xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียม-นำเข้าปาล์มน้ำมัน อย่าท้าทายของร้อน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

อาจจะเป็นเพราะเส้นทางเริ่มแคบ เวลารออีกไม่ได้แล้ว ทำให้ต้องตัดสินใจในเรื่องอ่อนไหวเสียที หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะหากพิจารณากันเฉพาะสองเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือ เรื่องไฟเขียวเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้กับบริษัทพลังงานทั้งไทยและข้ามชาติเข้ามาสำรวจและผลิต ซึ่งตามกำหนดการเดิมกำหนดเอาไว้ว่าจะคัดเลือกและอนุมัติได้ในราวเดือนกุมภาพันธ์

ส่วนอีกเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นแต่ก็เรียกเสียงค้านได้ไม่เบานั่นก็คือ การอนุมัติให้น้ำเข้าปาล์มน้ำมันจำนวน 5 หมื่นตัน โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการขาดแคลนภายในประเทศ

แน่นอนว่าทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวพันกับผลประโยชน์มากมาย เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะเดียวกันเลี่ยงไม่ได้ก็คือผลจากเรื่องดังกล่าวยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของผู้นำ ทั้งในฐานะรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยรวมอีกด้วย

สำหรับเรื่องแรกคือเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ถือว่า"คาดไม่ถึง"ทั้งในกรณีที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติด้วย “เสียงท่วมท้น” 130 ต่อ 79 ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ต้องการให้มีการเปิดสัมปทานฯ ซึ่งมติดังกล่าวที่ออกมาเรียกว่าชนะขาด ไม่ใช่แค่สูสีห่างกันไม่กี่เสียง เมื่อเป็นแบบนี้แทนที่รัฐบาลจะรับฟัง และนำไปพิจารณาศึกษาต่อ แต่กลายเป็นว่า ไม่สนใจ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวย้ำทันทีว่านั่นเป็นเพียงมติของ สปช. แต่อำนาจในการตัดสินใจอยู่กระทรวงพลังงานที่จะต้องดำเนินการไปตามกำหนด โดยอ้างความเสี่ยงด้านพลังงานในอนาคต ขณะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาสำทับตามมาว่า ต้องเดินหน้า เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการลงทุน โดยจากนี้ไปจะให้กระทรวงพลังงานเร่งชี้แจงกับประชาชนต่อไป ความหมายก็คือ “เดินหน้า” พร้อมทั้งระบุว่าฝ่ายที่ต่อต้านเป็นพวกที่รับฟังข้อมูลมาผิดๆ ขณะเดียวกันยังส่งเสียง"เตือนแบบเข้ม"ออกมาอีกว่า “ห้ามเคลื่อนไหวเป็นอันขาด”

สิ่งที่ตัองพิจารณากัน ก็คือ ได้เกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปพลังงาน” ของชาติกันใหม่ทั้งระบบอย่างโปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมกับประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง แทนที่จะปล่อยให้มีการผูกขาดอยู่กับกลุ่มทุนพลังงานเพียงกลุ่มเดียว โดยสมคบกับข้าราชการและนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น และชาวบ้านที่รูัทันมองว่า “ระบบการให้สัมปทาน” อย่างที่เป็นอยู่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยมีการนำเอาระบบ “แบ่งปันผลผลิต” ที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศมาพิจารณาด้วย เพื่อรักษาผลประโชน์ของชาติและประชาชนส่วนใหญ่ที่จะต้องบริโภคพลังงาน “ในราคาที่เป็นธรรม” และที่สำคัญระบบสัมปทานดังกล่าวนี้ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปที่ชาวบ้านต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการอนุมัติสัมปทานรอบใหม่ก็จะมอบสิทธิให้กับบริษัทเอกชนไปนานไม่น้อยกว่า 30 ปี ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบและรอบด้านเป็นครั้งแรก

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับ “ผิดคำพูด” ของตัวเองที่เคยให้ไว้ เมื่อปีที่แล้วหลังจากมีการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าให้รอผลศึกษาและข้อสรุปจากสภาปฏิรูปฯ และระหว่างนั้นใครมีข้อคิดเห็นข้อมูลก็ให้เสนอความเห็นกันไปได้อย่างเต็ม อย่าไปเคลื่อนไหวข้างนอก ซึ่งท่าทีแบบนี้ถือว่ากลับตาลปัตร

ส่วนอีกเรื่องที่น่าจับตาไม่แพ้กันก็คือกรณีที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัตรให้มีการน้ำเข้า “น้ำมันปาล์มดิบ” จำนวน 5 หมื่นตัน อ้างว่า เพื่อป้องกันการขาดแคลนภายในประเทศ คาดว่าจะนำเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อให้เกิดความวิตกให้กับชาวสวนปาล์มทั่วประเทศและเรียกร้องให้ทบทวน เนื่องจากจะทำให้ราคาตกต่ำ

ปรากฏการณ์เรื่องการนำเข้าน้ำมันปาล์มแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 56 ในสมัยที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯด้านความมั่นคงและเป็นประธาน กนป. แบบเดียวกัน ในตอนนั้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขาดตลาดและมีราคาแพง จนต้องมีการปันส่วน สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน มีข้อครหาตามมาว่าสาเหตุเป็นเพราะมีการกักตุนเก็งกำไรของกลุ่มการเมืองที่ผลประโยชน์จากธุรกิจปาล์มน้ำมัน ส่วนคราวนี้จะเกิดเหตุซ้ำรอยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ชวนติดตาม แต่แน่นอนว่าหากมีการนำเข้าก็จะสร้างความไม่พอใจกับเกษตรกรทั่วประเทศที่เตรียมเคลื่อนไหวคัดค้าน

ดังนั้น เมื่อนำสองเรื่องมาบวกกัน มันก็ยิ่งเพิ่มความไม่พอใจสะสม เพราะทั้งสองเรื่องล้วนเป็นเรื่องอ่อนไหว กระทบกับประโยชน์ของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่กระแสเรียกร้องเริ่มขยายวงและดังขึ้นทุกที และคนกลุ่มนี้เคยยืนหยัดเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หากรัฐบาล และ คสช. ยังเดินหน้าโดยไม่ทบทวนยอมทำตามมติของ สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาหาข้อสรุปเรื่องพลังงาน มันก็ยิ่งทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย และที่สำคัญนี่คือของร้อน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น