ผ่านแล้ว ร่าง พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ เห็นชอบตาม กมธ. เสนอ ดึง รมว.มหาดไทย นั่งเป็นประธานกรรมการทวงนี้ พร้อมกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด และสั่งห้าม จนท. รัฐทำธุรกิจทวงหนี้
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ. ... ในวาระ 2 และ 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีการแก้ไขในเนื้อหาที่สำคัญ อาทิ มาตรา 3 กำหนดให้ “ผู้ทวงถามหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สิ้นเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ “ผู้ให้สินเชื่อ” หมายความว่า บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติหรือบุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อไปทุกทอด “สินเชื่อ” หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน “ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย “ธุรกิจทวงถามหนี้” หมายความว่า การรับจ้างทวงถามหนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเป็นปกติธุระ แต่ไม่รวมถึงการทวงถามหนี้ของทนายความซึ่งกระทำแทนลูกความของตน
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ “นายทะเบียน” หมายความว่า ผู้ซึ่ง รมว.มหาดไทยแต่งตั้งให้เป็นผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ. นี้ โดยคณะกรรมการนี้ประกอบด้วยรมว.มหาดไทย เป็นประธานกรรมการ ปลัดมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผบ.ตร. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทยเป็นปรธานโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่ง รมว.มหาดไทยแต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ติดใจสอบถามในส่วนของคำนิยาม คำว่า “ผู้ให้สินเชื่อ” ที่กรรมาธิการแก้ไขให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทน “นิติบุคคล” นั้น หมายความว่าอย่างไร ซึ่ง กมธ. ชี้แจงว่า การเขียนนิยามผู้ให้สินเชื่อโดยใช้คำว่าบุคคลนั้น หมายความรวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ นอกจากนี้ กมธ. ยังมีการเพิ่มความในมาตรา 6 ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่บุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการดังกล่าว โดยเพิ่มความในข้อ 2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็นและตามความเหมาะสม
อีกด้านหนึ่ง ที่ประชุมได้สอบถาม ถึงการเพิ่มมาตรา 11/1 ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการดังต่อไปนี้ 1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ 2) การทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรมราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
นายวรรณชัย บุญบำรุง กมธ. ชี้แจงว่า สาเหตุคือเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารและตำรวจเข้ามาทำการทวงหนี้ แม้จะไม่ข่มขู่ แต่ก็ถือว่าไม่เหมาะสม และถือเป็นการคุ้มครองลูกหนี้ จึงต้องตัดไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และหากเจ้าหน้าที่รัฐคนใดฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่สหกรณ์
ในชั้น กมธ. ยังได้เพิ่มเติมให้มีคณะกรรมการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อัยการจังหวัด ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ในพื้นที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด คลังจังหวัด ประธานสภาทนายความจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งเป็นกรรมการ และให้ใช้ที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจเป็นสถานที่รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ รวมทั้งให้หัวหน้าหน่วยงานส่งเรื่องไปยังที่ทำการปกครองจังหวัดหรือกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้วแต่กรณี
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สนช. อภิปราย ในส่วนของมาตรา 21/1 ที่ กมธ. เพิ่มเนื้อหาแก้ไขให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รับผิดชอบในงานธุรการของคณะอนุกรรมการที่ตั้งมาพิจารณาหรือปฏิบัตการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการทวงถามหนี้ผู้ให้สินเชื่อที่เป็นนิติบุคคลนั้น อาจไม่เหมาะกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่เป็นหน่วยงานทำงานด้านวิชาการ และนโยบาย เห็นควรที่จะเปิดช่องให้เพิ่มเนื้อหาว่าหรือให้หน่วยงานอื่นที่กระทรวงการคลังกำหนดเป็นผู้ดูแลแทน จะเหมาะสมกว่า
อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ. ได้ชี้แจงประเด็นนี้ว่า เนื่องจากต้นเรื่องกฎหมายนี้มาจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งกำกับดูแลธุรกิจให้กู้เงินอยู่แล้ว จึงเห็นว่าควรให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านการธุรการด้วย ขณะที่งานด้านธุรการรับผิดชอบทวงถามหนี้ นอกจากนี้ ในส่วนของบทลงโทษ กรรมาธิการได้เพิ่มเติมมาตรา 32/1 ในกรณีผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษอาญาตาม พ.ร.บ. นี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการ หรือการกระทำการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการแทนนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในความผิดนั้นๆ
สุดท้ายที่ประชุมมีมติ เห็นชอบวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้และให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป