xs
xsm
sm
md
lg

แห่ร้องแบงก์ชาติคุมดอกเบี้ย-ค่าฟี ปชช.ชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่เพียงพอชำระหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศคง.เผยประชาชนส่วนใหญ่ขอ ธปท.ช่วยเจรจาหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล เหตุมีหนี้บัตรหลายใบ และมีหนี้สินอื่นร่วมทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง พร้อมทั้งเสนอให้ ธปท.ควบคุมการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อ และค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมโอนเงินข้ามธนาคาร และข้ามเขต รวมถึงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตคิดว่าสูงเกินไป

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ได้รายงานการดำเนินการให้ข้อมูล คำปรึกษา และรับเรื่องร้องเรียน ล่าสุด ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. หรือไตรมาส 3 ของปี 57 พบว่า ประชาชนติดต่อเข้ามาทั้งสิ้น 20,236 ราย คิดเป็น 16,871 เรื่อง ส่วนใหญ่ขอให้ ธปท.ประสานงานไปยังสถาบันการเงินช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้เกิดจากบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งลูกหนี้หลายรายจะมีบัตรหลายใบ และมีหนี้สินอื่นร่วมด้วย ทำให้รายได้ไม่เพียงพอชำระหนี้ที่เหลือในการขอลด หรือยกเว้นดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

“ประชาชนเสนอให้ ธปท.ควบคุมการคิดดอกเบี้ยสินเชื่อและค่าธรรมเนียม ซึ่งมองว่าสถาบันการเงินเรียกเก็บไม่เหมาะสม หรือสูงเกินไป โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารและข้ามเขต รวมถึงอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงเกินไป ส่วนการแจ้งเบาะแสส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม ซึ่งประชาชนเห็นว่าเรียกเก็บอัตราที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์” รายงานดังกล่าวระบุ

สำหรับสถิติการร้องเรียนบริการด้านการเงิน พบว่า ด้านสินเชื่อมีการร้องเรียนทั้งสิ้น 200 เรื่อง เพิ่มจากไตรมาสก่อน 9% โดยสินเชื่อบัตรเครดิตมากที่สุด รองมาเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทนี้ได้รับแจ้งว่า ได้ชำระหนี้ปิดบัญชีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับใบแจ้งหนี้และติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ถือเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับแรกๆ ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องคิดดอกเบี้ยที่ลูกค้าเห็นว่าไม่เป็นธรรม หรือไม่เป็นไปตามข้อตกลง และการไถ่ถอนหลักประกันล่าช้า

เช่นเดียวกับด้านพฤติกรรมเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน รวมถึงเจ้าหน้าที่เอาต์ซอร์ส มีจำนวนร้องเรียน 173 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย เรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ พฤติกรรมการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสม เช่น ลักษณะข่มขู่ทำให้ลูกหนี้อับอาย โดยเฉพาะทางหนี้ในที่ทำงานและโทรศัพท์วันละหลายครั้ง รองลงมา เจ้าหน้าที่สถาบันการเงินไม่ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้า เช่น ไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อใช้บริการ ซึ่งร้องเรียนต่อคอลเซ็นเตอร์ของสถาบันการเงินแล้ว แต่ไม่คืบหน้า รวมถึงล่าช้าในการขอยกเลิกบัตรเครดิต หรือออกใบแจ้งหนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดร้องเรียนการขายบริการทางการเงินพ่วงด้านหลักทรัพย์หรือประกันภัยของสถาบันการเงิน (ครอส เซล) รวมถึงด้านเงินฝาก-ตั๋วเงิน ลดลงจากไตรมาสก่อน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเดิมๆ คือ ถูกบังคับทำประกันชีวิตเมื่อมีการขอสินเชื่อ ถูกบังคับทำบัตรเอทีเอ็ม หรือเดบิตที่มีประกันชีวิตร่วม และเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลคลุมเครือ ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดระหว่างบัญชีเงินฝาก กับการประกันชีวิต เช่นเดียวกับปัญหาถอนเงินแล้วไม่ได้รับเงิน หรือไม่ครบ อายัด หรือหักบัญชีโดยเจ้าของบัญชีไม่ยินยอม บัตรถูกยึดจากตู้ ทำให้เสียค่าธรรมเนียมทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ถือว่าไม่เป็นธรรม

ส่วนปัญหาภัยทางการเงินมีจำนวนลดลงจากไตรมาสก่อน 37% ไตรมาสนี้มีแค่ 188 เรื่อง ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากบัตรเครดิต เดบิต เอทีเอ็ม ถูกบุคคลอื่นขโมยไปใช้ ตามมาด้วยหลอกลวงทางโซเชียลมีเดีย อีเมล เฟซบุ๊ก เช่น หลอกว่าจะได้รับเงินจากต่างประเทศ แต่ต้องโอนค่าธรรมเนียมไปชำระก่อน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น