xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดโมเดลเลือกตั้งส.ส.6 กลุ่มจังหวัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงวันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ร่างแรกก็ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว รอส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณา ตรวจแก้อีกครั้ง ก่อนที่จะได้ร่างจริง ใช้เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำรายละเอียด เนื้อหาสาระ ไปรายงานต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันรุ่งขึ้น ก็ได้เข้ารายงานต่อที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายไปแล้ว ซึ่งก็เป็นที่พอใจ และได้รับความชื่นชมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี

แม้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักการเมือง ที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป อาทิ ระบบการเลือกตั้งส.ส. ประเด็นที่มา ส.ว. การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็น ส.ส. เรื่องรัฐบาลต้องยุบสภาทันทีเมื่อแพ้โหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น แต่ก็ได้รับคำชี้แจงจากประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้เข้าใจถึงเจตนารมย์ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน

ในจำนวนนี้ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งส.ส. น่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนในส่วนของโครงสร้าง และหลักการที่สำคัญอีกแล้ว โดยการเลือกตั้งส.ส.ตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จะเป็นระบบสัดส่วนแบบผสม โดยจะมีจำนวน ส.ส.ทั้งหมดไม่น้อยกว่า 450 คน แต่ไม่เกิน 470 คน แบ่งเป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเขตเลือกตั้ง 250 คน และส.ส.ที่มาจากระบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 200 คน แต่ไม่เกิน 220 คน

ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติ ก็ได้มีการเตรียมข้อมูลรองรับการเลือกตั้งรูปแบบใหมนี้ โดยได้มีการแบ่งกลุ่มจังหวัดของประเทศ ออกเป็น 6 กลุ่มจังหวัด ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ให้พิจารณาจากพื้นที่จังหวัดที่ติดกัน และแต่ละกลุ่มจังหวัดไม่จำเป็นต้องมีจำนวนประชากรที่เท่ากัน เสร็จสิ้นแล้ว พร้อมกับได้มีการคำนวณจำนวน ส.ส. เขตในแต่ละจังหวัดที่พึงมี ไว้เป็นเบื้องต้น และได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ไปแล้วเช่นกัน 
                   
   โดย 6 กลุ่มจังหวัด ที่มีการแบ่งประกอบด้วย

ภาคเหนือ 15 จังหวัด แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 41 คน แบบบัญชีรายชื่อ 18 คน รวมมี ส.ส 59 คน ประกอบด้วย จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 42 คน แบบบัญชีรายชื่อ 28 คน รวมมี ส.ส. 70 คน ประกอบด้วย จังหวัด เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 41 คน แบบบัญชีรายชื่อ 46 คน รวมมี ส.ส. 87 คน ประกอบด้วยจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร

ภาคกลางตอนบน 17 จังหวัด แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 42 คน แบบบัญชีรายชื่อ 50 คน รวมมี ส.ส. 92 คน ประกอบด้วย กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ลพบุรี ชัยนาท สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ปทุมธานี นนทบรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว

ภาคกลางตอนล่าง 9 จังหวัด แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 44 คน แบบบัญชีรายชื่อ 30 คน รวมมี ส.ส. 74 คน ประกอบด้วย สุมทรสงคราม สุมทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด

ภาคใต้ 16 จังหวัด แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 40 คน บัญชีรายชื่อ 33 คน รวมมีส.ส. 73 คน ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ส่วน ส.ส.เขต 250 คน ที่กกต.ได้คำนวณจำนวน ส.ส. ที่พึงมีในแต่ละจังหวัด โดยใช้ฐานข้อมูลจำนวนประชากรล่าสุดเมื่อ 31 ธ.ค. 57 จำนวน 65,124,716 คน และใช้อัตราส่วนราษฎร 260,499 คน ต่อ ส.ส.หนึ่งคน โดยมีการปัดเศษแล้วนั้น ก็ทำให้ ส.ส.ลดลงทุกจังหวัด โดยจะมี 14 จังหวัด ที่มีส.ส.เพียงคนเดียว คือ แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร อำนาจเจริญ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครนายก สมุทรสงคราม ตราด พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล

จังหวัดที่มี ส.ส. 2 คน มี 25 จังหวัด คือ ตาก น่าน พะเยา พิจิตร แพร่ ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ ยโสธร สระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรสาคร จันทบุรี กระบี่ ชุมพร ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง ยะลา เพชรบุรี

จังหวัดที่มีส.ส. 3 คน มี 14 จังหวัด คือ กำแพงเพชร พิษณุโลก ลำปาง นครพนม นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง นราธิวาส ปัตตานี

จังหวัดที่มีส.ส. 4 คน มี 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร ชัยภูมิ ปทุมธานี นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี

จังหวัดที่มี ส.ส. 5 คน มี 6 จังหวัด คือ เชียงราย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นนทบุรี สงขลา สมุทรปราการ

จังหวัดที่มีส.ส. 6 คน มี 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ อุดรธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ชลบุรี นครศรีธรรมราช

จังหวัดที่มีส.ส. 7 คน มี 2 จังหวัด คือ ขอนแก่น อุบลราชธานี ส่วนจังหวัดที่มี ส.ส. 10 คน คือ นครราชสีมา และ กรุงเทพมหานคร มีส.ส. มากสุด คือ 22 คน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนส.ส.เขตเดิมที่แต่ละจังหวัดมีตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มี ส.ส.เขต 375 คน แล้ว ในระบบใหม่ที่กำหนดให้มีส.ส.เขตเพียง 250 คน จะพบว่า จังหวัดใหญ่ๆ มีการลดลงของจำนวนส.ส. ค่อนข้างมาก เช่น กรุงเทพมหานคร เดิมมี 33 คน ก็ลดลงเหลือเพียง 22 คน นครราชสีมา จากเดิมที่มี 15 คน ก็ลดลงเหลือ 10 คน อุบลราชธานี จากเดิมมี ส.ส. 11 คน ก็เหลือ 7 คน ขอนแก่น จากเดิม 10 คน ก็จะลดลงเหลือ 7 คน เชียงใหม่ จากเดิมมี ส.ส. 10 คน ก็จะลดลงเหลือเพียง 6 คน นครศรีธรรมราช จากเดิม 9 คน ก็ลดลงเหลือ 6 คน เป็นต้น

แน่นอนว่า จำนวนส.ส.เขต ที่ลดลงถึง 125 เก้าอี้นี้ จะต้องมีเสียงคัดค้าน โวยวาย ออกมาจากพรรคการเมือง และนักเลือกตั้ง เพราะจะมีปัญหาการแย่งชิงกันในพรรค เพื่อให้ได้เป็นตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง 

แต่ถ้าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เห็นว่าเสียงคัดค้านนั้น เป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชน แล้วทุบโต๊ะเอาตามที่กรรมาธิการยกร่างฯ ได้เสนอไว้ เสียงคัดค้านเหล่านั้นก็จะไร้ความหมายไปทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น