xs
xsm
sm
md
lg

เอาให้เข็ด "ขบวนการล้มเจ้า" ต้องใช้คำสั่งคสช. ยึดทรัพย์!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**เมื่อเห็นโฉมหน้าของ นายหัสดิน อุไรไพรวัน เจ้าของนามแฝง “บรรพต”ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เชื่อว่าคนไทยคงรู้สึกไม่แตกต่างกัน คือ
** นึกสงสัยว่า “มาเกิดบนแผ่นดินนี้ทำไม”
ยิ่งเมื่อถูกจับกุมตัวได้ ก็มิได้มีทีท่าอนาทรร้อนใจต่อกรรมอุบาทว์ที่ก่อไว้แต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังเล่าเป็นวรรคเป็นเวรถึงพฤติกรรมจาบจ้วง คุยโวว่าทำคนเดียวอย่างไม่สำนึกผิดบาปว่า นรกจะกินกบาล
จากเครือข่ายบรรพตที่มีการเปิดเผยออกมาแสดงให้เห็นว่า “ขบวนการล้มเจ้า”ที่เราพูดถึงกันมานานนักหนานั้นมีจริงแท้แน่นอน และนี่คือตัวอย่างเครือข่ายล้มเจ้า ที่ทำกันอย่างเป็นระบบมายาวนาน
แน่นอนว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงตัวเล็กตัวน้อยในระดับปฏิบัติเท่านั้น ยังมีตัวบงการใหญ่ที่ซ่อนอยู่ในเงามืด แต่ก็พอรู้กันอยู่ว่าเป็นกลุ่มไหนที่ไม่จงรักภักดี มีเจตนาร้ายต้องการสั่นคลอนสถาบันหลักของชาติ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
เครือข่ายบรรพตคงขับเคลื่อนเรื่องเลวทรามบนโลกออนไลน์ไม่ได้ หากไม่มี "ท่อน้ำเลี้ยง" ซึ่งก็พบว่าในแต่ละเดือนมีรายได้หลักแสนเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ออกมาระบุว่า คดีนี้เป็นความผิดตาม มาตรา 112 หมิ่นสถาบันฯ ไม่เข้าข่ายความผิดมูลฐาน พ.ร.บ.ฟอกเงิน ซึ่งมี 24 ฐานความผิด คือ
1. ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2552 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ตาม พ.ร.ก.ป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.2533 และตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534
2. ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามประมวลกฎหมายอาญา ตามพ.ร.บ.มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 และ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539
3. ความผิดเกี่ยวกับฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
4. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอก หรือ ฉ้อโกง หรือ ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน หรือกระทำการโดยทุจริต โดยกรรมการ ผู้จัดการของสถาบันการเงิน
ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 และตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
5. ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ
6. ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือ รีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา
7. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
8 . ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญาแก้ไขเพิ่มเติม
9. ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการพนัน พ.ศ. 2478 เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป
10. ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550
11. ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551
12. ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด
13. ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยกาประการใด ซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า
14. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลง เงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋ว ตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นการค้า
15 . ความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอมหรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าหรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อันมีลักษณะเป็นการค้า
16. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ หนังสือเดินทาง
17. ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ หรือ กระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า
18. ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญาเพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน
19. ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือรับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้
รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง
20. ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง หรือ ยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ
21. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัด ตามกฎหมายวาด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัด
22. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
23. ความผิดเกี่ยวกับอาวุธหรือเครื่องมืออุปกรณ์ของอาวุธที่ใช้หรืออาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงคราม ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์
24. ความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงิน
จะเห็นได้ว่า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 4 ซึ่งใช้ในปัจจุบัน มีการขยายขอบข่ายมูลฐานความผิดออกไปอย่างกว้างขวาง น่าแปลกใจที่ไม่มีการบัญญัติเรื่อง มาตรา 112 รวมเป็นมูลฐานความผิดไว้ด้วย ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรจะได้นำกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาเพิ่มเติมมูลฐานความผิดตามมาตรา 112 ลงไปด้วย
แม้ว่ากฎหมายปัจจุบันจะไม่ครอบคลุมฐานความผิด มาตรา 112 ดังที่ พ.ต.อ.สีหนาท ระบุก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะดำเนินการสอบธุรกรรมทางการเงินคนที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้ เนื่องจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล หรือนิติบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ซึ่งมี อธิบดีกรมสรรพากร เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นคณะทำงาน
**ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศโดยตรงจึงเข้าข่ายที่คณะทำงานชุดนี้จะดำเนินการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของเครือข่ายบรรพตได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศับมูลฐานความผิดจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแต่ประการใด
หรือถ้าตรวจสอบแล้วพบเครือข่ายที่ใหญ่โตสาวลึกไปได้ถึงผู้บงการที่เป็นคนส่งท่อน้ำเลี้ยง ก็ยังสามารถใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ออกคำสั่งอายัดทรัพย์เป็นการเฉพาะบุคคลได้ เช่นเดียวกับที่เคยออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 10/2557 เรื่องห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้การทำการใด ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคล เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม ซึ่งมีคำสั่งอายัดทรัพย์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณและนายจาตุรนต์ ฉายแสง พร้อมทั้งห้ามสถาบันการเงินให้ทั้ง 2 คนทำธุรกรรม รวมถึงใหสถาบันการเงินส่งรายงานการทำธุรกรรมของทั้งคู่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ถึง 24 พฤษภาคม 2557 ให้ คสช.
**เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ เอาจริงเอาจังกับขบวนการล้มเจ้า ก็ต้องใช้อำนาจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการให้สิ้นซาก เพราะถือเป็นโอกาสดีที่จะ ขจัดเสี้ยนหนามแผ่นดินที่ตำเท้าคนไทยอยู่ทุกวันออกไปจากแผ่นดินนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น