xs
xsm
sm
md
lg

ค่ายมือถือลองของกสทช. เล่นเล่ห์โปรโมชันวินาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ 3 ค่ายโทรศัพท์มือถือ ออกโปรโมชันค่าโทรเป็นวินาที ทางกรรมาธิการได้ศึกษาและวิเคราะห์เปรียบเทียบทั้ง 3 เจ้า พบว่าค่าบริการไม่ได้ถูกลงตามข้อเรียกร้อง แต่กลับแพงขึ้นกว่าเดิมถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ไม่ทราบว่าเป็นการลองของกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือไม่ ซึ่งกสทช.จะต้องเร่งออกประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค
น.ส.สารี ได้ยกตัวอย่าง ค่ายเอไอเอส เดิมออกโปรโมชัน iSmart ค่าโทรอยู่ที่ 2.66 บาทต่อนาที ออกโปรโมชั่นใหม่ iSecond ค่าโทรอยู่ที่ 4.31 บาทต่อนาที แพงขึ้นถึง 62 เปอร์เซ็นต์ ส่วนของดีแทค แบบเติมเงิน เดิมออกโปรโมชัน แฮปปี้ 55 ฟีเวอร์ ค่าโทร 55 สตางค์ต่อนาที ออกโปรโมชั่นใหม่ แฮปปี้ทุกวินาที ค่าโทร 90 สตางค์ต่อนาที แพงขึ้น 63.64 เปอร์เซ็นต์ เป็นการออกโปรโมชันที่มีอัตราค่าบริการแพงขึ้น รวมทั้งสิทธิประโยชน์ลดลง ซึ่งเดิมระบบ 2G ทางกสทช.ได้กำหนดราคาชั้นสูงไว้เพียง 99 สตางค์ ต่อนาทีเท่านั้น นอกจากนี้โปรโมชันที่ออกมายังมีความซับซ้อน ยากที่ผู้บริโภคจะเข้าใจ ซึ่งเป็นนโยบายเพื่อให้เกิดความสับสน และยังคงเอาเปรียบผู้บริโภคเหมือนเดิม
"เรื่องนี้ไม่เกินความคาดหมายของสปช. ที่เคยแจ้ง กสทช. ว่าข้อมูลการปฏิรูปการคิดค่าโทรศัพท์ตามที่ใช้งานจริงห้ามปัดเศษวินาทีเป็นนาที ในการใช้โทรศัพท์แต่ละครั้ง และข้อเท็จจริงขณะนี้ก็ปรากฏชัดแล้วว่า หาก กสทช.ไม่เร่งออกหลักเกณฑ์มากำกับดูแลการคิดค่าโทรศัพท์ให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการอย่างจริงจัง ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น และ กสทช. ควรรวมเรื่องการคิดคาโทรศัพท์เป็นวินาทีเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในประกาศ "การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โอยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณา อันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ..." ซึ่งจะจัดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 12 มี.ค. นี้ด้วย"
น.ส.สารี กล่าวว่า นอกจากนี้ สปช. ที่ดูแลด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล กำลังพิจารณา พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อปรับปรุงกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน และเสนอให้ กสทช.ใช้มาตรการป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค ห้ามผู้ประกอบการคิดค่าบริการในส่วนที่ผู้บริโภคไม่ได้มีการใช้งานจริง ทั้งในส่วนที่เป็นค่าโทรศัพท์ และค่าบริการอินเตอร์เน็ต เพราะการคิดค่าบริการโดยปัดเศษการใช้งานอย่างเป็นอยู่ในปัจจุบัน เข้าข่ายเป็นการค้ากำไรเกินควร
กำลังโหลดความคิดเห็น