xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 คนที่ต้องหยุดและฟังคือ ประยุทธ์ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

กลายเป็นเรื่องน่าแปลกใจกันแบบไม่น่าเชื่อกับมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ลงมติเสียงข้างมากอย่างท่วมท้น คว่ำข้อเสนอของ คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ต้องการให้เดินหน้าเปิดสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพื่อศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ เพราะหากเร่งรีบจะทำให้เราต้องผูกมัดในเรื่องการสำรวจและผลิตปิโลเลียมไปไม่น้อยกว่า 38 ปี โดยตามขั้นตอน สปช.จะส่งมติและความคิดเห็นดังกล่าวไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทบทวน

อย่างไรก็ดีท่าทีที่เกิดขึ้นก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับไม่ฟัง และสั่งให้เดินหน้าเปิดสัมปทานฯไปตามกำหนดการเดิม นั่นคือราวเดือนกุมภาพันธ์ก็จะได้ข้อสรุป หลังจากเปิดโอกาสให้กับบริษัทพลังงานเข้ามายื่นข้อเสนอตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ ในช่วงหลายเดือนก่อน ก่อนมีการรัฐประหารโดย คณะรักษาควาสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นต้นมากระแสสังคมเริ่มตื่นตัวเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบพลังงานของชาติเสียใหม่ หลายคนเป็นหัวหอกในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเสียใหม่จากการให้สัมปทาน มาเป็นแบบแบ่งปันผลผลิต อย่างที่หลายประเทศเริ่มเปลี่ยนหันมาใช้วิธีแบบนี้กันแล้ว เนื่องจากเห็นว่ามีความเป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของพลังงานตัวจริงมากกว่า ซึ่งกระแสแบบนี้เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเข้ายึดอำนาจกระแสเรียกร้องแบบนี้ก็ยังไม่หยุด กลับยิ่งแรงขึ้นโดยเฉพาะความคิดเห็นผ่านทางโลกโซเชียลฯ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ต้องออกมาลดกระแสดังกล่าวด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ด้านพลังงานจึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อไปคัดเลือกบุคคลและรวบรวมความเห็นมาก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาในสภา

แน่นอนว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด ล้วนมาจากข้าราชการในกระทรวงพลังงาน รวมทั้งนักวิชาการด้านพลังงานที่เคยเป็นผู้บริหารในบริษัทพลังงาน มีบทบาทชี้นำมานาน ซึ่งคนพวกนี้ถูกมองว่ามีความคิดไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลและกระทรวงพลังงานคือการเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่คือรอบ ที่ 21 ดังนั้นการคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน ขึ้นมาก็เพียงเพื่อ"สร้างภาพ"ให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่

ซึ่งที่ผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เรียกร้องให้ทุกคนหยุดฟังผลสรุปจาก สปช.ออกมาก่อน รวมทั้งยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่มีข้อมูลและความเห็นต่างให้เสนอความเห็นเข้ามาได้ อย่าไปเคลื่อนไหวข้างนอก

แต่อนิจจา เมื่อ สปช.ลงมติด้วยเสียงข้างมากท่วมท้นคือ 130 ต่อ 79 ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้วเสนอให้รัฐบาลทบทวน แต่กลายเป็นว่าคนที่"ไม่ฟัง"ก็คือรัฐบาล โดยรัฐบาลอ้างว่า ฝ่ายสปช.ที่ลงมติคัดค้านดังกล่าวเป็นเพราะได่รับข้อมูลมาไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันหากระงับการเปิดให้สัมปทานจะทำให้เกิดผลเสียต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน จึงต้องเดินหน้าต่อ พร้อมทั้งห้ามปรามไม่ให้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเป็นอันขาด

เมื่อรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีท่าทีแบบนี้คือเดินหน้าโดยไม่ยอมฟังเสียงทักท้วง สิ่งที่ทำได้ก็คือให้กระทรวงพลังงานทำหน้าที่ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานต่อไปเท่านั้น ความหมายก็คือไม่หยุดและอย่ามาขวาง

สิ่งที่มองเห็นก็คือ เมื่อรัฐบาลเดินหน้าทั้งที่มติของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติคัดค้านอย่างท่วมท้นแบบนี้ เท่ากับว่าผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ไม่เคยฟังความเห็นต่าง ไม่ว่าจะมีข้อมูลนำมาเสนอแบบไหนก็ตาม ลักษณะจึงไม่ต่างจากปาหี่ ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพียงเพื่อสร้างภาพให้เห็นว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลาย และที่สำคัญก็คือนี่คือรายการ"ผิดคิว"ที่ สปช.ลงมติแหกโผออกมาแบบปาฏิหาริย์ ชนิดที่เรียกว่า รัฐบาลไม่คาดคิดมาก่อน

ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตากันต่อไปว่าในที่สุดแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำอย่างไร จะเดินหน้าตามที่ประกาศเอาไว้ หรือว่าทบทวนให้รอศึกษารายละเอียด ทำตามมติเสียงส่วนใหญ่ของ สปช.หรือไม่ หากเดินหน้ารับรองว่าสุ่มเสี่ยงต่อความศรัทธาที่จะต้องลดทอนลงไป เพราะช่วยไม่ได้ที่สังคมจะมองด้วยความหวาดระแวงว่าเป็นการรักษาผลประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าตราบใดที่รัฐบาลเกิดวิกฤตศรัทธา มันก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น