xs
xsm
sm
md
lg

ปปช.ฟ้องเอง"สมชาย-บิ๊กจิ๋ว" คดีสลายม็อบปี51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งในคดีที่ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งสลายการชุมนุมปี 2551 ในวันที่ 24 ก.พ. นี้ ว่า เรื่องนี้เมื่ออัยการสูงสุด(อสส.) ไม่ดำเนินการสั่งฟ้อง ทางป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องเอง โดยให้ทนายความดำเนินการฟ้องร้อง ส่งไปที่ศาลแล้ว และศาลก็นัดพิจารณาว่าจะรับฟ้องหรือไม่
นายวิชา กล่าวต่อว่า กระบวนการที่ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนมาในเรื่องนี้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีข้อสรุปของทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนปห่งชาติ (กสม.) ที่สรุปรายงานมาให้ด้วย และยังมีข้อสรุปของรัฐสภามาประกอบกันหลายส่วน แม้แต่ของผู้เชี่ยวชาญ และศาลปกครอง ที่เคยชี้ในเรื่องนี้ด้วยว่ากรณีกระทำการสลายการชุมนุมนั้นเกินขอบเขตหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้ ป.ป.ช.มีความมั่นใจ
เมื่อถามว่า ในคดีดังกล่าวฟ้องร้องเฉพาะนายสมชาย คนเดียวหรือไม่ นายวิชา กล่าวว่า นอกจากนายสมชายก็จะมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และครม.ในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอฟังว่า ศาลรับพิจารณาหรือไม่ เท่าที่ทราบศาลนัดเร็วๆ นี้ จำวันที่ไม่ได้แน่ชัด หากศาลสั่งออกมาก็ต้องเริ่มกระบวนการเตรียมสำนวน และอะไรต่ออะไร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของทนายความ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ส่งให้ทนายหมดแล้ว

**ปลุกประชาชนช่วยป.ป.ช.ปราบโกง

นายวิชา ยังกล่าวถึงกรณีที่ป.ป.ช.ต้องการให้ประชาชนหันมาช่วยกันร่วมแก้ไขปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ว่า ประชาชนต้องมีความตื่นตัว ร่วมแรงร่วมใจกับป.ป.ช.ในการทำงานเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะเรื่องการแจ้งเบาะแส ไม่ทอดทิ้ง สนับสนุน เคลื่อนไหวเพื่อให้เห็นว่า ประชาชนเป็นเกราะกำบังให้ป.ป.ช. และถึงแม้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ที่จะมีหลายคนต้องพ้นตำแหน่งไป ประชาชนก็ยังจะสนับสนุนการทำงานของป.ป.ช.ต่อไปได้ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยใสสะอาด ปราศจากทุจริต ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า เราเป็นคนที่ไว้วางใจได้ เชื่อถือได้ น่าศรัทธา ดังนั้นคดีต่างๆ ต้องทำให้ชัดเจน ทำให้มีความรู้สึกว่ามีพลังเพียงพอที่จะสนับสนุนได้ เพราะถ้าป.ป.ช.ไม่ทำให้เห็นชัดเจน ประชาชนก็คงไม่ต้องการเข้ามาสนับสนุน
นายวิชา กล่าวด้วยว่า เครื่องมือที่จะช่วยให้เห็นผลคือ ประชาชนต้องรู้ว่าเขาควรช่วยป.ป.ช.เฝ้าระวังในจุดไหน อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเรื่องการสอนให้รู้ว่า งบประมาณแผ่นดินนั้นมีเหตุที่จะโกงได้ในจุดไหน อย่างไร ชุมชนต่างๆ จะต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ และคอยช่วยเฝ้าระวัง เพราะการป้องกันการทุจริตไม่ใช่แต่เพียงว่า บอกว่าฉันจะเป็นคนดี เท่านั้นไม่พอ จะต้องอ่านเกมออก รู้ว่าบริษัทไหนเป็นของใคร ประมูลได้หรือไม่ได้ ต้องรู้และคอยเตือนผู้บริหารท้องถิ่นว่า ประชาชนรู้ทัน
เมื่อถามว่า เรื่องการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนนั้น ยังไม่ทั่วถึง นายวิชา กล่าวว่า ใช่ ยังมีปัญหาซึ่งคงต้องเพิ่มในลักษณะที่เรียกว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องเป็นข้อมูลที่เปิดเผยทั้งหมด ไม่ใช่เป็นข้อมูลที่เป็นความลับ อะไรก็บอกว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างนั้นไม่ใช่ หากเข้าสู่กระบวนการที่งบประมาณผ่านสภาแล้วก็ต้องนำเสนอผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ เข้าถึงได้หมด ถนนเส้นไหนที่จะซ่อม ขยาย เพราะถนนหนทางนี้เป็นเรื่องที่โกงได้ง่ายที่สุด เพราะงบประมาณจำนวนมาก หากรวมทั้งหมดมูลค่าเป็นแสนๆล้านบาท
ดังนั้น ต้องให้ประชาชนเรียนรู้กันตั้งแต่ระดับนักศึกษา อาทิ เรียนบัญชี เรียนวิศวกร ก็ต้องเรียนรู้ถึงจุดด้อย จุดด่างของวิชาชีพนั้นๆ ด้วยว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตได้อย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไร เช่น กรณีของการตรวจสอบบัญชี ไม่ใช่แค่เรียนรู้เพื่อไปตรวจบัญชีเฉยๆ แต่ต้องรู้ว่าที่มีการโกงกันแล้วถูกจับได้ หรือมีการนำงบประมาณไปใช้ได้ เงินไหลออกได้ เพราะมีการตรวจสอบบัญชีผิดพลาดอย่างไร วิศวกรก็เช่นกัน ต้องดูด้วยว่า จะไปรับรองในสิ่งที่ผิดได้อย่างไร ก็ต้องเรียนรู้ด้วย

**ปชป.หนุนตั้งศาลฉ้อราษฎร์ฯ

นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษก และฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสนอให้ตั้งศาลฉ้อราษฎร์บังหลวง ว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาเลวร้ายของชาติ การให้อำนาจตุลาการมาถ่วงดุล ตัดสินคดีการทุจริตจึงเป็นความหวังของสังคมไทย และที่ผ่านมาไทยก็มีศาลชำนาญการพิเศษ คือ ศาลเฉพาะ เช่น ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลล้มละลาย การตั้งศาลรับผิดชอบคดีทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นศาลเฉพาะจะทำให้สามารถยั้บยั้งการทุจริตได้ทันท่วงที
ดังนั้น คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรนำแนวทางนี้ให้เป็นรูปธรรมในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ การจะเสียงบประมาณสักหมื่นล้านบาท เพื่อเอาจริงกับเรื่องทุจริต ดีกว่าต้องให้ประเทศเสียหายไปปีหนึ่งเป็นเงิน 6 แสนล้านบาท โดยกำหนดให้ครอบคลุมคดีทุจริตทุกระดับ ทั้งระดับชาติ ท้องถิ่น ให้ถึงเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีตุลาการเพียงพอ เพื่อความรวดเร็วในการตัดสินคดี ภายใต้หลักนิติรัฐ และนิติธรรม เชื่อว่าไม่เกินความสามารถของ กมธ.ยกร่างฯ เพราะที่ผ่านมา แม้งบแผ่นดินเสียหายถึง 6 แสนล้านบาท ยังไม่สามารถจับกุมใครได้ ฉะนั้นอย่าลืมว่าการถ่วงดุลในระบบประชาธิปไตย อำนาจตุลาการเป็นอำนาจหนึ่งที่สังคมให้ความเชื่อมั่น และศรัทธา มีแต่คนที่คิดไม่ดีกับประเทศและคิดฉ้อราษฎร์บังหลวงเท่านั้นที่เกรงอำนาจตุลาการ เมื่อวิ่งเต้นตุลาการไม่ได้ คนเหล่านี้จึงตั้งเป้ามุ่งทำลาย เพราะเป็นก้างขวางคอ หากมีการตั้งศาลนี้เพื่อการปฏิรูป คนไทยจะชื่นชมทั้งประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น