xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : ไหว้พระประจำวันเกิด อย่างรู้ความหมายและได้มงคล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปางถวายเนตร พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ในวัดวาอารามหลายแห่ง นอกจากพระประธานในพระอุโบสถหรือพระวิหารแล้ว ยังมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด เพื่อให้ผู้คนได้สักการะเป็นมงคลแก่ชีวิตด้วย แต่การสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิดมีมาแต่สมัยใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด

คนส่วนใหญ่รู้ว่า พระประจำวันเกิดของตนมีพุทธลักษณะอย่างไร แต่หลายคนก็ไม่ทราบชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปปางอะไร รวมทั้งไม่รู้ที่มาหรือความหมายของปางนั้นๆ

แต่การกราบไหว้สักการบูชาพระพุทธรูปประจำวันเกิดอย่างรู้ความหมายเรื่องราวที่มา ย่อมเป็นพุทธานุสติให้จิตน้อมระลึกถึงพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอนของพุทธองค์ ซึ่งจะนำพาชีวิตให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

สำหรับพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดแต่ละวันดังกล่าว มีความเป็นมาโดยย่อดังนี้

วันอาทิตย์
ปางถวายเนตร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตร พระหัตถ์ทั้งสองประสานไว้เหนือพระเพลา(ตัก) โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ความหมายของพระพุทธรูปปางนี้ กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข(สุขอันเกิดจากความสงบ) เป็นเวลา ๗ สัปดาห์คือในสัปดาห์ที่ ๑ พระองค์ทรงประทับนั่งสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ จากนั้นในสัปดาห์ที่ ๒ พระองค์จึงเสด็จออกประทับยืนกลางแจ้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์อย่างไม่กะพริบพระเนตร เพื่อจะได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมที่ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว อีกทั้งยังเป็นการแสดงความเคารพ ความกตัญญูต่อต้นศรีมหาโพธิ์ด้วย สถานที่แห่งนี้เรียกว่า “อนิมิสเจดีย์”

พระพุทธรูปปางนี้มีความหมายถึงการน้อมบูชาพระอาทิตย์ด้วยการเพ่ง และดวงอาทิตย์ยังมีความหมายในด้านดวงตา การมองเห็น และการขจัดความเขลา ซึ่งการบูชาพระอาทิตย์และการบูชาต้นไม้นั้น มีการปฏิบัติมาแต่โบราณกาลแล้ว

วันจันทร์
ปางห้ามญาติ หรือห้ามสมุทร เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ (อก) อันเป็นกิริยาห้าม ส่วนปางห้ามญาติจะยกพระหัตถ์ขวาเพียงพระหัตถ์เดียว

ที่มาของปางห้ามสมุทร คือ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิล (นักบวชผู้บูชาไฟ) และเป็นที่เลื่อมใสของชาวแคว้นมคธ พระพุทธองค์ทรงแสดงความจริงที่ได้ตรัสรู้มาแก่อุรุเวลกัสสปะ แต่หัวหน้าชฎิลผู้นี้ยังทนงตนว่าตัวเองมีฤทธิ์ เป็นอรหันต์

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์หลายครั้ง เพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายทะนงตนลง

โดยครั้งสุดท้ายเกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ พระพุทธองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์โดยการห้ามน้ำที่กำลังไหลมาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ อุรุเวลกัสสปะคิดว่าพระพุทธเจ้าคงจะจมน้ำเสียแล้ว แต่เมื่อพายเรือไปดูก็ปรากฏว่า พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจงกรมบนพื้นดินภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง ด้วยปาฏิหาริย์ทั้งหมดที่ทรงแสดง พร้อมทั้งการแสดงธรรมมากมาย ทำให้อุรุเวลกัสสปะคลายพยศ เกิดความเลื่อมใสในพุทธานุภาพ จึงทูลขออุปสมบทกับพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งเหล่าชฎิล ๕๐๐ ซึ่งเป็นบริวาร

ส่วนปางห้ามญาติ มาจากตอนที่พระองค์ทรงเข้าไปห้ามพระญาติ ที่เมืองกบิลพัสดุ์และเทวทหะ ซึ่งเตรียมทำสงครามแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณีที่ไหลผ่านสองเมือง พระศาสดาทรงรับสั่งถามว่า ที่ทะเลาะวิวาทกัน เพราะอะไรเป็นเหตุ เมื่อสองฝ่ายตอบว่าน้ำ พระองค์จึงทรงรับสั่งถามต่อไปว่า “น้ำกับชีวิตคน อย่างไหนจะมีค่ามากกว่ากัน” ทั้งสองฝ่ายตอบว่าชีวิตคนมีค่ามากกว่า ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น ควรแล้วหรือที่จะเอาชีวิตคนมาแลกกับน้ำ” ทำให้พระญาติต่างก็คิดได้ และเลิกทำสงครามกันในที่สุด

วันอังคาร
ปางไสยาสน์ หรือบางทีก็เรียก “ปางปรินิพพาน” เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถทรงพระบรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา เหยียดปลายพระบาทเสมอกันทั้ง ๒ ข้าง (เรียกโดยทั่วไปว่าพระนอน หรือพระไสยาสน์ ในหลายตำราบอกว่าปางปรินิพพานต่างจากปางไสยาสน์ ตรงที่พระหัตถ์ของพระองค์จะไม่ทรงชันพระเศียรตั้งขึ้น แต่จะแผ่ราบลงกับพื้น ซึ่งเป็นลักษณะทอดร่างวางดับขันธ์ มุ่งสู่มหาปรินิพพาน)

ปางปรินิพพานมีที่มาจากพุทธประวัติว่า หลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งทรงพระบรรทมด้วยพระอาการประชวรใต้ต้นสาละ ณ เมืองกุสินารา ได้ให้สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อทูลถามปัญหา ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน กระทั่งสุภัททปริพาชกได้ฟังธรรมจากพระองค์แล้วรู้สึกเลื่อมใส จึงขออุปสมบทเป็นภิกษุ จนได้บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้น ถือว่าได้เป็นพระอรหันต์ปัจฉิมสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แล้วพระผู้มีพระภาคจึงได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

มีพุทธประวัติเล่าถึงปางไสยาสน์อีกตอนหนึ่ง คือ สมัยที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร อสุรินทราหู อุปราชของท้าวเวปจิตตอสุรบดินทร์ ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับถึงพระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าจากเหล่าเทพยดา จึงปรารถนาจะไปเฝ้าบ้าง แต่ก็คิดว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นมนุษย์และมีพระวรกายเล็กกว่าตัวเอง การไปเฝ้าต้องก้มลง ซึ่งตัวเองไม่เคยก้มศีรษะให้ใคร เมื่อคิดดังนี้จึงไม่ไป

แต่เมื่อเห็นเหล่าเทพยดาพากันไปเฝ้าฟังธรรม ก็เลยคิดที่จะไปเฝ้าอีก ดังนั้น คืนหนึ่งอสุรินทราหูจึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ายังที่ประทับ พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณถึงความรู้สึกนึกคิดของอสุรินทราหู จึงเสด็จบรรทมรอรับ แล้วทรงเนรมิตรพระวรกายให้ใหญ่กว่าอสุรินทราหูหลายเท่า เมื่ออสุรินทราหูมาเข้าเฝ้า และได้เห็นเช่นนั้นก็รู้สึกอัศจรรย์ใจ จึงถวายอภิวาท และเงยหน้าชมพุทธลักษณะ ด้วยความยินดี

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนอสุรินทราหูว่า ข่าวลือหรือเรื่องใดๆหากไม่เห็นด้วยตนเอง หรือยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็ไม่ควรติชมไปก่อน อีกทั้งได้พาอสุรินทราหูไปเที่ยวพรหมโลก ได้เห็นบรรดาพรหมที่มาเฝ้ามีร่างกายใหญ่โตกว่าตนทั้งสิ้น แต่พระพุทธเจ้าก็ยังมีพระวรกายใหญ่กว่าพรหมทั้งหมด อสุรินทราหูจึงลดทิฐิ และเมื่อได้ฟังธรรม ก็เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง

วันพุธ
ปางอุ้มบาตร พระประจำวันพุธ (กลางวัน) เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกประคองบาตร

เป็นปางที่กล่าวถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่เหล่าพระประยูรญาติ โดยทรงเนรมิตรรัตนจงกรมในอากาศ และเสด็จขึ้นไปจงกรมแล้ว พระประยูรญาติทั้งหลายจึงคลายทิฐิมานะ และแสดงความเคารพพระพุทธองค์ด้วยความเลื่อมใส พระพุทธเจ้าจึงทรงเทศนามหาเวสสันดรชาดก เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ฝนโบกขรพรรษที่ตกลงมาในเวลานั้น

ครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว บรรดาพระญาติทั้งหลาย เกิดความปีติปราโมทย์เป็นอันมาก และได้กราบทูลลา โดยมิได้กราบทูลอาราธนาให้ทรงรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น ด้วยเข้าใจว่าพระบรมศาสดาจะต้องพาพระสาวกทั้งหลายมาเสวยพระกระยาหารในพระราชสถานอย่างแน่นอน จึงได้แต่จัดเตรียมอาหารอันประณีตไว้ถวาย

เมื่อไม่มีผู้ใดอาราธนาให้ไปเสวยในที่ใด รุ่งเช้าพระพุทธองค์จึงทรงถือบาตร นำสาวกเสด็จออกบิณฑบาตไปตามบ้านเรือนต่างๆ และเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้เห็นพระบรมศาสดาทรงอุ้มบาตร เสด็จโปรดสรรพสัตว์

ปางป่าเลไลยก์ พระประจำวันพุธ (กลางคืน) คือ ผู้ที่เกิดระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ ของวันพุธ ถึง๐๖.๐๐ น.ของวันพฤหัสบดี หรือบางคนก็นับตั้งแต่ ๑๘.๐๐-๒๔.๐๐ น.ของวันพุธ สุดแต่ความเชื่อ

เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถนั่ง ห้อยพระบาททั้งสอง พระหัตถ์ซ้ายคว่ำวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาหงายวางบนพระชานุ เป็นกิริยาทรงรับ

ที่มาของปางนี้ กล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่พระเชตวันมหาวิหาร กรุงโกสัมพี พระภิกษุในอารามได้เกิดทะเลาะวิวาทแบ่งกันเป็นฝักฝ่าย ประพฤติตนเป็นผู้ว่านอนสอนยาก แม้พระพุทธองค์จะทรงตักเตือนก็ไม่เป็นผล จึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิไลยกะ ในเวลานั้นมีพญาช้างเชือกหนึ่งชื่อปาลิไลยกะ ได้หนีออกจากโขลง และได้มาพบพระพุทธเจ้า จึงเกิดความเสื่อมใส ขออยู่อุปัฏฐาก วันหนึ่งพญาลิงตัวหนึ่งแลเห็นพญาช้างปฏิบัติพระพุทธเจ้า ก็อยากจะเข้าไปปฏิบัติบ้าง จึงไปเก็บรวงผึ้งมาถวาย

เมื่อชาวเมืองโกสัมพีทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ในป่า ด้วยสาเหตุดังกล่าว ก็ไม่พอใจพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงไม่ทำบุญสนับสนุนเหมือนเช่นเคย ทำให้เหล่าภิกษุสงฆ์เดือดร้อนและเล็งเห็นโทษของการที่ไม่อยู่ในพระโอวาท

พระภิกษุเหล่านี้เกิดสำนึกผิด จึงขอให้พระอานนท์ไปทูลเชิญเสด็จพระพุทธองค์กลับพระเชตวันมหาวิหาร พญาช้างร้องไห้เสียใจเป็นอันมาก และเมื่อพระศาสดาลับสายตาไป พญาช้างก็ล้มลงขาดใจตาย ด้วยกุศลแห่งความเลื่อมใสในพระศาสดา พญาช้างก็ได้ไปเกิดในสวรรค์มีนามว่า “ปาลิไลยกะเทพบุตร”

วันพฤหัสบดี
ปางสมาธิ บางแห่งเรียก “ปางตรัสรู้” เป็นพระพุทธรูุปในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระวรกายตั้งตรง พระบาททั้งสองซ้อนกัน โดยพระบาทขวาซ้อนทับอยู่บนพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนหงายกันบนพระเพลา(ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนหงายอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย

ปางสมาธิมาจากพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะประทับขัดสมาธิบนบัลลังก์หญ้าคา ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา และได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

พระพุทธรูปปางนี้นิยมสร้างเป็นพระประธานของวัดนอกเหนือจากปางมารวิชัย พระพุทธรูปปางสมาธิเป็นพระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดีซึ่งถือว่าเป็นวันครู โดยถือการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบรมครูผู้สั่งสอนให้เหล่าสรรพสัตว์ได้พ้นจากวัฏสงสาร

วันศุกร์
ปางรำพึง เป็นพระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากตรัสรู้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรำพึงถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้ว่า เป็นธรรมอันประณีตละเอียดยากที่บุคคลจะรู้ได้ ทำให้ท้อแท้พระทัย ถึงกับทรงดำริจะไม่แสดงธรรมแก่มหาชน

ท้าวสหัมบดีพรหมทราบวาระจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้คนเพราะผู้มีกิเลสน้อย อาจจะได้ตรัสรู้ธรรมบ้าง

พระองค์ทรงรำพึงถึงธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ปางก่อนว่า ได้ตรัสรู้แล้วย่อมทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนทั้งปวง จึงได้น้อมพระทัยที่จะแสดงธรรมโปรดสัตว์โลก และได้ทรงพิจารณาทราบถึงอุปนิสัยของบุคคลทั้งหลายในโลกย่อมมีต่างๆกัน คือทั้งประณีต ปานกลาง และหยาบ ผู้ที่มีนิสัยดี มีกิเลสน้อยเบาบาง มีบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว ซึ่งพอจะตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ได้ก็มีอยู่ ผู้มีอินทรีย์ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา กล้าก็มี ผู้มีอินทรีย์อ่อนก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่ายก็มี เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยยากก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ได้ก็มี เป็นผู้ไม่สามารถจะรู้ได้ก็มี

ครั้นทรงพิจารณาแล้ว ก็ทรงอธิษฐานและตั้งพุทธปณิธานจะแสดงธรรมและประกาศพระศาสนาให้แพร่หลาย สำเร็จประโยชน์แก่มหาชนทุกเหล่า

วันเสาร์
ปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำวันเสาร์ เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ มีพญานาค ๗ เศียรขดเป็นชั้นปกคลุม

โดยสร้างตามพระพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเสวยวิมุตติสุข ในสัปดาห์ที่ ๖ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นศรีมหาโพธิ์ ประทับใต้ต้นมุจลินท์(ต้นจิก)เป็นเวลา ๗ วัน เวลานั้นฝนตกไม่หยุด และบริเวณนั้นมีสระมุจลินท์ ซึ่งเป็นที่อาศัยของพญานาค ดังนั้น พญานาคตนหนึ่งชื่อ “มุจลินท์นาคราช” จึงได้ขึ้นมาขดตัวเจ็ดรอบและแผ่พังพานป้องกันฝนไม่ให้ต้องพระวรกาย เพื่อเป็นพุทธบูชา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)
ปางห้ามญาติ พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ปางห้ามสมุทร ประดิษฐานบนยอดเขาอ่าวคุ้งวิมาน จ.จันทบุรี
ปางไสยาสน์ ณ วิหารไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม.
ปางปรินิพพาน ณ วิหารปรินิพพาน เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
ปางอุ้มบาตร พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ปางป่าเลไลยก์ หลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี
ปางสมาธิ พระประธานยิ้มรับฟ้า วัดระฆังโฆสิตาราม กทม.
ปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันประสูติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ปางนาคปรก พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
กำลังโหลดความคิดเห็น