xs
xsm
sm
md
lg

สปช.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานคณะกรรมการศึกษาและจัดทำรายงานเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ให้แก้ไขภายใน 7 วัน



วันนี้ (9 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.20 น. การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.เป็นประธาน โดยมีวาระพิจารณารายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมการศึกษาและจัดทำรายงานเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมร่างกฎหมาย สปช.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้ศึกษาเสร็จสิ้นแล้วจึงได้เสนอต่อที่ประชุม สปช.ให้มีการพิจารณา และลงมติเพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้ 1.เห็นชอบต่อรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมการฯ 2.เห็นชอบต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ... และ 3.เห็นชอบให้ส่งรายงานตามข้อ 1 และร่าง พ.ร.บ. ตามข้อ 2 ให้คณะรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ สนช.ต่อไป

โดย นายบวรศักดิ์ กล่าวนำเสนอหลักการและเหตุผลตอนหนึ่งว่า กรอบแนวคิดของวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน ภายใต้รูปแบบองค์กรทางสังคม ทั้งนี้ วิสาหกิจสังคมคือ โดยจะเป็นองค์กรที่ใช้วิธีบริหารกิจการเช่นเดียวกับบริษัทเอกชน แต่เป้าหมายสำคัญของการประกอบธุรกิจ คือ การนำกำไรที่ได้จากการดำเนินการกลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษแห่งหนึ่ง รับบุคคลที่พ้นโทษเข้าเป็นพนักงานในบริษัท หรือรับบุคคลที่ทุพพลภาพเข้าทำงานในกิจการ แทนที่จะปล่อยให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวรอรับผลประโยชน์ หรือการสงเคราะห์จากสังคมเพียงอย่างเดียว

นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีคุณภาพ จะต้องผลักดันนโยบาย และมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.ส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมในทุกระดับชั้น 2.ต้องนำการวิจัยและนวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ 3.รัฐต้องสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในระยะเริ่มต้น 4.เปิดโอกาสให้จดทะเบียนรับรองสถานะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม 5.สร้างระบบการจดทะเบียนพาณิชย์ สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรมาแบ่งปันกัน 6.ต้องมีระบบกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม 7.สร้างระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน 8.สร้างระบบยกเว้น หรือลดภาษีสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม และ 9.สร้างกลไกในทุกระดับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

จากนั้น สมาชิก สปช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อผลรายงานการวิจัยและ ร่างพ.ร.บ.ฉบันนี้ ว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคมถูกต้องตามกฎหมาย โดย นายบวรศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายก่อนลงมติว่า จะนำสาระและข้อคิดไปปรับปรุงให้เหมาะสม ก่อนนำไปเสนอ ครม. และ สนช. และเมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็จะขอให้ สปช.เข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย เพราะร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกี่ยวกับการเงินแน่นอน

กระทั่งที่สุด ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยต่อรายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยคะแนน 230 ต่อ 2 งดออกเสียง 1 เสียง และมีมติเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิก ด้วยคะแนน 220 งดออกเสียง 11 เสียง เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ นำไปปรับปรุงรายงานที่นำเสนอ และที่ประชุมมีมติเห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอด้วยคะแนน 225 ต่อ 5 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 และมีสมาชิกเห็นด้วยต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขตามที่สมาชิกได้อภิปราย ด้วยคะแนน 182 ต่อ 45 งดออกเสียง 7 ทั้งนี้ จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อภายใน 7 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น