xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ลูกหนี้”จะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นอย่างไร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2558 เป็นปีที่ 70 ในรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดยให้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของตน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

สำหรับพระราชบัญญัติการทวงหนี้ฉบับใหม่ ครอบคลุมการทวงหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยผู้ติดตามหนี้ ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ โดยต้องมีการจดทะเบียนต่อทางราชการ ส่วนสาระสำคัญมีดังนี้

1.ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ติดต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่ลูกหนี้ จะไปทวงกับบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลอื่นไม่ได้ ทวงได้เฉพาะลูกหนี้และผู้ค้ำประกันเท่านั้น เว้นแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานที่ติดต่อลูกหนี้

2.ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ กระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด และคุกคาม ในการติดตามทวงถามหนี้ อาทิ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี การเปิดเผยความเป็นหนี้ของผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

3.ห้ามติดตามทวงหนี้เกินสมควรแก่เหตุ รวมถึงการติดต่อทางโทรศัพท์วันละหลายครั้ง และก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ

4.ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้กระทำการในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในการติดตามทวงหนี้ เช่น ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี รัฐ หน่วยงานของรัฐ ทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย ทำให้เชื่อว่าหากไม่ชำระหนี้จะถูกดำเนินคดี ถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน ข่มขู่ว่าจะดำเนินการใด ทั้งที่ไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย

5.ห้ามไม่ให้ผู้ติดตามหนี้ ติดตามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม อาทิ เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ เว้นแต่ได้มีการตกลงไว้ล่วงหน้า ติดต่อลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้โดยทางไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก หรือโทรสาร ใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจ บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการติดตามทวงถามหนี้

ส่วนการติดต่อกับลูกหนี้นั้น ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้เท่านั้น ยกเว้นติดต่อไม่ได้ ให้ถือเอาสถานที่ติดต่ออื่น เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการติดต่อได้ โดยการติดต่อลูกหนี้ทางโทรศัพท์ โทรสาร หรือติดต่อบุคคล สำหรับวันทำการให้ติดต่อได้ในเวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการติดต่อได้ในเวลา 08.00-18.00 น. เว้นแต่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร

ขณะที่บทกำหนดโทษแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โทษทางปกครองจะถูกปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 24 และทางอาญาจะถูกเพิกถอนการจดทะเบียน และจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นการลงโทษขั้นสูงสุด รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ขึ้นมาดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานด้วย

สำหรับรายละเอียด ส่วนที่ 1 “โทษทางปกครอง”

มาตรา ๓๔ ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ ว่าผู้ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ วรรคสอง (๑) หรือ (๔) มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๑ (๖)หรือมาตรา ๑๓ (๑) ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ มีอํานาจสั่งให้ระงับการกระทําที่ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กําหนด

หากผู้ทวงถามหนี้ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ พิจารณามีคําสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาทหน้า ๑๒ เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๖ ก ราชกิจจานุเบกษา ๖ มีนาคม ๒๕๕๘

มาตรา ๓๕ ในการพิจารณาออกคําสั่งลงโทษปรับทางปกครอง ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ คํานึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทําผิด

ในกรณีที่ผู้ถูกลงโทษปรับทางปกครองไม่ยอมชําระค่าปรับทางปกครอง ให้นําบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และในกรณีที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ดําเนินการบังคับตามคําสั่ง หรือมีแต่ไม่สามารถดําเนินการบังคับทางปกครองได้

ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ มีอํานาจฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชําระค่าปรับ ในการนี้ ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคําสั่งให้ชําระค่าปรับนั้นชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาและบังคับให้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินขายทอดตลาดเพื่อชําระค่าปรับได้

มาตรา ๓๖ ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องรับโทษปรับทางปกครอง ถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทําการหรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทําของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอํานาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษปรับทางปกครองตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๒๗ มีอํานาจสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ได้ เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

(๑) เคยถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกลงโทษซ้ำอีกจากการกระทําความผิดอย่างเดียวกัน
(๒) กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๓๘ ผู้ทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งให้ชําระค่าปรับทางปกครองตามมาตรา ๓๔ วรรคสอง
หรือผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนตามมาตรา ๓๗ ต่อคณะกรรมการได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคําสั่งคณะกรรมการต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับอุทธรณ์คําวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

สำหรับรายละเอียด ส่วนที่ 2 “โทษอาญา”

มาตรา ๓๙ บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕ มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง มาตรา ๘ วรรคสอง (๒) หรือ (๓) มาตรา ๑๑ (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) หรือมาตรา ๑๓ (๒) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกนหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๔๐ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ (๒) (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๔๑ บุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ (๑) หรือมาตรา ๑๒ (๑) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๔๒ เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๔ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๔๓ บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามมาตรา ๒๔ หรือขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามมาตรา ๓๒ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

มาตรา ๔๔ ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลถ้าการกระทําความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทําการหรือไม่กระทําการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทําของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอํานาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สําหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

มาตรา ๔๕ บรรดาความผิดในส่วนที่ ๒ นี้ ยกเว้นมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๒ ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งมีอํานาจเปรียบเทียบได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนดคณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจํานวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เมื่อคณะกรรมการเปรียบเทียบได้ทําการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชําระค่าปรับตามคําเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกําหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้คณะกรรมการเปรียบเทียบแจ้งให้คณะกรรมการทราบโดยเร็ว

สรุปแล้ว “พระราชบัญญัติ การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558” จะส่งผลให้ลูกหนี้ได้รับการคุ้มครองจากการทวงหนี้จากเจ้าหนี้ หรือผู้ทำหน้าที่แทนในการทวงหนี้มากขึ้น โดยจะมีผลบังคับอีก 180 วัน นับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ที่สำคัญลงโทษไปถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ว่าผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 14 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ




กำลังโหลดความคิดเห็น