โฆษกวิป สปช.เผยประธาน สปช.จี้ กมธ.ทุกด้านเร่งงานปฏิรูป สั่งกำหนดกรอบแนวทางใหญ่ใน 27 ก.พ. และเสนอวิธีการทำใน 10 เม.ย. เรื่องไหนยกร่าง กม. ให้ชง 31 ก.ค. คาดเมษาฯ เริ่มเห็นผลงาน นัดถกจันทร์หน้าเรื่ององค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค “สารี” หวังช่วยประชาชนมากขึ้น
วันนี้ (28 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกรรมาธิการประสานงานกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างประธานกรรมาธิการปฏิรูป 18 คณะ และประธานกรรมาธิการอื่นๆ อีก 5 คณะว่า เบื้องต้นนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เห็นว่าขณะนี้ระยะเวลาทำงานกระชั้นชิดเข้ามาแล้ว เหลือระยะเวลาทำงาน 6-9 เดือน จึงจำเป็นที่คณะกรรมาธิการแต่ละด้านต้องเร่งการปฏิรูป โดยประธานได้มีนโยบายชัดเจนที่จะประสานกับแม่น้ำอีก 4 สาย คือ คสช., สนช., ครม. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิรูปด้านต่างๆ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม โดยเบื้องต้นมีการกำหนดวาระการปฏิรูปและแนวทางการจัดการเป็น 2 แนวทาง คือ 1. ในส่วนของการปฏิรูปได้สรุปกรอบการปฏิรูปเรื่องใหญ่ที่สำคัญรวม 36 เรื่อง และเรื่องที่เป็นวาระที่ต้องพัฒนาต่อไปให้เกิดความยั่งยืน แม้จะพ้นช่วงเวลาการทำงานของ สปช.ไปแล้วก็ตามอีก 7 วาระ นายเทียนฉายได้กำหนดให้กรรมาธิการทั้ง 18 คณะไปกำหนดกรอบ หลักการ และแนวทางการปฏิรูปดังกล่าวเสนอมายังประธาน สปช.ภายในวันที่ 27 ก.พ. และให้กำหนดวิธีการและกระบวนการในการปฏิรูปทั้งหมด โดยให้เสนอมาภายในวันที่ 10 เม.ย. ส่วนถ้าเรื่องใดจะต้องมีการยกร่างเป็นกฎหมายก็ให้เสนอร่างกฎหมายมายังประธานภายใน 31 ก.ค. จากกรอบเวลาดังกล่าวเมื่อมีการดำเนินการแล้วก็จะเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ครม., สนช. และจะเห็นได้ว่าภายในเดือนเมษายนจะต้องมีผลงานออกมาให้ประชาชนเห็นเป็นที่ประจักษ์และเป็นรูปธรรมชัดเจน
นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับการประชุมเพื่อกำหนดวาระการประชุม สปช.นั้น ที่ประชุมได้กำหนดให้การประชุม สปช. วันที่ 2 ก.พ. มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ..... ที่เสนอโดยกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวค้างการพิจารณามาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว และมีวาระให้สมาชิกเปิดอภิปรายทั่วไปในเรื่องทำอย่างไรที่จะให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงรวดเร็ว ส่วนการประชุมวันที่ 3 ก.พ. จะเป็นวาระการอภิปรายทั่วไปในประเด็นทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เที่ยงธรรม
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในหลายประเด็นหากผ่านการพิจารณาของ สปช. และ สนช.ก็จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการคุ้มครองได้มากขึ้นและยังให้เกิดการทำงานเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นด้วย เช่น กรณีการคิดค่าบริการโทรศัพท์มือถือ หากมีองค์กรดังกล่าวก็จะสามารถช่วยผู้บริโภคได้มากกว่านี้ ขณะเดียวกัน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับก็จะช่วยลดการฟ้องร้องต่อรัฐให้น้อยลงด้วย