กสอ.จับมืออุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (HIDA) ลุยขยายตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศแอฟริกาใต้
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศแอฟริกาใต้เป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวแอฟริกาใต้นิยมซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพราะเป็นสิ่งจําเป็นในการดํารงชีวิตและเป็นเครื่องบ่งชี้ฐานะทางสังคม อีกทั้งแอฟริกาใต้มีจำนวนประชากรกว่า 45.7 ล้านคน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของแอฟริกาใต้ยังชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวและทํากิจกรรมกลางแจ้งกับครอบครัวหรือเพื่อนสนิทในวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำให้ความต้องการรถยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ประกอบกับภูมิประเทศของแอฟริกาใต้เป็นป่าและทะเลทรายเป็นส่วนใหญ่ ทําให้อายุการใช้งานของชิ้นส่วนยานยนต์สั้น
จากปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประเภท REM เช่น เกียร์ ระบบเบรก ระบบกันสะเทือน เพลา โช้กอัพ พวงมาลัย เข็มขัดนิรภัย ยางอะไหล่ และกระจกรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ อุปกรณ์แต่งรถยนต์จำพวกบันไดสำหรับก้าวขึ้นรถ กันชนที่ออกแบบสวยงามเข้ากับตัวถัง เป็นที่ต้องการมากทั้งในแง่อำนวยความสะดวกและประดับตกแต่งในด้านการใช้งานเพื่อเหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์
นายอาทิตย์กล่าวต่อว่า กสอ.โดยสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (สพส.) และสำนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล และอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ HIDA (The Overseas Human Resources and Industry Development Association) ได้ร่วมกับคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแอฟริกาใต้ ดำเนินโครงการ “การศึกษาดูงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แอฟริกาใต้” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของแอฟริกาใต้มีความเข้าใจในรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทย ภายใต้กิจกรรมต่างๆ เช่น การบังคับใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ และการตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อเป็นการพยุงเวลาให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศสามารถพัฒนาได้ทัน รวมทั้งการตั้งสถาบันยานยนต์ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนของไทยโดยเฉพาะ ตลอดจนการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อีกทั้งโครงการความร่วมมือกับญี่ปุ่นด้านการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ (AHRDP)
“กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประสบความสำเร็จในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเป็นกรณีศึกษาอย่างหนึ่งในการสนับสนุนความก้าวหน้าของผู้ผลิตยานยนต์รายใหม่ในแอฟริกาใต้ โดยความพยายามที่จะพัฒนาและดึงดูดอุตสาหกรรมยานยนต์และเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทย ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ในแอฟริกาใต้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเป็นการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมแก่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์รายใหม่ๆ ที่ต้องการขยายเข้าไปในแอฟริกาใต้ต่อไป ทั้งส่งผลให้ไทยมีช่องทางในการขยายตลาดไปยังแอฟริกาใต้ได้มากขึ้น”
ปัจจุบันแอฟริกาใต้เป็นฐานการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ถึง 7 รายด้วยกัน เช่น โตโยต้า และนิสสัน ที่มีกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 6 แสนคันต่อปี และบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวนหนึ่งก็ทยอยเข้าไปขยายการลงทุนในแอฟริกาใต้ แต่การเข้ามาของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหม่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยแอฟริกาใต้ตั้งเป้าหมายยกระดับประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์ให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2563
ทั้งนี้ ในปี 2556 แอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 4.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ 2.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากแอฟริกาใต้ 2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าแอฟริกาใต้ 3.72 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบถือว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับแรกของไทยไปแอฟริกาใต้ ด้วยมูลค่ากว่า 785.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีมูลค่า 311.37 และ 305.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ (ข้อมูล : ระบบฐานข้อมูลสถิติการค้าไทย กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *