xs
xsm
sm
md
lg

ยอมรับผิดและคิดกลับตัว : เหตุให้อภัยและปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หลังจากเงียบมานานกระแสการปรองดองก็เริ่มดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีการพูดถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปรองดอง และกระแสการปรองดองในครั้งนี้ มีผลกระทบในวงกว้างหลังจากกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจรจากับอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ต้องโทษจำคุกและหนีคดีอยู่ต่างแดน

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสการปรองดองในลักษณะดังกล่าวข้างต้นสงบลง เมื่อนายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ปฏิเสธโดยยึดหลักนิติรัฐว่าตนเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะไปเจรจากับผู้กระทำผิดกฎหมาย และหลบหนีการรับโทษอันเป็นผลจากคำพิพากษาของศาลได้อย่างไร และที่สำคัญตนเองมิได้เป็นศัตรูกับใคร ทั้งมิได้ไล่ล่าใคร เพียงแต่เข้ามารับใช้ประเทศเพื่อให้เกิดความสงบ และสามารถเดินหน้าไปได้เท่านั้น

จากคำตอบของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในทำนองนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนผู้รักสงบ และต้องการเห็นประเทศไทยเจริญก้าวหน้า และต้องการให้มีการปรองดองเป็นไปด้วยความถูกต้อง และมีกติกาสังคมรองรับคงจะพอใจกับคำตอบนี้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยซึ่งอนุมานโดยอาศัยตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้

1. โดยปกติทั่วไปการปรองดองตามนัยที่ควรจะเป็น จะต้องเกิดจากการที่คู่กรณีแห่งความขัดแย้งสมัครใจหันหน้าเข้าหากัน หรือมีผู้ที่ทั้งสองฝ่ายเกรงใจและให้การยอมรับเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีหันหน้าเข้าหากันและเจรจากัน

2. ในการเจรจากันฝ่ายที่กระทำผิด และก่อความเสียหายแก่คู่กรณีจะต้องยอมรับผิด และชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งฝ่ายที่ได้รับความเสียหายยอมการชดใช้นั้น และยอมให้อภัยไม่ผูกเวรกันต่อไป การปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้

3. แต่ในกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้อง รวมไปถึงคนเสื้อแดงที่ก่อความเสียหายเผาบ้านเผาเมือง ผู้ที่ได้รับความเสียหายมิได้เป็นปัจเจกบุคคลคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นประเทศชาติและประชาชนคนไทยโดยรวม

ดังนั้น การปรองดองจะกระทำกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ได้ โดยมีประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เสียภาษีและเงินภาษีที่ว่านี้ ต้องนำมาปรับปรุงแก้ไขความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยที่คนคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นไม่ยอมรับผิด และชดใช้ค่าเสียหายไม่ยอมรับและให้อภัยการปรองดองย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

4. จากวันที่ปรากฏหลักฐานว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นจนกระทั่งถึงวันนี้ ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำผิด ไม่ว่าในกรณีโกงภาษี เผาบ้านเผาเมือง และล่าสุดคือโครงการรับจำนำข้าวยังไม่มีใครคนใดหรือกลุ่มใดยอมรับผิด และที่สำคัญยังออกมาโต้แย้งในทำนองว่าถูกการเมืองกลั่นแกล้ง และถูก คสช.ไล่ล่า

จากการออกมาปฏิเสธและกล่าวหาผู้อื่นในทำนองนี้ จะแปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจากว่าไม่ยอมรับผิด และไม่พร้อมที่จะกลับตัวกลับใจเป็นคนดี ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะได้รับการให้อภัย และเป็นมูลเหตุนำไปสู่การปรองดอง

ด้วยเหตุปัจจัย 4 ประการดังกล่าวนี้ การปฏิเสธของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมาย จึงถูกต้องตามหลักนิติรัฐและสอดคล้องกับหลักธรรมในการให้อภัยแก่ผู้ที่ควรให้อภัย

เมื่อการปรองดองคนผิดกระทำไม่ได้ ต่อจากนี้ไปประเทศไทยจะแก้ไขและป้องกันเหตุร้ายอันอาจเกิดจากการกระทำของกลุ่มบุคคลที่ไม่พอใจอย่างไร

จากกระแสข่าวที่ปรากฏในขณะนี้พอจะทำให้คาดการณ์ได้ว่า ยิ่งคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความคืบหน้าถึงขั้นส่งฟ้องศาล และมีแนวโน้มว่าศาลจะพิพากษาว่ามีความผิดจริงตามฟ้องมากยิ่งขึ้นเท่าใด เชื่อได้ว่ากระบวนการก่อความไม่สงบ และการออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านอำนาจของ คสช.จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งกว่านี้ ถ้าวันใดศาลพิพากษาและผลที่ตัดสินออกมาปรากฏว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความผิด และหาทางหลบหนีออกนอกประเทศไม่ได้ วันนั้นอาจมีกระบวนการโต้แย้ง และก่อความไม่สงบมากขึ้น ทั้งนี้อนุมานได้โดยอาศัยตรรกะในทางการเมืองดังนี้

1. ถ้าพิจารณาจากกระแสเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ดังขึ้น ทั้งจากนักวิชาการในประเทศ และจากวงการทูตนอกประเทศ โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตยนั้น ถ้าดูให้ลึกลงไปก็น่าจะมีเลศนัยคือ ต้องการเบิกทางให้มีการชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาลชุดนี้ โดยอ้างมิได้มาจากการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้แล้วการปกครองในขณะนี้มิได้ก่อความเดือดร้อนใดๆ แก่ประชาชนโดยรวมแต่อย่างใด ยกเว้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความคิด และกำลังจะได้รับโทษจากการกระทำผิดนั้น

2. ในความเป็นจริง ประเทศต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ก็มิได้รับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงอันเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ก่อขึ้น และที่สำคัญกว่านี้ประเทศที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ส่วนหนึ่งหรืออาจทั้งหมด อาจถูกครอบงำด้วยข้อมูลที่ผิดๆ หรือไม่ก็มีผลประโยชน์แอบแฝงร่วมกับผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาอยู่ในขณะนี้ก็เป็นได้

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้ ผู้เขียนเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องใดๆ ที่จะทำให้ประเทศกลับไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง และทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา และล้าหลังคู่แข่งขันทางด้านการค้า เพราะปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองเพียงเพื่อให้ต่างประเทศยกย่องว่าเป็นประชาธิปไตย
กำลังโหลดความคิดเห็น