xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กมล กมลตระกูล “น้ำมันเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครที่จะเอาไปปู้ยี่ปู้ยําได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.กมล กมลตระกูล
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รู้ไหมว่าตอนนี้ประเทศไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาจักรให้แก่ต่างชาติ....

รู้ไหมว่าการให้สัมปทานแบบครอบจักรวาลจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน...

นี่คือทัศนะส่วนตัวของ “ดร.กมล กมลตระกูล” อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งติดตามและตรวจสอบเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 อย่างใกล้ชิด และอยากบอกให้ประชาชน ตลอดรวมถึงรัฐบาลได้รับรู้ เพื่อจะได้เห็นปัญหาและช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติในเรื่องการจัดการพลังงานของไทย

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์เปิดอกสัมภาษณ์ถึงมุมมองที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาของ ดร.กมลว่า ทำไมถึงมั่นใจว่าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

มีเรื่องไหนที่คิดว่า รัฐบาลทำไม่ถูกต้องในเรื่องพลังงานบ้าง

ประเด็นใหญ่ตอนนี้คือการที่รัฐจะให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แต่ประชาชนเรียกร้องให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หากเราศึกษาตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซีย ตอนแรกมาเลเซียเหมือนประเทศไทยที่ใช้ระบบสัมปทานก่อน เพราะเขาไม่มีความรู้ และไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีบุคลากร แต่หลังจากให้ระบบสัมปทานไปสักพักหนึ่งแล้ว เขาก็เริ่มเรียนรู้ว่าถูกฝรั่งหลอก คือหลอกในเรื่องข้อมูลว่ามีน้ำมัน มีแก๊สเท่าไร เช่น อาจจะว่า มี 100 ก็บอกว่ามี 10 จึงเก็บภาษีได้น้อย เขารู้เท่าทัน เลยยกเลิกระบบสัมปทาน จากนั้นรัฐบาลมาเลเซียตั้งบริษัทปิโตรนาสขึ้นมา เพื่อให้บริหารงานโปร่งใส และบริหารงานแบบเอกชนจะได้มีประสิทธิภาพ เขาทำทั้งสำรวจ ขุดเจาะ และจัดจำหน่าย โดยนำงบประมาณมาคืนให้รัฐ ตัวเลขล่าสุดรายได้ของปิโตรนาสบริษัทเดียว สามารถช่วยค่าใช้จ่ายรัฐบาลได้ร้อยละ 40 ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งถือว่าสูงมาก ส่วนประเทศไทย ผมคิดว่าหาก ปตท.เป็นของรัฐ 100% และนำรายได้นอกจาก ปตท.และ สัมปทานอื่นๆ ที่ให้บริษัทต่างชาติได้ไปเอามารวมกันแล้วเป็นรายได้ของชาติ อาจจะส่งรายได้เข้ารัฐได้ร้อยละ 40 หรือ 45 ของงบประมาณแผ่นดินเลยทีเดียว

นอกจากนั้น พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 มีหลายประเด็นที่ทำให้เราไม่มีสิทธิในทรัพยากรที่เป็นของเราเลย เพราะว่าการจัดจำหน่าย การผลิต และความเป็นเจ้าของ กลายเป็นของผู้ที่ได้สัมปทานไป รวมถึงบางกฎหมายทำให้เราเหมือนกลายเป็นเมืองขึ้น

เช่น มาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งสำคัญมาก ระบุว่า “ผู้รับสัมปทานไม่อยู่ในการบังคับคดีของกฎหมายไทย” อันนี้เท่ากับว่าประเทศไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาจักร

ยังมีอีกมาตรา 56 ซึ่งสอดคล้องกันว่าเมื่อมีข้อขัดแย้งและรัฐใช้ระบบอนุญาโตตุลาการนั้น มาตรา 56 บอกว่าการคัดเลือกอนุญาโตตุลาการ 3 คน ประเทศเจ้าของทรัพยากรเลือกหนึ่ง ประเทศผู้รับสัมปทานเลือกหนึ่ง แต่บุคคลที่ 3 ไประบุว่าให้ธนาคารโลกเป็นคนเลือก เท่ากับว่า 2 ต่อ 1 คือ คนอื่น กลายเป็นว่าถ้ามีความขัดแย้งเมื่อไร หรือบริษัทที่รับสัมปทาน เขาโกหกเรา ไม่จ่ายภาษี ไม่จ่ายค่าภาคหลวง หรือว่าเขาโกง เราไม่มีสิทธิที่จะใช้กฎหมายไทยไปบังคับเขา แต่ต้องใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นฝรั่ง 2 ไทย 1 เชื่อว่าถ้าเป็นอย่างนั้น เราจะแพ้ เพราะระบบนี้รัฐบาลจะไม่มีวันชนะ เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่ยุติธรรม เราสมควรจะยกเลิกกฎหมายนี้เสีย ไม่มีประเทศที่เป็นเอกราชประเทศใดที่ใช้ระบบนี้ ในการตัดสินคดีพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ทุกประเทศเขาต้องใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศตัวเองมาตัดสิน ไม่ใช่ระบบนี้ การใช้ระบบนี้เท่ากับเรายอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งถูกยกเลิกไปตั้งแต่ในอดีต

นอกนั้นการให้สัมปทานรอบนี้เป็นเรื่องแปลกที่ให้สัมปทานก่อนที่อายุสัมปทานเก่าจะหมด 7-8 ปี ทั้งที่สัมปทานเก่าคลุมพื้นที่มากมาย และมีอีกไม่ต่ำกว่าประมาณแสนตารางกิโลเมตรที่ยังไม่ได้สำรวจ คือว่าของเก่าเขายังทำไม่เสร็จเลย และจะให้ของใหม่ซ้ำอีกแล้ว

นอกจากนี้ ผมมองว่าการให้สัมปทานแบบครอบจักรวาลทั้งบนบก และในน้ำ เป็น การ ละเมิดสิทธิประชาชนจำนวนมาก เพราะว่าถ้าแหล่งไหนบ้านไหนมีน้ำมัน ประชาชนอาจ ถูกขับไล่ออกจากบ้านได้ เพราะถือว่าให้สัมปทานน้ำมันไปแล้ว ซึ่งทุกวันนี้เป็นปัญหา ของชุมชนหลายแห่ง หลายจังหวัดชาวบ้านถูกไล่ที่ หรือได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะ รวมถึงเจอมลภาวะเรื่องต่างๆ ฉะนั้นการให้สัมปทานปิโตรเลียมแบบครอบจักรวาล ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมารัฐบาลให้เหตุผลในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมว่า หากไม่มีการให้สัมปทาน ประเทศไทยจะไม่มีความมั่นคงพลังงาน เพราะน้ำมันของเราจะหมด เราจะไม่มีน้ำมันใช้ รวมถึงบอกว่าฝ่ายที่ค้านการเปิดสัมปทานได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง คิดอย่างไรในเรื่องนี้

คือผมมองว่าเป็นข้อมูลเท็จหมดเลยที่จะมาสร้างความชอบธรรม เพราะดูตัวอย่างหลายๆ ประเทศ ยกตัวอย่างประเทศเวเนซุเอลา สมัยก่อนเขาใช้ระบบสัมปทานเหมือนกัน แล้วให้บริษัทต่างชาติมาสำรวจขุดเจาะ และขายน้ำมัน รายงานที่เขาได้รับ สมมุติเป็นตัวเลขว่ามีน้ำมันสำรองแค่ 1 ล้านบาร์เรล แต่ว่าหลังจากที่รัฐบาลเข้าไปยึดกิจการ เขาไม่ได้ยึดโดยตรง เขาใช้วิธีซื้อ แต่ซื้อด้วยราคาตามทรัพย์สินตามบัญชี ปรากฏว่าน้ำมันที่บริษัทเคยบอกว่ามี 1 ล้านบาร์เรล แต่สำรวจจริงมี 4 ล้านล้านบาร์เรล ซึ่งกลายเป็นว่ามีน้ำมันมากกว่า ประเทศ ซาอุดีอาระเบียอีก ในมาเลเซียก็เจออย่างนี้เหมือนกัน

ดังนั้นตัวเลขที่เราได้ หรือที่กระทรวงพลังงานรายงาน อาจจะไม่จริงก็ได้ หรือใช้ตรรกวิทยาง่ายๆ ถ้าหากว่าเราไม่มีน้ำมันจริง หรือน้ำมันจะหมดจริง บริษัทต่างชาติเขาจะ โง่หรือมาขอต่ออายุสัมปทานจากเราเหรอ ถ้าไม่มีน้ำมันจริงๆ ดังนั้นการบอกว่าน้ำมันเราจะหมด ไม่พอ มันเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ และข้อมูลที่รัฐบาลให้ กระทรวงพลังงานให้ เป็นข้อมูลชั้น 2 เท่านั้น ไม่ใช่ข้อมูลชั้นต้น คือเขาไปเอาข้อมูลของฝรั่งมาบอกประชาชน ไม่นานนี้ผมมีโอกาสไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ พบว่าข้อมูลต่างๆ เป็นการตรวจสอบทางบัญชีเท่านั้น คือ ตรวจสอบจากเศษกระดาษ ไม่ได้ตรวจสอบจากการสำรวจจริง หรือเอาข้อมูลที่แท้จริงมายืนยัน ดังนั้นข้อมูลของกระทรวงพลังงานที่เราได้รับ ถือเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนประเด็นที่รัฐบอกว่า ถ้าไม่ให้สัมปทานปิโตรเลียม เราจะไม่มีความมั่นคงพลังงาน ผมมองว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่มีพลังงานเลย ไม่มีแก๊ส ไม่มีน้ำมัน แต่ว่า เขาก็อยู่ได้ เพราะไม่มีก็ซื้อเข้ามาได้ แต่ถ้าประเทศเราผลิตได้เองแล้ว แต่ยังต้องซื้อน้ำมันใน ราคาตลาดโลก แล้วเราจะขุดทำไม เราเก็บไว้ไม่ดีหรอ คือตรรกะที่รัฐบาลชี้แจงออกมา มันฟังไม่ขึ้น

ผมคิดว่าหากรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้สัมปทานปิโตรเลียมต่อไป ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะตอนนี้ประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เรามีความขัดแย้งเรื่องสีในสังคมคือ สีเหลือง สีแดง แต่ในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของชาติเรื่องพลังงาน มันไม่มีสี เพราะทั้งสีแดง สีเหลืองต่างก็มาร่วมกันคัดค้านการเปิดปิโตรเลียม ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมต่อไป ผมเป็นห่วงว่าสถานการณ์มันอาจจะลามปามรุนแรงจนถึงจุดที่ควบคุมไม่ได้ก็ได้

จริงๆ แล้วในเรื่องของการสัมปทานปิโตรเลียม มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ อย่างไร

คือเรื่องแบบนี้หาหลักฐานมาพิสูจน์ยาก แต่ว่าถ้าเราย้อนดูประวัติศาสตร์ ปตท.เป็นของประชาชน 100% เลย ตั้งโดยเงินทุนของประชาชน ด้วยภาษีรัฐของประชาชน แต่ในการแปรรูปออกมาเป็นบริษัทมหาชน ใช้เวลาแค่ 1-7 วินาที และเป็นเรื่องที่ประหลาดที่สุดในโลกคือว่า 9 บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้าประมูลไม่มีรายชื่อเลย เหมือนเป็นบริษัทนอมินีของฝรั่ง 3-4 กองทุน ส่วนผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยอีก 5 รายแรก ก็เป็นบริษัทนอมินีเหมือนกัน แต่ไม่มีใครทราบว่าใครเป็นผู้ถือหุ้น ไม่มีการเปิดเผย มันมีลับลมคมในเยอะแยะไปหมด แต่อย่างที่บอกว่าเรื่องแบบนี้มันหาหลักฐานพิสูจน์ได้ยาก แต่ถ้าเราดูขบวนการแล้ว มันค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นเรื่องของกลุ่มทุน กลุ่มนักธุรกิจการเมืองเข้ามามีเอี่ยวและอยู่เบื้องหลัง แม้กระทั่งการให้สัมปทานปิโตรเลียมในรอบที่ 21 ก็มีนักธุรกิจการเมือง ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นมือที่มองไม่เห็น ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยตัว แต่ว่าถือหุ้นในนามของกองทุนต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง

ในขณะเดียวกันในความไม่โปร่งใสในเรื่องที่ไม่มีข้อห้ามให้ข้าราชการมาเป็นบอร์ดของธุรกิจเอกชน มันยิ่งทำให้ความไม่โปร่งใสชัดเจนขึ้น ถ้าเราดูรายได้ของที่ปรึกษา หรือบอร์ดของธุรกิจพลังงาน ปีหนึ่งบวกค่าเบี้ยประชุม บวกโบนัสแล้วประมาณคนละ 2-3 ล้าน ฟังดูแล้วเหมือนเยอะมาก แต่เมื่อเทียบกับกิจการพลังงานแล้วมันจิ๊บจ๊อยมาก

หากประเทศไทยไม่ใช้ระบบสัมปทาน เราควรจะใช้ระบบไหน รวมถึงควรมีแผนในเรื่องพลังงานอย่างไร จึงจะเหมาะสมที่สุด

ประเทศไทยควรใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะระบบนี้ทำให้ได้เป็นเจ้าของแหล่งทรัพยากรทุกอย่าง รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ ผมมองว่าประชาชนไม่มีวันอยู่ดีกินดีได้ ถ้าหากว่าทรัพย์สินของรัฐบาล ทรัพย์สินของส่วนรวมไม่ได้นำมาพัฒนาหารายได้ หรือหากำไรเพื่อเอามาคืนทุนให้สังคม ดังนั้นการนำรายได้จากทรัพยากรของแผ่นดิน โดยเฉพาะก๊าซ หรือน้ำมันมาพัฒนาประเทศ จะทำให้สังคมอยู่กันอย่างราบรื่นสงบสุข ไม่มีความขัดแย้ง ดังนั้น ผมอยากให้ยุติการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ทันที

ต้องเข้าใจว่าน้ำมันเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของใครที่จะเอาไปปู้ยี่ปู้ยําได้ ฉะนั้นเมื่อ มัน เป็นของประชาชนแล้ว การจะเอาไปทำให้เกิดผลประโยชน์ มันต้องคิดให้ดีให้รอบคอบว่าเราเข้าใจตรงกันหรือไม่

ประเด็นที่มีความเข้าใจไม่ค่อยตรงกัน คือเรื่องระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต ผมจะแยกแยะให้ฟังว่าสัมปทานกับแบ่งปันผลผลิตมันต่างกันอย่างไร

ข้อแรกเลยสัมปทานคือ บริษัทสัมปทานเป็นเจ้าของ เราไม่มีสิทธิเลยนะ ขุดน้ำมัน ขึ้นมาเขาจะเอาไปทำอะไรต่ออะไร เราไม่มีทางรู้เลย นอกจากว่าเราอยากรู้ เขาไม่บอกเราก็ได้ ตัวอย่างเหมือนสัมปทานแร่ดีบุกในอดีต ทรัพยากรมหาศาลที่ภาคใต้ เป็นของประเทศไทย เป็นสินค้าส่งออกเป็นรายได้สำคัญของรัฐ เดี๋ยวนี้ไม่มีเหลือเลย เพราะให้สัมปทานหมดไป เราไม่รู้เลยว่าเราจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด ได้แค่ค่าสัมปทานปีต่อปี เพราะฉะนั้นในเรื่องสิทธิของการเป็นเจ้าของ เราควรจะได้สิทธิในเรื่องข้อแรกว่าเราต้องรู้ข้อมูลทั้งหมด ไม่ใช่ให้เขาไปแล้ว เขาเอาไปทำอะไรเราไม่รู้ รู้แต่ว่าถึงเวลาก็แบ่งให้เรา ถ้าสัมปทานจะไม่รู้เลยนะ ผมเชื่อว่าบางส่วนเขาก็หลอกเรา เพราะว่าเราไม่ได้ไปเริ่มต้นกับเขาตั้งแต่เริ่มก่อร่างงานขึ้นมา จนกระทั่งถูกดูดน้ำมันขึ้นมาใช่ไหม

ส่วนเรื่องของระบบแบ่งปันผลผลิต เราเริ่มต้น เราก็เป็นเจ้าของ คือ เราเรียกบริษัทเอกชนเข้ามาแบ่งปัน เช่น ฉันให้แก 30 เอาไหม และเราก็แบ่งกัน ถือว่าเป็นธรรม ไม่เหมือนระบบสัมปทาน เพราะสัมปทานถึงแม้จะมีเปอร์เซ็นต์ที่แบ่งให้ แต่เขาหลอกเราได้ เพราะเราไม่ได้คุม เราคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้นหาเราสามารถเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นแบ่งปันผลผลิตได้ เราจะมีสิทธิความเป็นเจ้าของ เราคุมได้ตั้งแต่การก่อร่างสร้างโครงการ ไปจนถึงได้เป็นเจ้าของทรัพยากร นอกจากนั้นน้ำมันที่ขุดขึ้นมา เราสามารถควบคุมได้ว่า เรา จะขายให้ใคร ราคาเท่าไร หรือว่าให้ประเทศเราเท่าไร สรุปว่าหากว่าเราบริหารจัดการเอง เราจะสามารถคุมเรื่องราคาได้ เช่น ราคานี้ส่งออก ราคานี้ขายให้คนไทย เมื่อเราสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ไม่มีใครมาหลอกเราได้ นอกจากข้าราชการหลอกกันเอง แล้วการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เราจะได้ผลประโยชน์ในเรื่องความมั่นคงของรัฐ เมื่อยามสงคราม ยามฉุกเฉิน เราจะคุมได้หมด

อีกประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเลยคือ Know How คือความรู้ทางเทคโนโลยี ผมรู้ว่าเมืองไทยที่กระทรวงพลังงาน มีคนดีเยอะแยะ แต่พวกนี้ปฏิบัติไม่เป็น ไม่เคยทำ มีอะไรก็จ้างเขาหมด แต่ถ้าใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตนะ รัฐเป็นเจ้าของ บอกว่ายูมาร่วมมือกับฉันนะเมื่อลงมือทำ เจ้าหน้าที่ก็ประกบทุกจุด จนถึงวันๆ หนึ่งเราก็เก่งขึ้น กลายเป็นว่าเราได้ Know How ด้วย เพราะฉะนั้นเรื่อง Know How เป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศด้อยพัฒนาควรจะเรียนรู้ นี่คือเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรจะตระหนัก

และประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงคือ สิทธิในการได้ใช้ทรัพยากร เมื่อมันได้ออกมาแล้ว รัฐต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า อันนี้ประชาชนเป็นเจ้าของ ถ้าหากทรัพยากรเป็นของประชาชน รัฐควรต้องมีกฎหมายอันหนึ่งมารองรับว่า ส่วนนี้ต้องคืนประชาชนเช่นว่า ได้กำไรมา 100 บาท ควรแบ่งเงินไปช่วยเหลือประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น 70 บาท อีก 30 บาทเข้าคลัง อย่างนี้โอเคแต่ เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เดี๋ยวนี้มันเข้ารัฐหมดแล้ว

นอกจากนั้นควรแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียมใหม่ โดยเฉพาะมาตราต่างๆ ที่ทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ เช่น การมอบอำนาจสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้กับบริษัทต่างชาติ ผมว่าข้อนี้ยอมไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่เป็นเมืองขึ้น เราเป็นประเทศที่มีเอกราช ไม่ว่าใครก็ตามที่รับสัมปทานจะต้องขึ้นต่อกฎหมายไทย คือ ใช้กฎหมายไทยเป็นหลัก

อีกเรื่องที่ผมเป็นห่วงคือ ตอนนี้แก๊สที่ขายให้ประชาชน ราคาแพงกว่าที่ขายให้บริษัทปิโตรเคมี รัฐบาลควรแก้ไขเป็นว่าแก๊สที่มีอยู่ในประเทศนี้ให้ภาคครัวเรือน ภาคขนส่งก่อน ประชาชนควรต้องซื้อถูกกว่าภาคปิโตรเคมี ดังนั้นประเด็นอยู่ที่ว่าประชาชนต้องได้ใช้ก่อน ไม่ใช่บริษัทปิโตรเคมีได้ใช้ก่อน

ถ้าสมมุติว่าไทยยังจัดการปัญหาทรัพยากรเรื่องพลังงานไม่ดี ประเทศไทยจะเกิดผลเลวร้ายเช่นไร

ดูตัวอย่างจากประเทศบราซิลได้ เขามีทรัพยากรเยอะแยะมาก แต่เขาใช้ระบบสัมปทาน รัฐเลยไม่ได้เข้ามาเป็นเจ้าของ กลายเป็นว่าตอนนี้สลัมในบราซิลใหญ่ที่สุดในโลก คนจนเต็มไปหมด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติดเต็มไปหมด ดังนั้นเรื่องนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าหากจัดการเรื่องพลังงานไม่ได้ จะทำให้ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์พลังงานเต็มที่

ตอนนี้บ้านเราก็เกือบจะไม่ต่างกัน ทุกวันนี้ปัญหายาเสพติดรุนแรงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความยากจน รัฐไม่ได้ดูแล หรือไม่มีงบที่จะมาดูแลสร้างอาชีพ ฝึกอาชีพ หรือให้การศึกษาฟรี นักศึกษาต้องกู้เงินเรียน ทำไมเขาจะต้องกู้เรียน ในเมื่อพ่อแม่เขาจ่ายภาษี ทุกวันนี้ภาษี 70% มาจากภาษีทางอ้อม คือทุกคนจ่ายภาษีเงิน ภาษีสรรพสามิต ภาษี 108 ซึ่งระบุอยู่แล้ว แล้วทำไมเราต้องมาจ่ายค่าเล่าเรียนหนังสืออีก บางทีเราก็ถูกล้างสมองด้วยแนวคิดของพวกเขาเรียกว่า “ทุนสามานย์” ว่าต้องคิดจากต้นทุนแท้จริง ต้องคิดราคาตลาด ต้องค้าเสรี วาทกรรมเยอะแยะไปหมด แต่มันทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง

ถ้าอย่างนั้นเราควรจะขจัดระบบทุนสามานย์ออกจากประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง

คือเราต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน รัฐธรรมนูญเราบอกว่า ประเทศไทยมีนโยบายค้าเสรี แต่ผมมองว่าค้าเสรีก็คือการเปิดช่องโหว่ให้เขาโจมตีได้ เราควรเปลี่ยนในรัฐธรรมนูญให้เป็น “ค้าเป็นธรรม” ซึ่งค้าเป็นธรรมก็สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงด้วย คือถ้าเราเขียนว่า ค้าเป็นธรรม เราจะมีเกราะป้องกันตัวแล้ว ถ้าเขาเข้ามาเปลี่ยน เราบอกการค้าไม่เป็นธรรม หรือการแข่งขันไม่เป็นธรรม เราจะสร้างเกราะคุ้มครองตัวเราเองได้ แต่เราแก้ไขที่รัฐธรรมนูญก่อน

ประเด็นที่ 2 เราต้องอย่าไปตกหลุมวาทกรรมการค้าเสรีว่ารัฐไม่ควรเข้ามาแข่งขันกับเอกชน ดูตัวอย่างจากสิงคโปร์ได้ เขาเป็นประเทศที่เรียกว่าทุนนิยมเสรีที่สุดในโลก เปิดกว้างที่สุดในโลก แต่ว่ารัฐบาลเขาตั้งกองทุนเทมาเส็กเป็นของรัฐ 100% ขึ้นมา เพื่อลงทุนแข่งกับเอกชน รัฐของเราควรจะทำได้เหมือนเขา แต่ของเรากลับไปตกหลุมวาทกรรมว่า เราต้องขายทุกอย่างที่เป็นทรัพย์สินของชาติ ควรให้เสรีหมด ให้เอกชนเอาไปกินหมด ให้ต่างชาติกินหมด แล้วต่อไปรัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาสร้างสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชน

สรุปผมมองว่าขณะนี้เราอยู่ในภาวะกฎอัยการศึก ดังนั้นผู้ที่อำนาจสูงสุด และมีอำนาจตัดสินใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้นอยากจะฝากถึงท่านว่า ประชาชนฝากความหวังไว้ที่ท่าน ต้องการเห็นท่านเป็นวีรบุรุษของชาติ ตอนนี้ท่านเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจตัดสินใจในการหยุดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เลยอยากให้หยุดการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นี้ ไม่ใช่มอบอำนาจให้ข้าราชการกลุ่มใดกลุ่มเดียว เรียกว่าตอนนี้ประชาชนมีความสุขได้ด้วยการตัดสินใจของท่านจริงๆ ครับ

ภาพโดย จิรโชค พันทวี



กำลังโหลดความคิดเห็น