xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"สั่ง มท.-กทม.สอบสะพานลอยเซ็นทรัล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 มี.ค.) นายฉันทวิทย์ เทียมรัตนานนท์ เลขาธิการกลุ่มพิทักษ์กฎหมายเพื่อประโยชน์สาธารณะ (พปส.) กล่าวถึง ความคืบหน้าการติดตามตรวจสอบการขออนุญาต และก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามถนนเชื่อมอาคารเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่พาร์ค กับอาคารเซ็นทรัลชิดลม ที่สร้างคร่อมถนนและคลองสาธารณะ ว่า หลังจากที่กลุ่ม พปส.ได้ทำหนังสือร้องเรียน และทวงถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ล่าสุดทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่า ขณะนี้นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตามที่ พปส.ได้ร้องเรียนไป ทางกลุ่ม พปส.ขอขอบคุณนายกฯ ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เพราะถือเป็นต้นตอของการเอารัดเปรียบประชาชน และใช้สาธารณสมบัติผิดวัตถุประสงค์ สรัางมูลค่าเพิ่มให้กับเอกชน โดยที่มีข้าราชการรู้เห็นเป็นใจ
นายฉันทวิทย์ กล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน ทางกทม. ซึ่งถือเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงกลับยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งที่พปส.ได้ยื่นหนังสือร้องเรียน และทวงถามไปเช่นเดียวกับที่ยื่นถึงนายกฯ อีกทั้งยังขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ให้กทม.เปิดเผยข้อมูลการขออนุญาตและการก่อสร้างสะพานลอย แต่ก็ไม่มีการตอบสนองจากกทม. ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน ซึ่ง พปส. จะยื่นเรื่องร้องเรียนให้นายกฯ ลงมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของข้าราชการกทม. รวมทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ด้วย
"นายกฯ กล่าวในรายการคืนความสุขฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ขอให้ผู้บริหารท้องถิ่นทำงานอย่างเต็มที่ หากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ก็จะสอบสวน ถ้ามีความผิดจริง อาจมีการสั่งพักราชการ ซึ่งกรณีที่ กทม. ละเลยการทำหน้าที่ตามที่ พปส.ร้องเรียนไปนั้น เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่สังคมอย่างมาก" นายฉันทวิทย์ กล่าว
นายฉันทวิทย์ กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบกรณีทางเชื่อมห้างเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ และห้างเซ็นทรัลชิดลมนั้น ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ยังมีกรณีในลักษณะเดียวกันนี้อีกมาก โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรร และโครงการคอนโดมีเนียม ที่มีการตัดถนนผ่านที่สาธารณะ หรือถมคลองสาธารณะ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินของตัวเอง ซึ่ง พปส.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของหลายโครงการ รวมทั้งเห็นว่า กรณีเช่นนี้เจ้าหน้าที่รัฐควรเข้าไปตรวจสอบได้ทันที หากพบว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย เพราะมีข้อมูลผ่านตามสื่อมวลชนอยู่แล้ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเรียนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ช่วงนี้ ใช้งบประมาณจำนวนมากประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เชิญชวนให้คนร้องเรียนเรื่องการทุจริตของข้าราชการเพื่อ ป.ป.ท. จะเข้าไปตรวจสอบ
"เห็นว่าแค่เรื่องมีมูล หรือส่อเค้าว่าจะมีการทุจริต ป.ป.ท. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเข้าไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้เลย เพราะถ้าคนที่มีหน้าที่ไม่ทำอะไร ก็เท่ากับ บกพร่องในการบังคับใช้กฎหมาย" นายฉันทวิทย์ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น