดว่าไม่น้อยหน้าไปกว่าค่าโรงแรม ค่าธรรมเนียม หรือค่าเดินทางเแต่อย่างใด อีกทั้ง เงินทองยังตกถึงมือชาวบ้านโดยตรงอีกด้วย นี่ยังไม่นับการได้โอกาสประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวเอง (นอกจากจะไม่เสียเงินแล้วยังจะได้เงินค่าบริการเสียอีก) คราวนี้คงจะเห็นถึงประโยชน์ของการมี WiFi ให้ใช้บนรถกันแล้ว แต่การที่จะมี WiFi ให้ใช้นั้นคงทราบกันดีว่าต้องมี การลงทุนและพัฒนาด้านเครือข่าย broadband ให้มากขึ้น ซึ่งที่ตุรกีก็ทำได้ดี ไม่ว่ารถจะแล่นไปในหุบเขาหรือที่ห่างไกล ส่วนใหญ่ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างไม่ติดขัด แล้วทางการตุรกีทำอย่างไรถึงมาได้ขนาดนี้ สำหรับที่ตุรกี ตาม Telli, Cagatay, 2011. Broadband in Turkey: Compare To What? Washington, D.C: infoDev / World Bank. Available at http://www.broadband-toolkit.org. ระบุว่า broadband เป็นความรับผิดชอบของ 5 หน่วยงานภาครัฐคือ 1.The State Planning Organization (SPO) 2.The Office of the Prime Minister 3.Ministry of Transportation and Communication (MoTC) 4.The Scientific and Technological Research Council (TUBITAK) 5.The Information and Communications Technologies Authority (ICTA) ลองเปรียบ เทียบกับบ้านเราก็คงประมาณ สภาพัฒน์ฯ สำนักนายกฯ กระทรวงไอซีที สภาวิจัยและสวทช. และกสทช. ตามลำดับ ดูไปดูมาบ้านเราก็มีครบนะเนี่ย

ขากลับพอลงจากเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก รู้สึกดีใจที่นักท่องเที่ยวคงกลับมาเที่ยวเมืองไทยดังแต่ก่อน แต่ก็กังวลเล็กน้อยในเรื่องการเรียกรถแท็กซี่เพื่อกลับบ้าน ผมจึงตัดสินใจนั่งแอร์พอร์ทลิงค์เข้าเมือง เพราะไม่อยากประสบกับปัญหาแท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิอันมีชื่อเสียงขจรขจาย ผมยอมเสียเงินค่ารถไฟฟ้า 25 บาทและเสียเวลาอีกเล็กน้อยไปเรียกแท็กซี่เอาแถวนั้น เมื่อเดินไปถึงสถานีแอร์พอร์ทลิ้งค์ ก็ยิ่งประหลาดใจระคนดีใจที่ได้เห็น นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยโดยสารแอร์พอร์ทลิงค์ไปกับผมด้วย ที่ประหลาดใจก็เพราะคิดไม่ถึงว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านั้นเลือกใช้วิธีเดียวกันกับผม ที่ดีใจก็เพราะว่าแอร์พอร์ทลิงค์จะได้มีกำไรกับเค้าสักที นี่ถือว่าในวิกฤติมีโอกาสจริง ๆ และทำให้คิดไปว่านี่ อาจเป็นทางออกของเรื่องแท็กซี่สุวรรณภูมิได้อีกทางหนึ่ง คือหากใครต้องการไปไกลและตกลงราคาก็เข้าคิวเรียกที่สุวรรณภูมินั่นแหละ แต่ถ้าใครอยากเรียกแบบมิเตอร์ไม่มีค่าธรรมเนียมก็ให้นั่งแอร์พอร์ทลิ้งค์ไปเรียกเอาเองข้างนอก ก็น่าจะสมประโยชน์ทั้งแท็กซี่สุวรรณภูมิที่ต้องการรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปไกล ๆ และตกลงราคา ส่วนผู้โดยสารที่เข้าเมืองหรือไปใกล้ ๆ รวมทั้งต้องการจ่ายค่าโดยสารตามมิเตอร์ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและไม่ต้องเสียความรู้สึก นอกจากนี้ส้มก็ไปหล่นใส่แอร์พอร์ทลิ้งค์เต็ม ๆ ในการที่จะมีผู้โดยสารมากขึ้น แต่ตัวแอร์พอร์ทลิ้งค์เองก็คงต้องปรับปรุงเรื่องตารางเวลา ความถี่ จำนวนตู้โดยสาร และสถานที่เพื่อรองรับด้วย

ว่าจะเขียนเรื่อง broadband ไหงมาจบด้วยแท็กซี่สุวรรณภูมิเสียได้!

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน สำนักบรรณสารการพัฒนา คณะสถิติประยุกต์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ไม่จำเป็นต้องมีความเห็นไปในทางเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น