ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย คงเป็นอุปสรรคสำคัญของเจ้าหนี้ที่จะทวงเงินกับลูกหนี้ หากเป็นคนกันเองก็ยิ่งลำบากใจจนกลายเป็นถูกเชิดเงินไปเฉยๆ ทว่า กับพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ที่ผ่านวาระดูจะยิ่งป้องกันเหล่าลูกหนี้มากขึ้น แถมยังติดดาบหันกลับไปทำร้ายเหล่านักทวงหนี้อย่างร้ายกาจ!
ทว่าในอีกมุมหนึ่งการทวงหนี้ก็เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหา ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าติดตามหนี้ผุดขึ้นไม่เว้นวันกลายเป็นดอกเบี้ยโหดที่ลากลูกหนี้เข้าไปสู่กับดักการชดใช้หนี้อันไม่วันสิ้นสุด
“ลูกหนี้” กับ “เจ้าหนี้” ดูจะมุมมืดที่ต่างสร้างปัญหาได้ชวนให้สงสัยว่าพ.ร.บ.นี้จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่?
วงจรหนี้
การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่หลายคนตั้งใจให้เกิดขึ้น และหลายครั้งการเป็นหนี้ในสังคมไทยก็เกิดจากความไม่รู้ทางด้านการเงิน ไพโรจน์ โภคสุพัฒน์ ที่ปรึกษาชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เผยว่า มีผู้คนที่เริ่มเป็นหนี้มากมายจากหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลโดยมาจากค่าธรรมเนียม ค่ากดเงินสด ค่าปรับผิดนัดชำระหนี้ และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง เมื่อมารวมกับดอกเบี้ย และเงินต้นก็ทำให้หลายคนไม่มีความสามารถในการใช้หนี้
“มันกลายเป็นกับดับหนี้บัตรเครดิต กรณีแบบนี้มีเยอะมาก แล้วหนี้ก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งคนเป็นหนี้แรกๆ พอถูกทวงก็กลัวเลยไปรูดบัตรเครดิตอื่นเพื่อมาใช้หนี้ แต่มันก็ยิ่งเป็นการเพิ่มหนี้เข้าไปอีก เป็นวงจรที่ไม่มีวันที่จะชดใช้ได้หมด เพราะหนี้มันเกินกำลังของเขาที่จะจ่ายได้”
รูปแบบการทวงหนี้ในปัจจุบันนั้น เขาเผยว่า หนี้ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาอยู่คือหนี้ในระบบของสถาบันการเงินต่างๆ นักทวงหนี้จะใช้ทุกกลเม็ดเพื่อให้ลูกหนี้ยอมจ่ายหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์เข้ามาทวงหนี้รบกวนการทำงานหลายๆ ครั้ง หรืออ้างว่าตนเองเป็นตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งโทรศัพท์ไปทวงหนี้กับพ่อแม่ของลูกหนี้
“ตรงนี้เป็นปัญหามากครับ และพ.ร.บ.นี้น่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้ดี แต่ปัญหาหนี้ที่มันเป็นอยู่ตอนนี้มันยังมีปัจจัยอื่นอยู่แล้ว และจุดเริ่มของปัญหาจริงๆแล้วก็มาจากรัฐเองแหละครับ คือโดยทั่วไปเรามีกำหนดดอกเบี้ยให้อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่พอปฏิบัติจริงๆ เนี่ย แบงก์ชาติกลับยึดประกาศของตัวเองที่ตั้งไว้ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพวกบัตรเครดิตแบงก์ชาติก็ให้ดอกเบี้ย 20 เปอร์เซ็นต์ บางทีพอคำนวณแล้วมันก็มีค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดแฝงอยู่ เท่ากับ 7 - 8 เปอร์เซ็นต์ ก็เกินกว่าที่หลอกประชาชนไว้
“แล้วยังมีค่าติดตามหนี้ ทุกวันนี้เจ้าหนี้ทั้งหลาย เงื่อนไขค่าติดตามที่ว่าสมควรแก่กรณี ทุกวันนี้เจ้าหนี้ชาร์จลูกหนี้ทั้งหมดถ้าผิดนัดเมื่อไหร่ก็ชาร์จอีก เท่ากับ 30,000 - 40,000บาทคำนวณแล้วสรุปลูกหนี้บางรายเป็นหนี้เขา 12 ปี วงเงิน 68,000 วันนี้ก็ยังจ่ายไม่หมดสักที จ่ายมากกว่าที่ตัวเองเบิกมาประมาณ 70,000-80,000บาท”
เขาเผยว่า ลูกหนี้หลายคนไม่รู้ว่าตนเองต้องจ่ายมากกว่าที่คิด เขายกตัวอย่างกรณีหนึ่งที่โดนค่าติดตามหนี้บัตรเครดิต 1 ใบ 60 ครั้ง และบัตรอีกใบ 40 ครั้ง รวม 100 ครั้ง ครั้งละ 250 บาท ตกเป็นเงินร่วม 25,000 บาท ยังมีภาษีอีก 7 เปอร์เซ็นต์
“นี่เป็นสิ่งที่ไม่แฟร์เลยที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ อย่าโกหกกันดีกว่าจะคิดเท่าไหร่ก็ว่าไป แต่ไม่ใช่ว่า ดอกเบี้ย 20 เปอร์เซ็นต์แล้วมีค่าติดตามหนี้มีค่าเบิกถอนเงินสด ไปๆมาๆ ลูกหนี้โดนอ่วม”
ทั้งนี้ เขามองว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องดอกเบี้ย แม้ว่าในพจนานุกรมจะระบุว่า ดอกเบี้ยคือเงินที่ให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายอีกฝ่ายเพื่อใช้เงินของฝ่ายนั้น ทว่าค่าธรรมเนียม ค่าเบิกถอนเงินสด หรือค่าธรรมเนียมติดตามหนี้ เหล่านี้ก็เป็นดอกเบี้ยที่โผล่ขึ้นมาโดยที่หลายคนไม่ทันตั้งตัว
“มันเริ่มจากค่าผิดนัด เขาจ่ายไม่ไหวเพราะไปบังคับเขาจ่ายอีก 10 เปอร์เซ็นต์ พอจ่ายไม่ไหวเขาก็ชาร์จต่อ 250 บาทต่อวันแล้วมันจะเหลืออะไร ลูกหนี้ก็คงไม่ไหว”
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวที่ปล่อยให้มีการกำหนดดอกเบี้ยที่สูงได้นั้น มาจากช่วงนั้นประเทศมีนโยบายต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เขามองว่า จากวันนั้นถึงวันนี้คนก็ไม่หลุดพ้นจากปัญหา ปัญหากลับเป็นสิ่งที่ทางรัฐทำเองทั้งสิ้น
“ทางรัฐออกกฎดอกเบี้ย 20 เปอร์เซ็นต์โดยถ้าไม่ใช่ธนาคารก็จะอ้างประกาศคณะปฏิวัติ แต่ถ้าเป็นธนาคารก็จะอ้างประกาศแบงก์ชาติ ซึ่งมันมีอำนาจออกได้แต่ถามว่ามันเป็นธรรมมั้ย ในเมื่อเทียบกับต้นทุนเงินฝาก นี่คือสิ่งที่ต้องถามว่า ทำไมให้เขากำไรมากมายมหาศาลขนาดนั้น”
ทั้งนี้ ปัญหาหนี้สินที่ไม่สามารถชำระได้นั้น เขาเผยว่า มีการฟ้องร้องเต็มศาล และโดยมากก็เป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆที่หลงติดกับดักหนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เขายังมองว่าพ.ร.บ.นี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุซึ่งช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีคนเป็นหนี้ที่ยังไม่สามารถใช้ได้ และมีชีวิตอยู่ลำบากอีกมากมาย
“บางคนไม่ไหวมากๆเข้า ถูกโทรศัพท์มาบอกให้ไปกู้ที่อื่น ไปกู้นอกระบบดอกเบี้ยโหดมาจ่าย นี่คือมีแต่ตายกับตาย น่ากลัวมาก จริงๆ คือถ้าไม่มีจ่ายตามกฎหมายเขาฟ้องก็จะมีการอายัดเงินเดือนได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ และอายัดได้ทีละเจ้าหนี้เท่านั้น ซึ่งถ้าตามระบบแบบนี้ลูกหนี้ก็ยังอยู่รอดได้ ไม่ต้องดิ้นรนหาเงินมาจ่าย”
อวสานนักทวงหนี้
“นักทวงหนี้อาจจะมีน้อยลง ผมยังไม่แน่ใจว่าจะหายไปเลยมั้ย เพราะการทวงหนี้มันทำได้ยากมากขึ้น” ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ วิทยากรฝึกอบรมนักทวงหนี้ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ แสดงความเห็นหลังจากพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปีที่จะถึงนี้ โดยเขามองว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อนักทวงหนี้โดยเฉพาะสถาบันการเงินและหนี้นอกระบบอย่างรุนแรง รูปแบบการทวงหนี้อาจต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง
“จากเดิมที่อาจจะมีใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่น รุนแรง และไม่มีใบอนุญาตทวงหนี้ หรือวันหนึ่งโทรศัพท์หลายๆครั้ง ถ้ากฎหมายนี้ใช้การทวงหนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปหมด ว่าง่ายๆ ปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องมารยาท การข่มขู่คุกคามคิดค่าธรรมเนียม รวมถึงการประจานต้องเปลี่ยนหมด ต้องหยุดเลย”
ในส่วนของค่าปรับต่างๆ นั้น กฎหมายใหม่ก็มีการระบุไว้ถึงอำนาจของคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในการพิจารณาความเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าทวงหนี้เดือนละ 200 - 500 บาท หรือค่าสัญญา ค่าล่าช้าต่างๆ
ทั้งนี้ กฎต่างๆที่อยู่ในกฎหมายใหม่นั้น เขาเผยว่า เป็นสิ่งที่ระบุในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการทวงหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว เพียงแต่เป็นแนวทางที่ควรปฏิบัติเท่านั้น ไม่ได้มีบทลงโทษใดๆ แต่กฎหมายที่จะออกใหม่นั้นมีทั้งโทษปรับและจำคุกที่สูงเอามากๆ และบทลงโทษก็มีคดีอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้แทบทั้งสิ้นอีกด้วย
รายละเอียดในกฎหมายใหม่ก็มีมากมายตั้งแต่การออกใบเสร็จหากไม่ทำก็เป็นโทษปรับถึง 100,000 บาท ทั้งยังมีโทษทางอาญาจำคุก 1 - 5 ปี ปรับอีก 100,000 - 400,000 บาท ยังมีข้อห้ามไม่ให้ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาทวงหนี้หรือประกอบธุรกิจทวงหนี้อีกด้วย
“ทุกวันนี้ก็มีทหารตำรวจทนายความเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทวงหนี้ แต่กฎหมายใหม่นี้ ทนายความถ้าจะจะประกอบธุรกิจทวงหนี้ก็ต้องไปจดทะเบียน ส่วนตำรวจ ทหาร ข้าราชการรัฐวิสาหกิจพวกนี้ก็ไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทวงหนี้อีกต่อไป ฉะนั้นพวกซุ้มคนมีสี สีเขียว สีกากีอะไรต่างๆ ก็ต้องสูญหายไป ถ้าไม่สูญก็ต้องย้ายไปเรือนจำ ธุรกิจพวกนี้จะหายไป พวกทวงหนี้เถื่อนตามตลาดคอนโดรัฐวิสาหกิจ พวกนี้ต้องหายไป ถ้าจะประกอบธุรกิจทวงหนี้ก็ต้องมีใบอนุญาต”
เมื่อมองในมุมของเจ้าหนี้แล้ว เขามองว่า การทวงหนี้จะเป็นมีความยากมากขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ในปัจจุบันการทวงหนี้นั้นมีปัญหาใหญ่มักจะอยู่ที่การหายตัวไปของลูกหนี้
“อันดับแรกหาตัวยาก ไม่ยอมรับสาย ถูกเลิกจ้างออกจากงานมีหนี้สินจำนวนมาก ส่วนใหญ่พวกลูกหนี้ บัตรเครดิตบัตรกดเงินด่วนเขาจะเป็นหนี้บัตรหลายใบ ฉะนั้นรายจ่ายมากกว่ารายรับ นี่คือปัญหาในปัจจุบัน แต่ปัญหาใหญ่คือตามตัวไม่ได้ เพราะพอเริ่มเป็นหนี้เป็นสินผิดนัดชำระหนี้ก็เริ่มเปลี่ยนเบอร์เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล หย่ากับสามีย้ายบ้านย้ายคอนโดหนี นี่คือปัญหาใหญ่”
เมื่อมารวมกับกฎหมายใหม่ที่กำลังจะออก เขามองว่า การทวงหนี้จะยิ่งทำงานยากขึ้น ไม่ว่าจะขยับไปทางไหนก็เสี่ยงจะติดคุกหมด ทวงหนี้ในที่อยู่ที่ลูกหนี้ไม่ได้ให้ไว้ก็ผิด ต้องพยายามติดต่อแล้วไม่ได้ถึงจะติดไปยังที่ทำงานได้ การติดต่อไม่ว่าจะเป็นทางโทรศัพท์ หรือทางโซเชียลมีเดียก็ต้องเป็นภายในเวลาที่กำหนด ห้ามโทรศัพท์หลายครั้งเป็นการรบกวน และห้ามพูดจาหยามหมิ่นต่อลูกหนี้อีกด้วย
“มันมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะมากอยู่เหมือนกัน ซึ่งข้อดีมันก็มี มันทำให้การทวงหนี้ดีขึ้น สุภาพขึ้น ไม่มีหมิ่นหยามกัน เคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่มันก็ทำให้การทวงหนี้ยากขึ้น และคงส่งผลให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นอย่างแน่นอน”
“แบงก์ต้องปรับปรุงการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น บางคนต้องเงินเดือนแสนขึ้นไป เขาต้องเข้มข้นในการปล่อยมากขึ้น ถ้าดูแล้วมีโอกาสเบี้ยวเขาก็จะไม่ปล่อยต้องเน้นการระมัดระวังป้องกันมากกว่าการแก้ไข ฉะนั้นการเข้าถึงสินเชื่อคงยากขึ้นเพราะทวงหนี้ยาก คดีความต่างๆที่จะไปสู่ศาลก็มากขึ้นด้วย”
ปัจจุบันกรณี ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายก็มีอยู่พอสมควรในสังคมไทย เขามองว่า เป็นลูกหนี้ที่ไม่สุจริต ถึงตอนนี้ก็มีการตั้งเป็นเว็ปไซต์รวมคนไม่ใช้หนี้ด้วย ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนของสถาบันการเงินต่างๆได้
“การเป็นหนี้มันต้องใช้หนี้ครับ ถ้าประเทศเรามีการเชิญชวนให้ชักดาบกัน มันก็เสียหายหมดเพราะไม่ว่าใครก็ตามที่มาลงทุนไม่ว่าเล็กหรือใหม่เขาก็ประกอบอาชีพสุจริตฉะนั้นไม่ควรเบี้ยวกัน ควรหันมาเจรจากัน ยิ่งกฎหมายใหม่คนทวงก็ต้องพูดจาดีขึ้น ก็คงทำให้การทวงหนี้มีรูปแบบที่เปลี่ยน มันอาจจะทวงไม่ได้แล้ว อาจจะส่งจดหมายเตือนสัก 2 ครั้งแล้วฟ้องศาลเลย”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754