“เซเว่นลีด กรุ๊ป” (Seven Lead Group) ชอบท่องเที่ยวดูโบราณสถาน และของสวยๆ งามๆ ตามโอกาสอันควร และกาลเวลาอันเหมาะสม
วันหนึ่งขณะนั่งรถไปทางตะวันออกเลียบชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ พบหญิงและลูกน้อยพามอเตอร์ไซค์ล้มอยู่ริมถนน จึงหยุดรถและลงไปช่วยเหลือจนแม่ลูกสามารถขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้านได้ ผู้ช่วยเหลือก็กลับมาขึ้นรถเดินทางต่อไป...
ทั้งๆ ที่สองฝ่ายคือฝ่ายได้รับอุบัติเหตุ และฝ่ายช่วยเหลือไม่รู้จักกันเลย แต่ก็ช่วยเหลือกันได้ด้วยความเต็มใจ ไม่ได้ถูกขอร้อง และไม่ได้หวังผลตอบแทน
นี่คือ รักแท้ที่ไร้พรมแดน ไม่มีกรอบไม่มีเขต เป็นรักที่หลั่งออกมาจากด้านใน ดุจดั่งความหอมของดอกไม้ยามผลิบาน
ผู้ทรงคุณค่าหรือศาสดาของโลก ต่างก็มีความคิดเห็นตรงกันว่า... “สิ่งทั้งมวลก่อเกิดมาจากความรัก ดำรงอยู่ด้วยความรัก แม้พรากจากกันไปนานแล้ว ก็ยังรักกันอยู่ คิดถึงกันอยู่...”
รักคือทุกสิ่ง รักคือทุกวันเวลา มิใช่เฉพาะวันแห่งความรักดอก ผู้เข้าใจแห่งรัก ก็จะมีรักเต็มล้นห้องใจ และหลั่งไหลออกมาสู่สรรพสิ่ง ด้วยความยินดีปรีดา
การุณย์เมตตา
มีหลักธรรมสามอย่าง แม้จะต่างกัน แต่ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อิงอาศัยกัน สัมพันธ์กัน เนื่องกันอยู่ นั่นคือ...พรหมวิหาร, สังคหวัตถุ และอิทธิบาท เพื่อความเข้าใจง่ายๆ และจดจำง่าย ผมสรุปลงเป็น... “เครื่องสิบสองครองตน” ดังนี้...
1. เครื่องอยู่เย็นเป็นสุขอันประเสริฐ
1. เมตตา
2. กรุณา
3. มุทิตา
4. อุเบกขา
2. เครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจอันเลิศล้ำ
1. ทาน
2. ปิยวาจาอัตถจริยา
3. สมานัตตตา
3. เครื่องคุณความสำเร็จอันยวดยิ่ง
1. ฉันทะ
2. วิริยะ
3. จิตตะ
4. วิมังสา
รวม 3 เครื่อง 12 อย่างเป็นทางหรือคติครองตนและคนอื่น ได้อย่างสันติสุข และอิสรภาพ
ทั้ง 3 เครื่อง 12 อย่าง ย่อลงเหลือหนึ่งเดียวคือ “ความรัก”
เพราะความรัก ฉันจึงมี 3 เครื่อง 12 อย่าง เพราะรัก ฉันจึงมี เมตตา กรุณา ...จนกระทั่งวิมังสา ฉันมีรักจนเต็มล้นในหัวใจ รักนั้นจึงหลั่งไหลออกมาสู่ภายนอกอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างเป็นอิสรภาพ
ถ้าห้องใจขาดแคลนหรือยากไร้ความรัก แม้จะมีวาทกรรมสวยหรูชูป้ายอย่างไร ก็ยากที่จะมีความรักรินไหลออกมาสู่ภายนอกได้
สร้างรักในตนเป็นเบื้องต้น สายชลแห่งรักก็จะเลื่อนไหลสู่สรรพสิ่งในเบื้องกลางเบื้องปลายอย่างงดงาม
เมื่อท่านรักตน ท่านจึงจะรักคนอื่นได้ เมื่อท่านมีรัก ท่านจึงจะให้รักคนอื่นได้ เมื่อท่านมีการุณย์เมตตา อีกสิบอย่างแห่งเครื่องสิบสอง ก็จะล่ายส้ายตามมา เพราะท่านเห็นคนอื่นเป็นท่าน และเห็นท่านเป็นคนอื่น
คนพูดเช่นนี้เหมือนจะเพ้อฝันเกินไป ใช่...มันเป็นความเพ้อฝัน เพราะท่านยังไม่นำไปปฏิบัติต่อเนื่องท่านนำไปปฏิบัติจริงเท่านั้น ความฝันนั้นจึงจะกลายเป็นจริงขึ้นมา
ในอดีตกาล ใครที่คิดอยากบินได้เหมือนนก จะถูกสังคมประณามว่าบ้าหรือเพ้อฝัน ครั้นเขาสร้างเรือบินขึ้นมาบินได้เหมือนนกจริงๆ สังคมจะบอกว่าเป็นปาฏิหาริย์ ช่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก ต่อๆ มากระทั่งปัจจุบันเรือบินพัฒนาไปมาก สังคมเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ปาฏิหาริย์ ไม่อัศจรรย์แล้ว แม้เรื่องหูทิพย์ตาทิพย์ในกาลก่อนโน้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องกล้วยๆ ใครๆ ก็หูทิพย์ตาทิพย์ทั้งนั้น อย่างสังคมก้มหน้า เป็นต้น
อย่าปรามาสความฝัน อย่าปรามาสจินตนาการ หรือมโนภาพ เพราะมโนนั่นแหละทำให้ท่านดูดีมีความสุขสบาย และตกเป็นเหยื่อเป็นทาส (หากรู้ไม่ทัน) ในทุกวันนี้
มรรคาแห่งรัก
“ททมาโน ปิโย โหติ-ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก” การให้ การเสียสละ การบริจาค หรือทานมีสองอย่าง อย่างแรก-อามิสทาน คือการให้สิ่งของ อย่างที่สอง-ธรรมทาน คือการให้ธรรม การให้ความรู้ และแนะนำสั่งสอน ในสองอย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ “สพฺพทานํ ชินาติ-การให้ธรรม ชำนะการให้ทั้งปวง”
อามิสทาน ช่วยค้ำจุนชีวิต ทำให้เขามีที่พึ่งอาศัย แต่ธรรมทาน ช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป เมื่อให้อามิสทาน พึงให้ธรรมทานด้วย
เจอคนเฒ่าคนแก่แลเด็กยากไร้ หรือคนพิการ ก็ให้ทานเขาบ้าง แม้จะไม่ใช่ทานอันเลิศ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยต่อชีวิตให้เขาที่เขาเป็นเช่นนี้ จะโทษแต่เขาก็ไม่ถูก เพราะเรามีส่วนทำให้เขาเป็นเช่นนั้นด้วย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมือง มองไม่เห็นคุณค่าของความเป็นคน ของคนที่ถูกปกครอง
มรรคาแห่งรัก หรือทางแห่งรักมีมากมายหลายทาง ตามแต่ผู้เดินทางจะเลือกเดิน สำหรับผม รักที่จะเดินตามทาง “เครื่องสิบสองครองตน” ตามที่กล่าวมา
ส่วนท่านอื่นๆ ก็ตามใจท่านเถิด เพราะชีวิตเป็นของท่าน ท่านต้องคิดเอง เดินเอง และรับผลแห่งการกระทำเอง แม้จะมีพรหมลิขิต คอยกำหนดชี้แนะก็จริง แต่ท่านก็มีสิทธิที่จะใช้ “กรรมลิขิต” หรือ “ตนเองลิขิต” ได้ตามใจปรารถนา
ชีวิตแม้ดูจะมีอะไรมากมาย แต่จริงๆ แล้วชีวิตมีน้อยนิด ง่ายๆ สบายๆ “ชีวิตคือการเดินทาง ออกจากบ้านแล้วกลับบ้าน” มีเท่านั้นจริงๆ ที่มีมากเกินจนแบกรับไม่ไหว นั่นมันไม่ใช่ชีวิต นั่นมันขยะชีวิตที่เราแบกเราหอบมันเอง (เห็นขยะดีกว่าสาระรึเปล่า)
ชีวิตมีสองด้านเสมอ “มัวหมองผ่องใส จิตใจสองด้าน สังขารนิพพาน เบิกบานหลับยืน” สองด้านดังกล่าว มันตั้งอยู่บน “รากรัก” ถ้าไร้รากรักมันก็เกิดขึ้นไม่ได้ จงยอมรับมัน อยู่กับมันด้วยรัก เดินไปกับมันด้วยรัก แต่ด้านไหนจะมากหรือน้อย หรือสมดุลกัน มันก็ขึ้นอยู่กับคุณอีกนั่นแหละ
ตนเองรู้จัก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม, ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา, ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม”
การเห็นธรรมก็คือการเห็นตน หรือการเห็นตนก็คือการเห็นธรรม
การรู้ตนการเห็นตน จึงสำคัญยิ่ง เวลาปฏิบัติธรรม ท่านจึงให้ดูตน คือ “ดูกายเคลื่อนไหว ดูใจนึกคิด” เมื่อรู้ตนเห็นตนแล้ว ก็จะพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่น สังคม ประเทศชาติได้
คนที่เห็นตนเห็นธรรม เขาเห็นตัวเองเหมือนคนอื่น และเห็นคนอื่นเหมือนตัวเอง เมื่อเขารักตน เขาจึงรักคนอื่นด้วย
“อตฺตา หิ อตฺตโน-ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” คนที่เข้าใจพุทธสุภาษิตนี้อย่างผิวเผิน ก็อาจจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างเดียว ส่วนคนที่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง นอกจากเขาจะพึ่งตนเองได้แล้ว เขายังเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย อย่างนี้คือคนที่รู้จักตนเองที่แท้จริง
จึ่งรักทั้งมวล
ความรักที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งมวล (จึ่งรักทั้งมวล) เกิดจากการุณย์เมตตา มรรคาแห่งรัก ตนเองรู้จัก
คำว่า “จึ่งรักทั้งมวล” ยังมีผู้ไม่เข้าใจอยู่จำนวนมาก...ถ้ารักฉัน ทำไมต้องทำกับฉันขนาดนี้ เอาเป็นเอาตายจนฉันติดคุก ทำไมไม่เมตตากรุณาฉันบ้าง ทำไมไม่ปรองดองกับฉันบ้าง ทำไม...เป็นอาทิ
เรื่องนี้จะต้องปูพื้น ทำความเข้าใจกับสัจจะ 2 และธรรม 2
- สัจจะหรือความจริง 2 อย่าง
1. สมมติสัจจะ คือความจริงโดยสมมติ หรือความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับบของคน หรือความจริงที่ถือตามความกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่น คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น
2. ปรมัตถสัจจะ คือความจริงโดยปรมัตถ์ หรือความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน หรือความจริงตามความหมายขั้นสุดท้าย ที่ตรงตามสภาวะ และเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่น รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น
- ธรรม คือสภาวะ หรือสิ่ง หรือปรากฏการณ์มี 2 อย่าง
1. โลกียธรรม คือธรรมอันเป็นวิสัยของโลก หรือสภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ ขันธ์ 5 ที่เป็นสาสวะทั้งหมด
2. โลกุตตรธรรม คือธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก หรือสภาวะพ้นโลก ได้แก่ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1
ชีวิตคือสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน เรารักชีวิต เราก็รักทั้งสองด้านนั่นแหละ คือรักสมมติสัจจะ-รักปรมัตถสัจจะ คือรักโลกียธรรม-รักโลกุตตรธรรม
สมมติสัจจะ ก็มีทั้งดีทั้งชั่ว คนดีเขาก็ส่งเสริม ยกย่อง เชิดชู หรือชม คนชั่วเขาก็ข่ม ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ก็ต้องถูกลงโทษติดคุกติดตะรางไป ขืนปล่อยให้ลอยนวล ก็เป็นตัวอย่างไม่ดี ต่อไปสังคมบ้านเมืองก็หาความสงบไม่ได้ เพราะมีกฎหมายก็เหมือนไม่มี บังคับใช้กับใครไม่ได้
คนที่เขาฟ้องร้องคุณ จนศาลตัดสินลงโทษติดคุก ก็เพราะเขาทำตามหน้าที่พลเมืองดี และเขารักคุณ หากปล่อยให้คุณทำชั่วต่อไป โกงบ้านกินเมืองต่อไป บ้านเมืองก็จะฉิบหาย ผลกรรมชั่วก็จะสนองคุณและครอบครัวคุณ แม้คุณจะร่ำรวยขนาดไหนก็หาความสุขไม่ได้ คนที่ทำให้คุณติดคุก เขาจึงเป็นผู้หยุดคุณ มิให้ทำชั่วต่อไป
ติดคุกมีวันออกได้ แต่ความชั่วที่ทำ ไม่มีวันออกจากตัวคุณ ติดแน่นฝังลึกในจิตวิญญาณไปทุกภพชาติ
คุณน่าจะขอบคุณ คนที่ทำให้คุณติดคุก-หยุดทำชั่ว เพราะเขาเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์ให้ บรรดาผู้ชี้ขุมทรัพย์ทั้งหลาย ก็คือผู้เอากระจกไปให้คุณส่อง ทำให้คุณพบตัวเองที่แท้จริง
อย่างนี้ต้องกดไลค์และแชร์ ขอขอบคุณ ที่ยังมีผู้ใจดี มอบความรักให้
เพื่อนมนุษยชาติทั้งมวล
“การุณย์เมตตา
มรรคาแห่งรัก
ตนเองรู้จัก
จึ่งรักทั้งมวล”
ความรักแท้ หรือรักบริสุทธิ์ คือการภาวนา คือการทำสมาธิ คืออิสรภาพ คืออุเบกขา คือ...
อุเบกขา คือความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง คือมีทั้งจริงโดยสมมติ และจริงโดยปรมัตถ์
“หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” กล่าวว่า “ผู้ใดทำใจให้เป็นกลางได้ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”
คุณตา “สุญญตา บาละหมุน” บอกกับลูกหลานเหลนโหลน เสมอว่า... “ผู้ใดทำใจให้ว่างได้ ผู้นั้นจะละวางทั้งมวล”
“ทำอย่างไร จะให้จิตว่าง” เสียงถามรอบทิศ
“ไม่ต้องทำอะไร เพราะใจมันว่างอยู่แล้ว เหมือนกระดาษขาว มันขาวอยู่แล้ว เมื่อขีดเขียนอะไรลงไป มันก็มีรอยด่างดำ ไม่บริสุทธิ์ อยากขาวบริสุทธิ์ ก็อย่าขีดเขียนอะไรลงไป หรือหากเขียนไปแล้วก็ลบออกซะเท่านั้นเอง ฉันใด ใจคนก็ฉันนั้น” เสียงตอบจากคุณตา พลิ้วไหวตามสายลม
โอ...อมิตาพุทธ สติปัญญาเป็นแสงสว่างไม่มีที่สิ้นสุด แสงสว่างเกิดขึ้น ณ ที่ใด ความมืดก็หายไป ณ ที่นั้น