xs
xsm
sm
md
lg

หม่อมอุ๋ยมั่นใจอีกปีครึ่งอินเทอร์เน็ตบุกทุกบ้าน กระตุ้นตลาดออนไลน์ยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ
“หม่อมอุ๋ย” เผยแผนนำไทยบุกเศรษฐกิจดิจิตอลรับมือกระแสการค้าโลก ตั้ง National Boardband ให้ทุกที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย รวดเร็ว พร้อมจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลอำนวยความสะดวกการค้าออนไลน์ คาดอีก 7 เดือนมีสายไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงชุมชน และในปีครึ่ง อินเทอร์เน็ตเข้าถึงทุกบ้าน แนะ กสทช.เปิดประมูล 4G โดยเร็ว หวังขยายเครือข่ายออนไลน์ทั่วโลก จากแผนขยาย International Gateway ครบ 10 แห่ง

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยแผนการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทย ในการแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจดิจิทัล โลกการค้าในอนาคต” ในงาน 'ขับเคลื่อน SMEs ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล' จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ว่า การทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย คนไทยได้ใช้ประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะในแง่ธุรกิจ ต้องทำให้ทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ดังนั้นทางรัฐฯ จึงจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการเข้าสู่ระบบดิจิตอล โดยมีกรอบแผนงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. จัดตั้ง National Broadband เพื่อให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร้านค้า ชุมชน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะจัดตั้งภายใน 2 สัปดาห์ และคาดว่าภายใน 6-7 เดือนจะมีสายไฟเบอร์ ออปติก เข้าถึงชุมชน และอีก 1 ปีครึ่ง จะมีสายไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงทุกบ้านจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน

2. เร่งรัดให้มีการเปิดประมูล 4G โดยให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ไปพิจารณาความสำคัญ 3. สร้าง Data Center ที่ใหญ่ที่สุด โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลด้านการตลาดทั้งหมด โดยต้องจัดให้เป็นหมวดหมู่ ใช้งานง่าย เช่น ข้อมูลตลาดกลุ่มลูกค้าเด็ก ผู้สูงวัย โดยคาดว่าในส่วนของ Data Center จะดำเนินการได้เร็วกว่า National Broadband โดยต้องเพิ่มเกตเวย์ (Gateway) จากเดิมมีเพียง 2 รายที่ให้บริการ ต้องเพิ่มให้ถึง 10 เกตเวย์ เพื่อรองรับการค้าขายสินค้าในต่างประเทศ 4. สร้างระบบคำแนะนำ ข้อเสนอแนะต่างๆ ออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ เช่น คำแนะนำการสร้างเว็บไซต์ ระบบอีคอมเมิร์ซ การโอนเงิน และคำแนะนำการจัดตั้งระบบธุรกิจ และ 5. กำหนดกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจดิจิตอล ต้องมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นต้น

“การจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการนั้น ผมได้หารือกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าขอจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวก่อน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือถึงแนวทางความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา ต้องเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะในอีก 2-3 ปีข้างหน้าไทยจะเป็นฐานการผลิตรถอีโคคาร์ เฟส 2 อีก 2 ล้านคัน เพื่อส่งออกไปทั่วโลก ฉะนั้นไทยต้องพร้อมในเรื่องบุคลากรด้านชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย” รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจกล่าว

ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตมวลรวมของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับภาครัฐเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับโลกในอนาคต ใน 2 ประการ ได้แก่

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหา และการวางโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต โดยปัญหาหลักๆ คือการจัดการขยะ โดยได้วางยุทธศาสตร์กำจัดขยะอุตสาหกรรมเป็นแผน 5 ปี เช่น การควบคุมดูแล การสร้างเครือข่ายสนับสนุน และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขยะแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว และ 2. ขจัดอุปสรรคในการอนุมัติ อนุญาตต่างๆ เช่น การลดขั้นตอนการขอ รง.4 การลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตรับรองมาตรฐาน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน และภาคเอกชนได้รับความสะดวกสบายและคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า บทบาทของกรมฯ คือทำอย่างไรที่จะเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันเชิงธุรกิจของผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยกรมฯ ได้มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อเอสเอ็มอี ภายใต้แนวคิดดิจิตอลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) ผ่านกิจกรรม 5 ด้านหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิตอล (New Digital Entrepreneurs) เช่น กลุ่มผู้เขียนแอปพลิเคชัน และเกมต่างๆ บนสมาร์ทโฟน หรือกลุ่มผู้ทำแอนิเมชันหรือกราฟิกดีไซน์ (Animation / Graphic Design) ต่างๆ

2. เอสเอ็มอีอัจฉริยะ (Intelligence SMEs) อาทิ ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม (Enterprise Resource Planning : ERP) ที่ใช้ในการบริหารด้าน ต่าง ๆ การจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือการสต๊อกสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT)

3. การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโอทอป (Digital OTOP) ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโอทอปที่มีศักยภาพสามารถทำการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ 4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล (Digital Knowledge Society) เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การอบรมสัมมนาในหลักสูตรการตลาดแห่งอนาคต (Digital Marketing) และหลักสูตรเปิดร้านค้าออนไลน์แบบเข้าใจมีชัยแน่นอน

และ 5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Digital Service Provider) เป็นการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรองรับการขยายตัวของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอล โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบกว่า 2,500 ราย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น