xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดบันทึกคดีประวัติศาสตร์! ฎีกายกฟ้อง นสพ.ผู้จัดการ หมิ่นจนท.ป่าไม้ รุกป่า-พันยกพวกถล่มเวที“สนธิ ลิ้มทองกุล”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพเหตุการณ์ ที่ สวนลุมพินี  ในวันที่มีการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์  และมีกลุ่มคนเข้าไปก่อกวน  ปาประทัดยักษ์  จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่ง ที่เกี่ยวพันกับความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องยาวนานร่วม 10 ปี จนถึงปัจจุบัน กรณีที่นายเก่งกาจ ศรีหาสาร อดีตหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำแม่สลอง กรมป่าไม้ (ปี 2532) ที่ถูกล้อมจับได้คาเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ซึ่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้ง นสพ.ผู้จัดการ จัดขึ้นเมื่อ 20 ม.ค.2549

เวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร เป็นเวทีที่มีการเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ ก่อนที่จะเป็นพรรคพลังประชาชน (ยุคนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี) และพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ

เป็นเวทีฯที่ถือเป็นเทียนเล่มแรก ที่ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนจะรวมตัวเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่เดินหน้าประท้วงรัฐบาลนอมินีมาอย่างต่อเนื่อง

ในห้วงก่อนถึงวันที่ 20 ม.ค.2549 หนังสือพิมพ์-เว็บไซต์ในเครือ “ผู้จัดการ” ได้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวการระดมอาสาสมัครตำรวจบ้าน-เสือไฟ จากหลายจังหวัดในภาคเหนือ ไปรวมพลกันที่เขาใหญ่ เฉพาะส่วนของเชียงใหม่ นัดหมายรวมตัวกันที่ร้านข้าวแกงพิษณุโลก หน้าศาลากลางจังหวัดฯ ก่อนขึ้นรถบัส-รถกระบะของหน่วยงานในเครือข่ายป่าไม้ มุ่งหน้าไปสมทบกับกำลังพลจังหวัดอื่น ๆ ที่กรุงเทพฯ เพื่อต่อต้านมวลชนที่เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย (ขณะนั้น)

และระหว่างที่มีการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรอยู่นั้น ก็มีกลุ่มคนบุกเข้าไปปาประทัดยักษ์ใส่ผู้เข้าร่วมเวที รวมทั้งเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้บาดเจ็บกันหลายคน

หลังเกิดเหตุได้มีการควบคุมตัวนายเก่งกาจ ได้ แต่ไม่มีพยานยืนยัน จึงมีการปล่อยตัวไป

นอกจากนี้ยังมีการจับกุมนายสุทิพย์ ณรงค์ ขณะนั้นอายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 120 ม.1 ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่เป็นอาสาสมัครตำรวจบ้านอยู่ด้วย แต่นายสุทิพย์ ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นคนจุดประทัดยักษ์ เพียงแต่มารอญาติที่นัดพบกันที่สวนลุมฯเท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี พิจารณาเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 100 บาท ก่อนปล่อยตัวไป

ขณะเดียวกัน “นสพ.ผู้จัดการรายวัน” ยังได้ตรวจสอบพบว่า มีข้าราชการป่าไม้จังหวัดเชียงราย (ในขณะนั้น) มีส่วนพัวพันกับปัญหาการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่าในโครงการพระราชดำริ และออกโฉนดที่ดินทับพื้นที่ปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง จ.เชียงราย

ทำให้นายเก่งกาจ ยื่นฟ้องบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของ นสพ.ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอีก 5 คน คือ นายขุนทอง ลอเสรีวานิช , นายสุวัฒน์ ทองธนากุล , นายมรุธัช รัตนปรารมย์ , นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ และนายวิรัตน์ แสงทองคำ ฐานหมิ่นประมาท ความผิดต่อ พ.ร.บ.การพิมพ์

และล่าสุดเมื่อ 17 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดเชียงราย ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ 1211/2557 ความอาญา ในคดีดังกล่าว ที่โจทก์ (นายเก่งกาจ ศรีหาสาร) ระบุว่า ร่วมกันตีพิมพ์เนื้อหาทำนองว่า โจทก์(นายเก่งกาจ) กับข้าราชการกรมป่าไม้ อาศัยอำนาจหน้าที่ ตัดไม้ทำลายป่าในโครงการพระราชดำริ ออกโฉนดที่ดินทับพื้นที่ปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง จ.เชียงราย เป็นการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และการควบคุมป่าไม้

พร้อมระบุว่า โจทก์(นายเก่งกาจ) เป็นผู้ชี้แนวเขตให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดทับพื้นที่แปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง และเป็นผู้นำเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯมาก่อกวน มีการจุดประทัดขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนที่เข้าฟังนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ได้รับบาดเจ็บ

นายเก่งกาจ ยื่นฟ้องว่า การเสนอข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น การตีพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ข่าวสารของจำเลยทั้ง 6 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง เกียรติยศ ครอบครัว วงศ์ตระกูล และตำแหน่งหน้าที่ราชการ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร

โดยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50, 83, 326, 328, 332 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48, 49 ห้ามจำเลยทั้งหกประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันมีกำหนด 5 ครั้ง คนละวันกันโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งหก ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤศจิกายน 2550

ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 - 6 ไม่มีมูล ให้ประทับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6

อย่างไรก็ตามในข้อหาตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 48, 49 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลขั้นต้นพิจารณา และพิพากษายกฟ้อง
แต่โจทย์(นายเก่งกาจ) ได้ยื่นอุทธรณ์

ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 100,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาย่อพอได้ใจความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มีกำหนด 5 ครั้ง คนละวันกัน โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 (นสพ.ผู้จัดการ) ได้ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมที่ปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อปี 2532 โจทก์รับราชการสังกัดกรมป่าไม้ ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำแม่สลอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มีวัตถุประสงค์ประกอบกับกิจการออกหนังสือพิมพ์จำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์และโฆษณา

ตามวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการายวัน ลงพิมพ์ข้อความวางจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป มีข้อความตามหนังสือพิมพ์ (หมาย จ .6) ว่า “ฟังผลสอบทุจริตป่าต้นน้ำแม่สะลอง เฉลิมศักดิ์ ยังมีคำสั่ง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีข้าราชการกรมป่าไม้อาศัยอำนาจหน้าที่ตัดไม้ทำลายป่าในโครงการตามพระราชดำริเป็นพันไร่ โดยการใช้วิธีออกโฉนดทับพื้นที่ปลูกป่า ของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง จ.เชียงราย ชุดใหม่ แทนที่จะตั้งกรรมการตรวจสอบชุดเดิมที่ถูกยุบทิ้งไปกลับมาสอบใหม่ เพราะการสอบสวนเกือบเสร็จแล้ว ขาดแต่เพียงการพิสูจนแผนที่เท่านั้น ก็มาถูกยุบเสียก่อน

กรณีนี้มีมูลเหตุจากการที่มีการจับไม้เถื่อนในบริเวณพื้นที่ปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง กองอำนวยการร่วมป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และควบคุมไฟป่า จึงทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนจนได้ความว่า

“มีข้าราชการกรมป่าไม้เดิมกลุ่มหนึ่ง อาศัยอำนาจหน้าที่ตัดไม้ทำลายป่าในโครงการตามพระราชดำริ เป็นพัน ๆ ไร่ โดยการใช้วิธีออกโฉนดทับพื้นที่ปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่านอกเขตสงวน ไม่มีเอกสารสิทธิ เมื่อมีการออกโฉนดทับที่ป่าแล้ว บริษัทนายทุนผู้ซื้อที่ป่าของรัฐ ก็ขออนุญาตตัดไม้ในพื้นที่สวนป่าทั้งแปลง

การตัดไม้ทำลายป่าของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายประมาณ 3,000 ไร่ เฉพาะบริเวณต้นน้ำแม่สะลอง ข้าราชการของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหัวหน้าจัดการต้นน้ำแม่สลอง ในขณะนั้น คือ นายเก่งกาจ ศรีหาสาร โดยเป็นผู้ชี้แนวเขตให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดทับพื้นที่แปลงปลูกป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สะลอง ผู้อนุมัติให้ตัดไม้ตามที่บริษัทนายทุนขอ คือนายดำรงค์ พิเดช ขณะนั้นมีตำแหน่งป่าไม้จังหวัดเชียงราย เมื่อนายดำรงค์ เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯได้สั่งยุบกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และควบคุมไฟป่าทันที โดยสั่งย้ายข้าราชการระดับบริหารอย่างไม่เป็นธรรม นับร้อยคน เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนนี้ยุติลง

นายดำรงค์ มีความก้าวหน้าในราชการอย่างรวดเร็ว ในยุคที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ข้ามหัวข้าราชการ ที่มีอาวุโสสูงกว่าเป็นจำนวนมาก ส่วนนายเก่งกาจ ได้เป็นข้าราชการ ซี 8 ภายใน 5 เดือน และเป็นผู้นำเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯมาก่อกวนการจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่สวนลุมพินี ซึ่งมีการจุดปะทัดขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนที่เข้าฟังรายการได้รับบาดเจ็บ”

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำหรือไม่

โจทก์(นายเก่งกาจ) เบิกความว่า ระหว่างปี 2532 -2538 โจทก์เป็นหัวหน้าหน่วยปรับปรุงต้นน้ำแม่สลอง ไม่เคยนำเจ้าพนักงานที่ดิน ชี้แนวเขตออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง และไม่เคยตัดไม้ทำลายป่า วันที่ 20 ม.ค.2549 ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ปราศรัยในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์บริเวณสวนลุมพินี มีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เข้าไปก่อกวนและจุดประทัด โจทก์ไม่ได้นำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปก่อกวนดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 21 ม.ค.2549 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ปราศรัยในรายการเมืองรายสัปดาห์ ที่วัดตะพงนอก จ.ระยอง ว่า โจกท์นำเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปก่อกวนการปราศรัยที่สวนลุมพินี

และเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า หนังสือพิมพ์หลายฉบับวันที่ 21 ม.ค.2549 ลงข่าวว่า เจ้าพนักงานตำรวจ นำตัวคนที่สร้างความปั่นป่วนด้วยการจุดประทัดในการปราศัยของนายสนธิ ที่สวนลุมพินีคือนายสุทิพย์ ณรงค์ (อาสาสมัครตำรวจบ้านในขณะนั้น) กับโจทก์ (ตามสำเนาหนังสือพิมพ์เอกสารหมายล.4 ถึง ล.6 )

ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 2 เบิกความว่า การทำข่าวออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีเอกสารสอบสวนของกองอำนวยการการร่วมป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรและควรคุมไฟป่าภาคเหนือซึ่งสรุปว่า “มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตามรายงานกรณีตรวจสอบข้อเท็จจริง (เอกสารหมายล.12)

นายวิทูรย์ อินทรอุดม นักวิชาการป่าไม้ระดับชำนาญการพิเศษ เบิกความว่า เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริต ออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง จัดทำรายงานสรุปว่า มีการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สะลองจริง

โดยบุคคลที่รับผิดชอบอยู่ในพื้นที่ช่วงปี 2532-2549 (ตามเอกสารหมายล.12) นางนภา คาโนวา เบิกความว่า เป็นหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง ระหว่างปี 2538-2545 และปี 2546-2548 เมื่อปี 2547 พบว่ามีการตัดไม้สักในพื้นที่สวนป่า ท่อนไม้มีตราประทับของเอกชน ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ 15 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา พยานตรวจสอบแล้วพบว่า มีผู้บุกรุกตัดไม้ในพื้นที่สวนป่าแปลงที่ปลูกปี 2523และมีการนำหลักมุดปักในพื้นที่ สวนป่าแปลงที่ปลูกปี 2532 ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายไปแจ้งความ (ตามเอกสารหมายล.12 หน้า 35 และ 36 )

นายวรวิทย์ เชื้อสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่ 15 จังหวัดเชียงราย เบิกความว่า ป่าต้นน้ำแม่สลอง มีพื้นที่ปลูกสวนป่า 13,000 ไร่ โดยงบประมาณของทางราชการ ตรวจสอบพบว่า มีการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง 49 แปลง เนื้อที่ 1,429 ไร่ (ตามเอกสารหมาย ล.12 หน้าที่ 46-50)

แต่เมื่อสอบสวนเสร็จและยังไม่มีการดำเนินคดีแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะกองอำนวยร่วมป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และควบคุมไฟป่าภาคเหนือ ถูกยุบไป พร้อมกับการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีของนายสุวิทย์ คุณกิติ ตามสำเนาบันทึกสรุปความเป็นมา และสำเนาบันทึกเรื่องการออกโฉนดทับซ้อนพื้นที่สวนป่า หน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง (เอกสารหมายเลข ล.12 หน้า 1-22 หรือเอกสารหมายเลข ล.7 และล.8)

นายพิชัย ถิระศุภศรี ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านการป้องกันและปราบปราม สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า เบิกความว่า ปี 2550 ได้รับตำแหน่งเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง ผลการสอบสวนพบว่า มีการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง ตั้งแต่ปี 2532 เรื่อยมา โจกท์(นายเก่งกาจ) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลองระหว่างปี 2532-2538 จึงต้องรับผิดชอบ ตามเอกสารประกอบการชี้แจงกรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เอกสารหมายเลข ปล.1 หน้า 111(5.3)

เห็นว่า กรณีการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลองเป็นข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น ทางราชการดำเนินการสอบสวนอย่างต่อเนื่องโดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงถึง 2 ชุด ๆแรกนายวรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนพบว่า มีการออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง 49 แปลง เนื้อที่ 1,429 ไร่ ชุดที่ 2 มีนายพิชัย เป็นประธานกรรมการสอบสวน พบว่าบุคคลที่ต้องรับผิดชอบคือ โจทก์(นายเก่งกาจ) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สลอง ช่วงเวลาที่มีการออกโฉนด ทับพื้นที่ป่าดังกล่าว ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริง การที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของฉบับวันที่ 8 พ.ย. 2550 เสนอข่าวดังกล่าวไม่ใช่เป็นการสร้างเรื่องขึ้นเอง แต่กระทำในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่เสนอข่าวสาร ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบ อันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริต ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็น วิสัยของประชาชนย่อมกระทำ

สำหรับการนำเสนอข่าวกรณีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 1 พันคน ก่อกวนการปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2549 ที่สวนลุมพินี ปรากฏว่า ต่อมาวันที่ 21 ม.ค. 2549 หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับเสนอข่าวดังกล่าว โดยอ้างความเป็นมาว่า มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ชุมนุมกันที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แล้วเดินทางมาที่สวนลุมพินี

ต่อมามีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 1 พันคน ก่อกวนการปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล มีประทัด ระเบิด ทำให้มีผู้ฟังคำปราศรัยได้รับบาดเจ็บ

กลุ่มผู้ฟังคำปราศรัยล้อมจับนายสุทิพย์ ณรงค์ กับโจกท์(นายเก่งกาจ) ไว้ได้ แล้วเจ้าพนักงานตำรวจ (สน.ลุมพินี) ควบคุมตัวบุคคลทั้ง 2 ไป เป็นการเสนอข่าวประกอบข่าวกรณีออกโฉนดทับพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สลอง เพราะโจกท์เกี่ยวข้องอยู่ด้วยทั้ง 2 กรณี

ทั้งนี้ ข่าวกรณีกลุ่มชายฉกรรจ์ก่อกวนการปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ไม่ใช่ข่าวที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน สร้างขึ้นมาเอง หนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นอีกหลายฉบับ เสนอข่าวดังกล่าว จึงเป็นการกระทำในฐานะสื่อมวลชน ซึ่งมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้ประชาชนทราบ อันเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ในด้านความสงบเรียบร้อย

ถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือ ข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใด อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 (นสพ.ผู้จัดการรายวัน) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น ไม่ต้องด้วยความคิดเห็นของศาลฏีกา

ฎีกาของจำเลยที่ 1 (นสพ.ผู้จัดการ) ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5




(แฟ้มภาพ) การเสนอข่าวจนท.ป่าไม้เชียงรายลอบตัดไม้และออกโฉนด พื้นที่ป่าต้นน้ำอ่างเก็บน้ำโครงการพระราชดำริฯ แม่เปิน( ป่าต้นน้ำแม่สลอง )   ต.ป่าตึง และ ต.ป่าซาง อ.แม่จัน  ซึ่งนำมาสู่การฟ้องร้องยืดเยื้อ
การระดมอาสาสมัครตำรวจบ้าน-เสือไฟ จากหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่มีการนัดหมาย ไปรวมพลกันที่เขาใหญ่ ก่อนเข้ากรุงเทพฯ  ต่อต้านมวลชนที่เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย( ในขณะนั้น)

กำลังโหลดความคิดเห็น