ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มได้ยินเสียงนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุออกมาให้ได้ยินถี่ขึ้น ชัดเจนขึ้นว่า จะมีการเลือกตั้งปลายปีนี้หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปีหน้า (59) ขณะเดียวกัน ยังพูดออกมาให้มีความหมายเข้าใจได้ว่า ตัวเขาจะ"กลับบ้าน" ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวาย หรือสถานการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
คำพูดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยืนยันชัดครั้งแรกระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่คราวนั้นได้"ห้อยติ่ง" เอาไว้ว่า หากจำเป็น "กองทัพ" ก็อาจจะเข้ามารัฐประหารอีก ซึ่งในตอนนั้นผู้นำกองทัพจะเป็นใครก็ยังไม่รู้ แต่การรัฐประหาร"อาจจะเกิดขึ้นอีก"
แน่นอนว่าต้นตอของการพูดในลักษณะแบบนี้ มันน่าจะมีที่มาที่ไป อย่างน้อยเท่าที่ประเมินสถานการณ์พบว่า เป็นช่วงที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มเผชิญกับแรงกดดันรอบข้างมากขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ
ในประเทศกำลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูป ที่กำลังเดินมาถึงจุดสำคัญเริ่มมีผลกระทบกับบางกลุ่ม หรือหลายกลุ่ม ก็เริ่มมีกระแสต่อต้าน หรือหวงแหนอำนาจไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบในวงกว้าง และที่สำคัญจะมีการกำหนดกติกา ห้ามพวกที่ทุจริตเข้าสู่สนามการเมืองตลอดชีวิต แม้ว่ามองในภาพรวมผลดี ย่อมน่าสนับสนุน
แต่ก็นั่นแหละพวกคนโกงมันมีเครือข่ายที่ใหญ่โตกว้างขวาง คงยอมไม่ได้ที่ตัวเองจะสูญเสียอำนาจ เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นทางลัดและการลงทุนที่ได้ผลที่สุดในการสร้างความร่ำรวย และต่อยอดอำนาจให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันปัจจัยภายในที่ชี้ขาดสำคัญที่สุดก็คือ "เรื่องปากท้อง" เรื่องเศรษฐกิจ ราคาสินค้าการเกษตรกำลังกลายเป็นเรื่องที่กดดันอย่างหนักมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจนบัดนี้บรรดาราคาสินค้าจำเป็นยังสูง ขณะที่รายได้กลับไม่เพิ่มหรือลดลงด้วยซ้ำ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรแทบทุกตัว ยังไม่กระเตื้องเท่าใดนัก อย่างหลังนี่แหละจะกลายเป็นแรงกดดันมหาศาลในช่วงปลายของรัฐบาล ซึ่งหากยังไม่เข้าเป้า มันก็จะส่งผลต่อพลังการสนับสนุนรัฐบาลให้ลดน้อยถอยลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.จะไม่มีหลังพิงอีกต่อไป
นอกจากนี้ผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาอีกดอกหนึ่ง ที่บางทีอาจคาดไม่ถึงก็คือ "ข้าราชการเกียร์ว่าง" ที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาจากคำพูด "ถอยฉาก" ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองที่บอกว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า และเมื่อได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ตัวเองก็จะกลับไปอยู่บ้าน
พูดแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่บรรดาข้าราชการที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า "โคตรเขี้ยว" ได้ยินก็ต้องนิ่งเพื่อ "รอนายใหม่" ที่เข้ามาในอีกแค่ไม่กี่เดือนข้างหน้าเท่านั้น
ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่ส่วนหนึ่งทำให้ผลงานของรัฐบาลยังออกมาไม่เต็มศักยภาพ สาเหตุหนึ่งก็อาจจะมาจากพวก "เกียร์ว่าง" นี่แหละ เพราะต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา "ระบอบทักษิณ" หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่อยู่ภายใต้การบงการของ ทักษิณ ชินวัตร ได้สร้างเครือข่ายข้าราชการเอาไว้รับใช้มานานต่อเนื่อง ดังวลี "ได้ดีเพราะพี่ให้" ซึ่งมีอยู่ทุกวงการทั้ง ตำรวจ พลเรือน ไม่เว้นแม้แต่ในกองทัพ ที่มี "ทหารแตงโม" คนพวกนี้รอจังหวะที่จะกลับมา หรือเวลาก็แกล้งรับใช้ให้ตายใจ หรือเพียงเพื่อไม่ให้กระทบต่อตำแหน่งที่เป็นอยู่เท่านั้น นั่นเป็นปัจจัยภายใน
ส่วนปัจจัยภายนอก ที่กำลังกดดันเข้ามาอย่างหนัก ซึ่งแน่นอนว่าต้องแฝงมาด้วยผลประโยชน์ข้ามชาติ ที่มักอ้างเอาเรื่องเผด็จการ-ประชาธิปไตยบังหน้า เหมือนอย่างเวลานี้กำลังกดดันให้รัฐบาล และคสช. คืนอำนาจให้ประชาชน มีการเลือกตั้ง หรือยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะถ้าใช้การเลือกตั้ง ใช้ประชาธิปไตยเป็นหลักการหลัก เชื่อว่า สหรัฐฯ และประเทศตะวันตก ก็คงไม่มีทางคบค้ากับประเทศใดได้ เพราะเวลานี้มีหลายประเทศก็ไม่เห็นเป็นประชาธิปไตย ไม่มีการเลือกตั้ง ไล่ไปตั้งแต่ซาอุฯ จอร์แดน แทบทุกประเทศในตะวันออกกลาง หรือใกล้บ้านเราในอาเซียน ตั้งแต่ ลาว เวียดนาม หรือแม้แต่พม่า ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อยตรงไหน แล้วจีนล่ะ ทำไมโอบามา ไม่เรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชนบ้าง ก็เห็นมีแต่ผลประโยชน์ทั้งนั้น
เหมือนกับในประเทศไทยที่กำลังมีการจับตามองกันว่า บรรดาบริษัทพลังงานข้ามชาติ เช่น เชฟรอน จะได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ คือรอบที่ 21 ที่มีกำหนดวันพิจารณากันในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ บริษัทข้ามชาติตะวันตกเหล่านี้จะได้รับไปหรือเปล่า เมื่อได้แล้วจะเงียบไปหรือเปล่า หรือเมื่อมีการยืนยันเป็นมั่นเหมาะแล้วว่า ผลประโยชน์ในประเทศไทย จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างก็จะปล่อยเลยตามเลยหรือเปล่า
ดังนั้นความเคลื่อนไหวในเวลานี้มันเหมือนกับว่ากำลังมี"การต่อรอง"กันบางอย่าง ที่ต้องเร่งกดดันกันอย่างหนัก ขณะเดียวกันสำหรับ คสช.(บางคน) โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนกับเริ่มมองเห็นอนาคตข้างหน้า เตรียมถอยฉากแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เจ็บตัวน้อยที่สุดหรือเปล่า เพราะถ้าพิจารณาจากแนวทางปฏิรูป ที่เชื่อว่าในที่สุดคงทำได้ใน"วงจำกัด" หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงต้องปล่อยมือปล่อยไปตามยถากรรมต่อไป
อีกไม่กี่วันก็น่าจะพอมองเห็นสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นแล้ว !!