ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากวัดพระธรรมกายตกเป็นข่าวฉาวโฉ่ สังคมก็ตั้งคำถามแก่วัดแห่งนี้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคำสอนที่บิดเบือน วิธีการจัดการต่อปัญหาวัดพระธรรมกาย การดำเนินการขององค์กรสงฆ์ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ล้วนยังหาข้อสรุปไม่ได้
พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นพระนักเผยแผ่ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ได้ให้สัมภาษณ์แก่ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ เพื่อให้ข้อคิดและเสนอทางปฏิรูปศาสนาที่ถูกต้องแก่สังคม อันจะช่วยให้สถาบันสงฆ์เข้มแข็ง ประชาชนเข้าใจหลักธรรม จนนำสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป
ทำไมจึงมีคนศรัทธาในพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่รู้ว่า วัดพระธรรมกายบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า
อาตมาเชื่อว่าผู้คนจำนวนมากศรัทธาในผู้นำวัดพระธรรมกาย โดยไม่รู้ว่ามีการสอนคลาดเคลื่อนจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า หรือมีการบิดเบือนคำสอนของพระองค์ ศรัทธาอาจเกิดจากความเชื่อในอำนาจพิเศษของผู้นำสำนัก หรือเห็นว่าคำสอนและการปฏิบัติของสำนักนี้ถูกกับจริตของตน รวมทั้งสอดคล้องหรือสามารถตอบสนองกิเลสของตนได้ (เช่น อยากร่ำรวย มีชื่อเสียง) ดังนั้นถึงแม้วัดพระธรรมกายแยกออกไปจากคณะสงฆ์ไทย อาตมาเชื่อว่าก็ยังมีคนศรัทธามากมาย ดังที่เกิดกับอดีตพระภาวนาพุทโธที่แม้ทุกวันนี้ถูกคุมขังในข้อหาพรากผู้เยาว์ ก็ยังมีผู้คนไปกราบไหว้เยี่ยมเยียนในเรือนจำ เพราะเชื่อว่าเขาเป็น “ผู้วิเศษ”
อยากให้สรุปให้เห็นชัดๆ ว่า คำสอนของวัดพระธรรมกายที่บิดเบือนคืออะไร และคำสอนที่ถูกต้องคืออะไรเช่น “วิชชาธรรมกาย” ของวัดพระธรรมกาย ถือว่าใช่แนวทางที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาหรือไม่ อย่างไร หรือวัดธรรมกายสอนว่า “นิพพานเป็นอัตตา” ตรงนี้จริงหรือไม่ หากไม่ใช่พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร
คำสอนของวัดพระธรรมกายที่ไม่ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา ที่สำคัญได้แก่คำสอนเกี่ยวกับบุญ เช่น ถวายเงินมากเท่าไร ก็ได้บุญเท่านั้น มีการกระตุ้นให้ถวายเงินมาก ๆ ยิ่งมากยิ่งดี จนถึงกับเชียร์ให้ทุ่มสุดตัว อาทิ “ปิดบัญชีทางโลก เพื่อเปิดบัญชีทางธรรม” ใครที่ถวายเงินมาก ๆ ก็จะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับเจ้าสำนัก จนอาจได้รับโอกาส “อัดวิชาธรรมกาย”ให้
นอกจากนั้น ก็ได้แก่คำสอนเรื่อง “ธรรมกาย” ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากคำสอนในพระไตรปิฎก (ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าหรือจิตที่เข้าถึงโลกุตรธรรม) หรือการสอนว่า จะบรรลุธรรมก็ต่อเมื่อเห็นองค์พระ มิใช่เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอน
คำสอนว่านิพพานเป็นอัตตา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สอนคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการอวดอ้างเป็นการภายในว่า เจ้าสำนักเป็น “ต้นธาตุ ต้นธรรม” คือเหนือกว่าพระพุทธเจ้า โดยที่แนวคิดดังกล่าวก็หามีในพระไตรปิฎกไม่
การที่วัดพระธรรมกายสอนว่า “ยิ่งบริจาคเงินมาก ยิ่งได้บุญมาก” พระอาจารย์มองว่าอย่างไร
การให้ทานที่ถูกต้องในพุทธศาสนา หรือสัปปุริสทาน มีองค์ประกอบดังนี้ ๑)ให้ของสะอาด ๒)ให้ของประณีต ๓)ให้ถูกเวลา ๔)ให้ของสมควร ๕)ให้ด้วยวิจารณญาณ ๖)ให้เนือง ๆ ๗) เมื่อให้จิตผ่องใส ๘)ให้แล้วเบิกบานใจ จะเห็นได้ว่าไม่มีข้อใดที่กล่าวว่า ยิ่งบริจาคเงินมาก ยิ่งได้บุญ จะว่าไปแล้วการให้ด้วยของหรือทานนั้น เป็นการทำบุญประเภทหนึ่งเท่านั้น ยังมีการทำบุญอีก ๙ ประเภท โดยไม่ต้องใช้เงินเลย เช่น รักษาศีล เจริญภาวนา ฟังธรรม อ่อนน้อมถ่อมตน ทำความเห็นให้ตรง เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีอานิสงส์ยิ่งกว่าการให้ทานด้วยซ้ำ
หลายคนมองว่าวัดพระธรรมกายอวดอุตริมนุสธรรม ท่านคิดอย่างไรในเรื่องนี้
อาตมามองว่าการอุตริมนุสธรรมทำให้เกิดความงมงาย ทำให้การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธผิดไป คือ ไม่ได้มุ่งทำบุญเพื่อขจัดกิเลส หรือฝึกฝนตนให้เกิดปัญญานำชีวิต การหลงทางไปเรื่อยๆ อย่างนี้ จะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ปฎิบัติ และยิ่งถ้าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ก็จะทำให้สังคมผิดเพี้ยน หรือหลงทิศหลงทางกันมากขึ้น
ส่วนประเด็นว่าอวดอุตริมนุสธรรมหรือไม่ มีเกณฑ์วัดหลายระดับ การที่อ้างว่าตัวเองมีญาณทิพย์วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ ก็อาจเข้าข่ายว่าอวดอุตริมนุสธรรมได้ แต่ว่าจะไม่ร้ายแรงเท่ากับบอกว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์หรือบอกว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้า ซึ่งตรงนี้อาจถึงขั้นปาราชิกได้
ถามว่าพระธัมมชโยอวดอุตริมนุสธรรมถึงขั้นปาราชิกหรือยัง ตรงนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัด เพราะบางอย่างยังเป็นคำร่ำลือ แต่ประเด็นที่อ้างว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ อาจเข้าข่าย หลอกลวงประชาชน แต่ถ้าเกิดว่าทำด้วยเจตนาดีหรือเชื่อด้วยความศรัทธาได้นั้น ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เหตุที่จะทำให้พระสงฆ์ปาราชิกได้นั้น ก็คือผิดศีล 5 คือ ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3
ประเด็นวัดพระธรรมกายอาจผิดศีลข้อ 2 ตรงที่ขโมยเอาของส่วนรวมมาเป็นของตน คือการเอาเงินของพระพุทธบริษัทมาเป็นของส่วนตัว ก็เข้าข่ายลักทรัพย์ ในทางโลกว่าผิดแล้ว ในทางธรรมก็ถือว่าผิดเช่นเดียวกัน
หากวัดพระธรรมกายยังสอนคำสอนที่บิดเบือนต่อไป จะเกิดผลเสียอย่างไรต่อสังคมบ้าง
หากวัดสอนผิดๆ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าจุดมุ่งหมายของการสอนคืออะไร ถ้าหากสอนในลักษณะที่ไปกระตุ้นกิเลส ทำให้เกิดความหลง หรือเพื่อเป็นการไปปรนเปรอสนับสนุนวัดพระธรรมกาย แต่เกิดปัญหาต่อส่วนรวมนั้น ก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อน เช่น มีญาติโยมบางคนบริจาคเงินจนหมดเนื้อหมดตัว ทำให้เขาเดือดร้อน และถ้าหากเกิดขึ้นกับคนเป็นแสนเป็นล้าน ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่
นอกจากนั้นคำสอนของวัดพระธรรมกายยังทำให้คำสอนของพระพุทธเจ้าแปรผันไป หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดในพระพุทธศาสนาต่อเนื่องต่อไปเป็นเวลายาวนาน นี่คือเรื่องเสียหาย เพราะจะทำให้พระธรรมวินัยเลือนหายไปได้ง่าย
นอกจากนั้นการปฏิบัติผิดๆ การสอนให้ไปปรนเปรอกิเลส คิดว่าทุกอย่างเพื่อความร่ำรวย และเรื่องปาฏิหาริย์งมงาย นี่เองจะเป็นผลเสียต่อผู้ปฎิบัติเองด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่ พระพุทธศาสนาโดยรวมอย่างเดียว
หลังเกิดกรณีวัดพระธรรมกาย มีพระผู้ใหญ่หลายคนออกมาปกป้องวัดพระธรรมกาย มีขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ นานาเพื่อปกป้องมหาเถรสมาคมซึ่งปกป้องวัดพระธรรมกายอีกครั้ง พระอาจารย์มีความเห็นต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไร และทำไมมหาเถรสมาคม(มส.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยจึงไม่จัดการกับ พระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย
ตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายได้สร้างสัมพันธ์อันดีกับพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ รวมทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย มีการนิมนต์มาร่วมงานสำคัญของวัด และให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอันมาก ดังนั้นพระผู้ใหญ่และกรรมการมหาเถรสมาคมเป็นส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกที่ดีต่อวัดพระธรรมกาย
นอกจากนั้นยังมีการเมืองในคณะสงฆ์ระหว่างมหานิกายกับธรรมยุตเข้ามาเกี่ยวข้อง
กล่าวคือ กรรมการมหาเถรสมาคม รวมทั้งพระผู้ใหญ่โดยเฉพาะฝ่ายมหานิกาย ต้องการเห็นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ฝ่ายมหานิกาย ขึ้นเป็นสังฆราช แต่หากพบว่าผู้นำวัดพระธรรมกายผิดตามข้อกล่าวหา ก็อาจส่งผลให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์พลาดจากตำแหน่งสังฆราชเนื่องจากเป็น ผู้สนับสนุนผู้นำวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด ผลที่ตามมาก็คือ ตำแหน่งสังฆราชก็จะตกแก่สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุต
ประเด็นที่สืบเนื่องกันก็คือ กรรมการมหาเถรสมาคมและพระผู้ใหญ่ฝ่ายมหานิกายเห็นว่าวัดพระธรรมกายมีผลงานโดดเด่น เป็นที่เชิดหน้าชูตาของฝ่ายมหานิกาย และสามารถถ่วงดุลกับอิทธิพลของฝ่ายธรรมยุตได้ จึงพยายามปกป้องและสนับสนุนวัดพระธรรมกายอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองระหว่างมหานิกายกับธรรมยุต ซึ่งยังคงความเข้มข้นถึงปัจจุบัน มีส่วนไม่น้อยกับประเด็นนี้
มีนักวิชาการบอกว่า กรณีวัดพระธรรมกายควรให้สังคมเป็นคนตัดสินว่าจะเลือกหรือศรัทธาหรือไม่อย่างไร พระอาจารย์เห็นด้วยหรือไม่
อาตมาเห็นด้วยว่า ศรัทธาเป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ ดังนั้นสังคมจึงเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกศรัทธาวัดพระธรรมกายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์สำนักนี้เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ และหากเห็นว่าสำนักนี้สอนผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัย ก็เป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่จะพึงทัดทาน ตราบใดที่สำนักนี้ยังประกาศตนว่าเป็นพุทธศาสนานิกายเถรวาท
ค่านิยม “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” ควรปล่อยให้พระจัดการกันเอง เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งๆ ที่พุทธศาสนิกชนเป็น 1 ใน 4 พุทธบริษัทที่ช่วยรักษาพุทธศาสนาตามพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสต่อพระอานนท์
พุทธบริษัทมีหน้าที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และมีหน้าที่อุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำไม่ถูกต้อง ก็ควรถือเป็นหน้าที่ท้วงติง นี้เป็นธรรมเนียมของชาวพุทธมาตั้งแต่พุทธกาล นอกจากนั้นคนไทยแต่ก่อนถือว่าพระเป็นของชาวบ้าน นอกจากชาวบ้านมีหน้าที่อุปถัมภ์ท่านแล้ว หากเห็นท่านประพฤติตนไม่ถูกต้องตามพระวินัย ก็จะท้วงติง ไม่นิ่งเฉย ในอดีตการที่ชาวบ้านจับพระสึกเพราะต้องอาบัติปาราชิก หรือแม้แต่กินเหล้าเมามาย เป็นเรื่องธรรมดามาก
ณ เวลานี้ สังคมเห็นว่าควรจะมีการปฏิรูปศาสนา ปฏิรูปมหาเถรสมาคม ปฏิรูป พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ไทย พระอาจารย์เห็นว่า ควรปฏิรูปในแนวทางใด และอะไรคือปัญหาใหญ่ที่สุดของพุทธศาสนาในประเทศไทย
ปัญหาสำคัญของพุทธศาสนาไทยในเวลานี้คือ ๑)พระภิกษุสงฆ์ย่อหย่อนในพระวินัย ขาดความรู้ในทางธรรม ประพฤติตนไม่น่าศรัทธา อีกทั้งสอนคลาดเคลื่อนจากหลักธรรม ๒) ประชาชนเสื่อมถอยในทางจริยธรรม ดังเห็นได้จากอาชญากรรมและคอร์รัปชันแพร่ระบาด การหมกมุ่นสำส่อนทางเพศและอบายมุขเฟื่องฟู บ่งชี้ว่าพุทธศาสนาไม่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน สะท้อนถึงความล้มเหลวด้านการศึกษาธรรมของชาวพุทธและการเผยแพร่แผ่ของพระสงฆ์ ๓)ความเหินห่างระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน ประชาชนไม่ใส่ใจในพฤติกรรมของพระสงฆ์ ปล่อยให้ประพฤติผิดธรรมวินัยอย่างกว้างขวาง หาไม่ก็หาประโยชน์จากพระสงฆ์ หรือบำรุงบำเรอท่านอย่างผิดสมณสารูป
การปฏิรูปการพระศาสนาในไทย จะต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปคณะสงฆ์ ทั้งในด้านการปกครองและการศึกษา กล่าวคือปฏิรูปให้การปกครองคณะสงฆ์ มีการกระจายอำนาจมากขึ้น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากพระสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วฉับไวและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะรวมศูนย์อยู่ในมือคนไม่กี่คน อีกทั้งขาดความโปร่งใส่ ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ และไม่มีการรับผิด (accountability)ต่อใคร
ส่วนการศึกษาคณะสงฆ์ ซึ่งไม่มีการปฏิรูปอย่างจริงจังมาร่วมร้อยปี ควรมีการปรับปรุงยกเครื่องอย่างจริงจัง องค์กรปกครองสงฆ์ จะต้องไม่เพียงจัดการสอบให้ครบทุกชั้น แต่จะต้องดำเนินการให้มีการศึกษาธรรมวินัยอย่างทั่วถึงทั่วสังฆมณฑล ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละวัดดำเนินการไปตามยถากรรม จะต้องระดมกำลังสนับสนุนทั้งด้านการเงินและบุคคลากรเพื่อสนับสนุนการศึกษา ของสงฆ์ทั่วทุกระดับ รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตร ไม่เน้นการท่องจำ แต่ให้พระเณรรู้จักคิด เข้าใจหลักธรรม และรู้จักเลือกสรรหลักธรรมให้สอดคล้องกับปัญหาของญาติโยม รวมทั้งไม่จำกัดเฉพาะปริยัติศึกษา แต่ส่งเสริมการปฏิบัติ บำเพ็ญภาวนา เพื่อมีชีวิตที่สงบเย็น เป็นแบบอย่างของญาติโยม และสามารถครองเพศพรหมจรรย์ได้อย่างมีความสุขท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม มิใช่หลงใหลในลาภสักการะและวัตถุจนประพฤติผิดพระวินัยอย่างแพร่หลาย
นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้สถาบันสงฆ์ใกล้ชิดกับประชาชนให้มากขึ้น ไม่ควรให้สถาบันสงฆ์พึ่งพารัฐมากเกินไปอย่างที่เป็นอยู่ แต่ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอุปถัมภ์คณะสงฆ์และการพระศาสนา เริ่มจากการทำให้วัดเป็นของชุมชนมากขึ้น ตามมาด้วยการมีองค์กรชาวพุทธเพื่อสนับสนุนการพระศาสนาและคณะสงฆ์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ
มองว่ากรณีวัดพระธรรมกาย สอนบทเรียนอะไรให้แก่สังคมได้บ้าง
คือ กรณีวัดพระธรรมกายสะท้อนให้เห็นวิกฤตปัญหาของสถาบันสงฆ์ ทั้งด้านการปกครอง และการศึกษาของคณะสงฆ์ รวมถึงวิกฤตในเรื่องของการเมืองการธรรม ที่ทำให้คนไปหลงเชื่อวัดพระธรรมกาย ทั้งที่สอนธรรมะคลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎก นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่ากำลังเกิดขึ้น และเราควรแก้ไขปัญหาตรงนี้ให้หมดไป
ทำอย่างไร พุทธศาสนิกชนจึงจะดำรงอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องหลงผิดในคำสอนที่ไม่ถูกต้อง
ประชาชนควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักธรรม รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับพระวินัย สามารถแยกแยะพระดีและพระไม่ดีหรืออลัชชีออกจากกันได้ นอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติที่ถูกต้องจนเห็นผลด้วยตนเอง จะทำเช่นนั้นได้การศึกษามีความสำคัญมาก ซึ่งไม่ควรจำกัดที่โรงเรียนเท่านั้น หากควรได้รับการศึกษาในครอบครัว หากครอบครัวมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง และใกล้ชิดกับศาสนาหรือพระสงฆ์ ก็จะสามารถส่งผ่านหลักธรรมสู่สำนึกของผู้คนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
ควบคู่กันไปก็คือความเข้มแข็งของสถาบันสงฆ์ กล่าวคือ พระภิกษุสงฆ์มีคุณภาพทั้งในทางสติปัญญาและคุณธรรม นอกจากมีความรู้ถูกต้องในทางธรรมแล้ว ยังปฏิบัติถูกต้องตามพระวินัย เป็นที่ศรัทธานับถือของประชาชน และสามารถสอนธรรมให้ประชาชนเข้าใจได้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง สามารถน้อมใจให้ผู้คนมีศรัทธาในธรรมได้ เรียกว่าสอนด้วยการทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสได้ จะทำเช่นนั้นได้กรรมฐานหรือการฝึกจิตสำคัญมาก หากพระไม่ทิ้งกรรมฐาน ก็จะสามารถเป็นกำลังสำคัญในการนำพาผู้คนเข้าถึงธรรม อย่างน้อยก็มีความเข้าใจที่ถูกต้องในทางธรรม