xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.จี้กมธ.ยกร่างฯทบทวน ค้านตุลาการพ้นตำแหน่ง65ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (9ก.พ.) สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ที่ประชุมตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากราชการ เมื่อมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ และอาจรับราชการเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการอาวุโสต่อไปได้ จนมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ จากเดิมที่รัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้ตุลาการศาลปกครองพ้นจากราชการ เมื่อมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เนื่องจากเห็นว่า ส่งผลกระทบต่อจำนวนตุลาการศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดในอนาคต เพราะอายุเฉลี่ยของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองชั้นต้น อยู่ที่ 47 ปี และตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ที่ 58 ปี ดังนั้น หากตุลาการศาลปกครองพ้นจากราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี
จะส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจของบุคคลที่จะเข้าสมัครสอบคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครอง โดยจะเหลือเวลาเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด เหลือเพียง 5-6 ปีเท่านั้น จะทำให้ขาดตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเฉพาะมาพิจารณาพิพากษาคดี อีกทั้งการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 กำหนดให้คัดเลือกแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุด จะต้องมีสัดส่วนมาจากบุคคลภายนอกในอัตราส่วนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของตุลาการศาลปกครองสูงสุดทั้งหมด เงื่อนไขดังกล่าวยิ่งจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด และสุดท้ายอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อคุณภาพ การพิจารณาพิพากษาคดีและการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เพื่อพิจารณาและส่งความเห็นดังกล่าวให้ กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป

**กสม.รวมผู้ตรวจฯกระทบสิทธิมนุษยชน

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสรุปเบื้องต้นให้ควบรวม ผู้ตรวจการแผ่นดินกับ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรใหม่ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน" ว่า ในฐานะที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมมายาวนาน ในเรื่องของ ดิน น้ำ ป่า และสิทธิชุมชน เท่าที่รับฟังมา กล่าวได้ว่า องค์กรภาคประชาชนรวมทั้งผม ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะทำให้เกิดความสับสน และพร่ามัวในการทำหน้าที่ขององค์กรใหม่นี้
ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีภารกิจมุ่งตรงสู่การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ที่ไปตรวจสอบกระทรวงต่างประเทศในการออกพาสปอร์ตให้กับ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีอาญาแผ่นดินไปอยู่ต่างประเทศ แต่กสม.มีภารกิจทั้งการตรวจสอบ และการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิของชุมชนและของประชาชนที่ถูกละเมิด
นายประสาร กล่าวต่อว่า จริงอยู่ กสม. มีงานบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ กสม. มีขอบเขตพื้นที่ที่กว้างขวาง และไปไกลกว่าการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเข้าไปแบกรับภารกิจต้านยันการคุกคามทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิทธิของชุมชน และของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤตประเทศยุคนี้ คือปัญหาอำนาจรัฐผนวกอำนาจทุนกำลังแย่งยึด ดิน น้ำ ป่า สินแร่ และพลังงานใต้ดิน ใต้น้ำ ที่เป็นสมบัติของแผ่นดินซึ่งจะเป็นความขัดแย้งหลักของประเทศไทยในระยะต่อไป
"เรื่องนี้เป็นพื้นที่ใหญ่มาก ที่ต้องการองค์กรจำเพาะมาทำหน้าที่แบบรวมศูนย์จึงจะเกิดผลที่เป็นคุณูปการจริงต่อชุมชนทั่วประเทศได้ และถ้าดูจากร่างของ กมธ.ยกร่างฯ ก็ได้บัญญัติเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" ไว้ในหมวด 2 ใน มาตรา 35-46 รวมถึง 12 มาตราด้วยกัน แปลว่า งานด้านนี้มีนัยยะสำคัญต่อประเทศชาติมาก" นายประสาร กล่าว
นายประสาร ยังกล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่ง งานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนเป็นภารกิจสากลที่สหประชาชาติรับรองไว้ และยังมีองค์กรจำเพาะด้านสิทธิมนุษยชนใน 106 ประเทศ ซึ่งไทยเป็นสมาชิกและมีพันธกิจผูกพันในฐานะภาคีสมาชิก หาก กสม.ถูกยุบรวมดังกล่าว อาจทำให้ กสม. หลุดออกไปจากสิทธิมนุษยชนสากล เพราะบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนของไทย จะพร่ามัวไปทันที

**"ปนัดดา"เชียร์ตั้งกจต.จัดเลือกตั้ง

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ กกต. ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดตั้ง คณะกรรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ว่า สวนตัวเห็นว่า บทบาทของกกต. มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว แต่การที่จะมีหน่วยงานอื่นขึ้นมา ก็เพื่อเสริมการทำงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ให้การเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และ กกต.ถือเป็นผู้รับบทบาทหน้าที่หลัก ส่วนตัวคิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการลดบทบาทกกต. แต่อย่างใด ส่วนหน้าที่จะทับซ้อนกันหรือไม่นั้น คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขบคิดกันต่อไป

**สปช. เห็นชอบรายงานวิสาหกิจเพื่อสังคม

วานนี้ ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณารายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)และ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมการศึกษาและจัดทำรายงานเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมร่างกฏหมาย สปช. ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่ 1 เป็นประธาน ได้ศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้เสนอต่อที่ประชุมสปช. ให้มีการพิจารณาและลงมติเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. เห็นชอบกับรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมการฯ 2. เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ... และ 3. เห็นชอบให้ส่งรายงาน ตามข้อ 1 และ ร่าง พ.ร.บ. ตามข้อ 2 ให้คณะรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อสนช.ต่อไป
นายบวรศักดิ์ กล่าวนำเสนอหลักการ และเหตุผลตอนหนึ่งว่า กรอบแนวคิดของวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นหนึ่งในจิ๊กซอร์ที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างเกื้อกูลกัน ภายใต้รูปแบบองค์กรทางสังคม
ทั้งนี้ วิสาหกิจสังคม จะเป็นองค์กรที่ใช้วิธีบริหารกิจการเช่นเดียวกับบริษัทเอกชน แต่เป้าหมายสำคัญของการประกอบธุรกิจ คือ การนำกำไรที่ได้กลับคืนสู่สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีคุณภาพ จะต้องผลักดันนโยบาย และมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมในทุกระดับชั้น 2. ต้องนำการวิจัยและนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ 3. รัฐต้องสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในระยะเริ่มต้น 4. เปิดโอกาสให้จดทะเบียนรับรองสถานะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม 5. สร้างระบบการจดทะเบียนพาณิชย์ สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรมาแบ่งปันกัน 6. ต้องมีระบบกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม 7. สร้างระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน 8. สร้างระบบยกเว้นหรือลดภาษีสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 9. สร้างกลไกในทุกระดับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
จากนั้น สมาชิกสปช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับผลรายงานการวิจัย และ ร่าง พ.ร.บ.ฉบันนี้ สุดท้าย ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยคะแนน 230 ต่อ 2 งดออกเสียง 1 เสียง และ มีมติเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิก ด้วยคะแนน 220 งดออกเสียง 11 เสียง เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯนำไปปรับปรุงรายงานที่นำเสนอ และที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ตามที่คณะกรรมาธิการฯเสนอด้วยคะแนน 225 ต่อ 5 งดออดเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 และมีสมาชิกเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่สมาชิกได้อภิปราย ด้วยคะแนน 182 ต่อ 45 งดออกเสียง 7 ทั้งนี้ จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการฯเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อภายใน 7 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น