“พิชัย” ค้านเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หวั่นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ต้องขายที่เพราะจ่ายภาษีไม่ได้ แนะไว้ขึ้นตอนเศรษฐกิจดี หวั่นทำย่ำแย่ไปอีก ด้าน “พิเชษฐ” หวั่นผู้เช่าบ้านถูกผลักภาระให้จ่าย เตือนจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
วันนี้ (10 มี.ค.) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวนโยบายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าภาระภาษีดังกล่าวจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเป็นจำนวนมาก และอาจจะทำให้ประชาชนที่ไม่สามารถจ่ายภาษีดังกล่าวได้ ต้องแก้ปัญหาด้วยการขายที่ดินหรือบ้านพักเพื่อย้ายออก อย่างไรก็ตาม ในอดีตก็เคยมีแนวคิดนี้ แต่หลังจากพิจารณาแล้วพบว่าจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถอยู่ร่วมกับประชาชนที่มีรายได้มากได้ เพราะจะต้องขายที่ดินและบ้านเพื่อมาชำระภาษีนี้
นายพิชัยกล่าวต่อว่า รัฐสามารถที่จะได้ภาษีเมื่อมีการซื้อขายทรัพย์สินดังกล่าวอยู่แล้ว และสามารถจัดเก็บได้มากในภาวะที่เศรษฐกิจดี หลักการคิดในเรื่องภาษี คือ รัฐควรเก็บภาษีใหม่หรือขึ้นภาษีในภาวะที่เศรษฐกิจดี เพราะนอกจากรัฐจะได้รายได้เพิ่มแล้ว รัฐจะยังได้ช่วยลดทอนความร้อนแรงของเศรษฐกิจด้วย แต่ในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ รัฐจะต้องทำตรงข้าม คือ ต้องลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากเศรษฐกิจฟุบลง แทนที่รัฐจะได้รายได้มากขึ้น กลับจะได้รายได้รวมที่น้อยลงจากการเพิ่มภาษี
“การที่รัฐจะเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจจะทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก เหมือนกับรถยนต์ที่เร่งไม่ขึ้นแล้วยังไปเหยียบเบรกอีก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งทำเพื่อหารายได้เข้ารัฐ คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน โดยเร่งสร้างความมั่นใจจากต่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยหลัก และอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนว่าในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ รัฐบาลควรเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่” นายพิชัยกล่าว
ด้านนายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต รมช.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและปัญหาการจับเก็บภาษีของท้องถิ่นว่า ในฐานะที่เคยเป็นกรรมาธิการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี มา 17-18 สมัย และเคยเป็นผู้กระจายอำนาจการคลังจากกระทรวงการคลังไปให้ท้องถิ่น มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของประเทศอยู่ร่วมสิบปี ขอให้ข้อมูลประกอบความเข้าใจของสังคมดังนี้ เรื่องกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเรื่องภาษีโรงเรือนที่กำลังพิจารณากันอยู่ เป็นเรื่องกฎหมายเก่าที่ใช้กันมาและเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมออกมาเป็นกฎหมายใหม่ ตามที่กำลังพยายามกระทำอยู่ สาระสำคัญเกี่ยวกับบ้านอยู่อาศัย คือ ตามกฎหมายเดิมพิจารณาจากเนื้อที่เป็นหลักคือ ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย แต่เดิมเนื้อที่ไม่เกิน 100 ตารางวาไม่ต้องเสียภาษี กำลังมีการแก้ไขให้คิดตามมูลค่าของราคาบ้านและที่ดินฯ โดยให้กรมธนารักษ์ทำหน้าที่ประเมินราคาและต้องเสียภาษีตามที่กำหนดจะเป็นหนึ่งล้านบาทหรือหนึ่งล้านห้าแสนบาทก็ตาม ผลคือหากบ้านไหนถูกประเมินราคาถึงอัตราที่กำหนด จะต้องเสียภาษีทั้งหมด ไม่ว่าเนื้อที่เท่าไร หรือปลูกอยู่ที่ไหน ลักษณะจะลามไปถึงบ้านในลักษณะตึกแถว ทาวน์เฮาส์ จนถึงคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ แฟลต แม้แต่บ้านเอื้ออารีหรือเอื้ออาทรทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้คงต้องพิจารณาว่ายังมีตึกแถวริมถนน ทาวน์เฮาส์หรือบ้านที่ไหนมีราคาต่ำกว่าล้านบาทบ้าง
นายพิเชษฐระบุต่อว่า ต้องยอมรับว่าบ้านเหล่านี้ส่วนหนึ่งเจ้าของบ้านอยู่เอง แต่อีกส่วนหนึ่งมีผู้เช่าอยู่ ไม่ว่าเช่าอาศัย หรือเช่าเพื่อประกอบการอาชีพ หากเจ้าของบ้านมีภาระต้องเสียภาษีบ้าน แน่นอนที่จะต้องผลักภาระไปยังผู้เช่าบ้านในรูปของค่าเช่า ค่าเช่าที่จะขึ้นคงไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนภาษี เช่น ภาษีปีละ 1,500 บาท ค่าเช่าอาจขึ้นเดือนละ 200 บาท กลายเป็นภาระที่จะถูกผลักต่อไปปีละ 2,400 บาท นั่นคืออีกส่วนหนึ่งของค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น หรือกระทรวงการคลังคิดว่าบ้านที่ให้เช่าลักษณะเช่นว่านี้ไม่มีจริง หรือคิดว่าเจ้าของบ้านจะรับภาระภาษีไว้เองโดยไม่ผลักภาระต่อให้ผู้เช่า
อดีต รมช.คลังระบุต่ออีกว่า หากมีการประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ อยากทราบว่า ณ บัดนี้ยังมีคอนโดมิเนียมในเมืองที่ไหนราคาหน่วยละไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทาวน์เฮาส์ หรือตึกแถวริมถนนที่ไหนในเขตเทศบาลที่มีราคาไม่เกินหน่วยละ 1 ล้านบาท นี่คือข้อเท็จจริงที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องต้องรับฟัง เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีบ้านพักราชการ หรือสามารถเบิกค่าที่พักจากทางราชการเหมือนข้าราชการที่ท่านกำลังคิดขึ้นภาษีเอาเงินมาขึ้นเงินเดือนให้ นี่คือเหตุหนึ่งที่ตนห่วงว่าจะเป็นความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
นายพิเชษฐระบุอีกว่า ในทางเศรษฐกิจ ภาระทางภาษีคือปัจจัยต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง เมื่อภาคผลิตเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งตัวเครื่องจักรและส่วนควบซึ่งจะส่งผลถึงราคาสินค้าที่ผลิตขึ้น ขณะที่ภาคการค้าและภาคบริการ เกิดต้นทุนสูงขึ้นในสถานที่ประกอบการ ไม่ว่าตามโรงแรม ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งตลาดในรูปแบบต่างๆ เมื่อเจ้าของสถานที่เกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้น ย่อมผลักภาระไปสู่ผู้เช่าช่วง ผู้เช่าช่วงผู้ประกอบการต้องผลักภาระไปสู่ค่าสินค้าและบริการ ภาระก็จะตกแก่ประชาชนผู้บริโภคทุกระดับไม่ว่ายากดีมีจนอย่างไร และจะเป็นการกระทบทางเศรษฐกิจที่ต้องเรียกว่าเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
“ในเชิงสังคม รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าบ้านที่อยู่อาศัยคือปัจจัยหนึ่งในสี่ของชีวิตมนุษย์ ทุกวันนี้ภาระค่าครองชีพของประชาชนแทบจะอยู่ในวิกฤตแล้ว วันนี้ประชาชนกำลังรู้สึกว่าถูกอำนาจรัฐ บังคับให้ต้องเสีย “ภาษีค่าที่ซุกหัวนอน” อย่างน่าเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อถามว่าแล้วราคาประเมินบ้านบนที่ดินจิ๊บจ๊อยแต่ราคาบ้านแพง จะมีการหักค่าเสื่อมราคาตามอายุบ้าน เหมือนที่ธนาคารคิดเวลาไปกู้เขาหรือไม่ ตอบว่ามีหัก แต่ระวังค่าที่ดินซึ่งไม่มีค่าสึกให้ แต่จะสวนทางกับค่าเสื่อมราคาบ้านต่อไป คือ ภาษีค่าอาหารยาไส้” นายพิเชษฐระบุ