xs
xsm
sm
md
lg

หลักการดี วิธีการมีปัญหา ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เผยแพร่:   โดย: อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


คุณสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ได้ดีสมนามสกุลจริงๆ ครับ ผมขอสนับสนุนหลักการของภาษีบ้านและที่ดิน ที่รัฐบาลนี้ดำริจะจัดเก็บ แต่มีคนออกมาคัดค้านวิพากษ์วิจารณ์กันค่อนข้างมาก จนทำให้ทางกระทรวงการคลังต้องทบทวนอัตราอีกรอบ ก่อนอื่นผมขออธิบายก่อนว่าทำไมจึงสนับสนุนการเก็บภาษี

ประการแรก เราต้องยอมรับว่ารัฐบาลเกิดภาวะลำบาก รายได้ไม่พอกับรายจ่าย เก็บภาษีได้น้อย บวกกับภาระความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวหลายแสนล้านที่จะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินไปอีกหลายสิบปีนั้น ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล อันที่จริงทาง คสช. ควรยึดทรัพย์นักการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐจากโครงการรับจำนำข้าวก่อน แล้วเมื่อไม่พอจึงค่อยมาเก็บภาษีเพิ่ม แต่ทำไมไม่ทำก็ไม่ทราบครับ รัฐบาลเลือกที่จะเก็บภาษีบ้านและที่ดินมากกว่าที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value-added tax) จาก 7% เป็น 10% จริงๆ อัตรานี้ก็ประกาศไว้เป็น 10% มาแต่ต้น แต่ชะลอการใช้มาตลอด การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 10% นั้นจะกระเทือนคนทั้งประเทศหนักกว่าภาษีบ้านและที่ดินอย่างแน่นอนครับผม เพราะจะซื้ออะไรก็ตามเสียภาษีหมด และของที่ใช้เป็นต้นทุนในการผลิตต่อไปก็ต้องเสียภาษีเป็นทอดๆ ไป ข้าวของสินค้ามีโอกาสราคาแพงขึ้นทันทีเพราะต้นทุนจะสูงขึ้นมากจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มขึ้น ดังนั้นโดยเหตุผลข้อนี้ผมเห็นด้วยกับรัฐบาล

ประการที่สอง เราต้องยอมรับว่าในสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก รวยกระจุกในมือเศรษฐีไม่กี่คน จนกระจายทั้งประเทศ การถือครองที่ดินของประเทศไทยนั้นกลายเป็นมหาเศรษฐีและนักการเมืองไม่กี่คนถือ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศจะตายอยู่แล้วยังไม่มีที่ดินเท่าแมวดิ้นตาย เรื่องเหล่านี้มีคนศึกษาเอาไว้มากมาย และคงไม่มีใครปฏิเสธความจริงข้อนี้ได้ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ลงไปได้ เพราะหากคนมีเงินถือครองที่ดินเอาไว้มากมายโดยไม่ก่อให้เกิดรายได้แล้วจะเป็นภาระในการจ่ายภาษีสูงมาก ข้อนี้นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำแล้วยังช่วยให้เกิดการใช้ที่ดินอันเป็นทรัพยากรการผลิตที่จำกัดให้ก่อประโยชน์สูงสุดด้วย ถ้ารัฐบาลนี้จะก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยการเก็บภาษีมรดก ผมจะอนุโมทนา สาธุการ ดังๆ เลยครับผม เพราะจะเป็นกลไกช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีก

ในต่างประเทศนั้นการเก็บภาษีบ้านและที่ดินเป็นเรื่องปกติด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แต่แน่นอนว่าประชาชนก็มีสิทธิ์จะถามได้เช่นกันว่า ทำไมฉันต้องมาเสียภาษี ไปให้รัฐบาลเอาเงินไปโกงกินหรือไปชดใช้หนี้สินที่นักการเมืองสร้างความเสียหายมหาศาลแก่ประเทศชาติ แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อเราเสียภาษีไปแล้วจะไม่มีการนำเงินภาษีไปถลุงใช้ประชานิยมสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติอีก เรื่องเหล่านี้ต้องมีกติกาหรือมีกฏหมายที่รัดกุม ให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาซ้ำ ประชาชนจะเต็มใจจ่ายภาษีมากขึ้น

แม้หลักการจะดี แต่วิธีการผมคิดว่ามีปัญหาหลายประการครับผม

ข้อแรก การเก็บภาษีนี้ควรเก็บในอัตราก้าวหน้า (Progressive rate) มากกว่านี้ เพื่อให้คนถือครองทรัพย์สินแต่พอดีหรือพอเพียงก็พอ เช่น บ้านราคาเกินหลังละสิบล้านจะเก็บสักปีละแสนบาท บ้านหลังไหนเกินยี่สิบล้านจะเก็บสักปีละสามแสน หลังไหนเกินสามสิบล้านจะเก็บปีละแปดแสน แบบนี้เป็นการสมควร เนื่องจากใครที่มีกำลังจะซื้อบ้านขนาดใหญ่ได้ก็ควรที่จะมีกำลังจะจ่ายภาษีสูง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อัตราก้าวหน้านี้ควรจะมีขั้นบันไดมากกว่าที่กระทรวงการคลังเสนอมา คนที่ถือครองที่ดินมากเกินความจำเป็นจะมีต้นทุนในการถือครองที่ดินเพื่อการเก็งกำไรสูงขึ้นและจะทยอยขาย น่าจะมีส่วนทำให้การกระจายการถือครองที่ดินในประเทศนี้ดีมากขึ้น

ข้อสอง เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่จะจัดเก็บภาษีที่ดินในประเทศ สำหรับผู้เริ่มต้นชีวิต เช่น ชนชั้นกลาง-ล่างที่กำลังก่อร่างสร้างตัว การผ่อนชำระบ้านในราคาแพงอยู่แล้ว หลายคนต้องผ่อนถึง 30 ปี หรือจะแทบทั้งชีวิตการทำงานจึงเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่ง ถ้ารัฐบาลจะยกเว้นภาษีนี้ให้กับคนที่เพิ่งซื้อบ้านหลังแรกในชีวิต เป็นบ้านที่มีราคาไม่สูงเกินไป และยังต้องผ่อนชำระไปอีกนาน จะเป็นการช่วยคนที่กำลังก่อร่างสร้างตัว และทำให้เกิดการต่อต้านน้อยลง

ข้อสาม การตีราคาบ้าน เป็นประเด็นที่มีปัญหามากที่สุด ต้องมีกฎเกณฑ์ หลักการ หรือใช้นักประเมินราคามืออาชีพ ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้เป็นดุลพินิจของข้าราชการอย่างเดียว จะเกิดการกลั่นแกล้งหรือเกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้โดยง่าย

ข้อสี่ การเก็บภาษีบ้านและที่ดินในราคาเดียวกันทั้งประเทศนี้ ไม่น่าจะยุติธรรม แม้จะสะดวกข้าราชการผู้ทำหน้าที่เก็บภาษี แต่ทำให้ไม่สะท้อนความเป็นจริง บ้านราคาสามล้านในกรุงเทพมหานครนั้นหาไม่ได้แล้ว คอนโดมิเนียมเล็กๆ ก็สามล้านกว่าบาทแล้วทั้งนั้น แต่ในต่างจังหวัดบ้านราคาสามล้าน สวยๆ และใหญ่โต ยังพอจะหาได้ อัตราภาษีและวิธีการเก็บเหล่านี้ควรสะท้อนค่าครองชีพ ราคาที่ดิน ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย ประเทศไทยไมได้แบนราบเรียบเหมือนกันทั้งประเทศ อย่างน้อยก็ควรจะกำหนดโซนหรือภาค การทำเช่นนี้นอกจากจะสร้างความเป็นธรรมในการเก็บภาษีแล้ว ยังช่วยให้เกิดการกระจายความเจริญด้วย อย่างในสหรัฐอเมริกา เมืองบางเมืองเช่น นิวยอร์กซิตี้ เก็บภาษีบ้านและที่ดินแพงมาก คนที่ไม่ได้ทำงานแล้ว เกษียณแล้ว จำนวนมากตัดสินใจขายบ้านในนิวยอร์ก เพราะทนเสียภาษีไม่ไหว บวกกับอากาศหนาว ไปซื้อบ้านที่ถูกกว่าในฟลอริด้า หรือ อริโซน่า ซึ่งอากาศอบอุ่นกว่า ภาษีบ้านและที่ดินก็ถูกกว่า ค่าครองชีพก็ถูกกว่า ทำให้เกิดการกระจายความเจริญไปยังท้องถิ่นห่างไกล ไม่ใช่ให้ทุกคนแห่กันเข้ามาอยู่ในเมืองอย่างเดียว

ข้อห้า ภาษีบ้านและที่ดินนั้นควรให้ท้องถิ่นได้ส่วนแบ่งด้วย ไม่ใช่ให้รัฐบาลจัดเก็บแต่ผู้เดียว รัฐบาลควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเก็บภาษี และได้ภาษีนั้นไว้บางส่วน หากท้องถิ่นเก็บได้มากรัฐบาลก็ได้เงินภาษีมากขึ้น ท้องถิ่นที่เก็บภาษีได้มากก็มีโอกาสจะนำเงินเหล่านั้นไปพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในท้องถิ่นให้ดีขึ้น ประชาชนอยู่ใกล้ชิดกว่าจะตรวจสอบได้ด้วยว่า ท้องถิ่นได้นำเงินภาษีเหล่านั้นไปใช้คุ้มค่าหรือไม่ เมื่อท้องถิ่นสามารถมีรายได้บางส่วนเพิ่มขึ้น รัฐบาลอาจจะทอนงบประมาณเดิมที่เคยจัดสรรให้ท้องถิ่นลงไปบ้างก็ได้

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม ใครอยากจะแย้งหรือเสนอแนะเพิ่มเติมก็ยินดีรับฟังครับผม
กำลังโหลดความคิดเห็น