xs
xsm
sm
md
lg

ลดพื้นที่ปลูก สปช.ชง8ข้อ แก้ราคายาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯ เผยจ่ายเงินช่วยชาวสวนยางไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว บอกต้องมีการขึ้นทะเบียนให้ชัดเจน จวกรัฐบาลก่อนหน้านี้บกพร่อง ไม่จัดการผู้บุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกยาง จนทำให้ปริมาณมากเกิน ด้าน"อุทัย" จี้รัฐบาลเร่งช่วยชาวสวนยางด่วน ก่อนยางผลัดใบ หวั่นชีวิตลำบาก อาจเปลี่ยนไปยึดมิจฉาชีพ ระบุ 16 มาตรการไม่ขยับ เหตุหน่วยราชการไม่สนอง พร้อมเสนอ 8 แนวทางแก้ไขปัญหา ส่วนที่ประชุม ครม.ถกขอเสนอลดพื้นที่ปลูกยาง 7 แสนไร่ ภายใน 7 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางว่า ขณะนี้ได้รับรายงาน ว่ามีการจ่ายเงินช่วยเหลือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว ซึ่งยังเหลืออีกเพียงเล็กน้อยที่ยังไม่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการขออนุมัติเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จ่ายไปหมดแล้ว ทั้งข้าวและยาง ซึ่งต้องเข้าใจว่า การจ่ายเงินนั้นต้องมีทะเบียนเกษตรกร ซึ่งอาจจะยังไม่มีความทันสมัยเพียงพอ แต่ถึงเวลาก็มาขอรับเงินช่วยเหลือ โดยสิ่งที่รัฐบาลต้องดูแล ยังมีเรื่องของผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นความบกพร่องของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ไม่อยากจะโทษใคร เพราะมีการสนับสนุนการปลูกยาง และได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า กลุ่มดังกล่าวก็ได้มาขอเงินช่วยเหลือด้วย รัฐบาลก็ช่วยเหลือ เพราะเห็นเป็นคนจน และให้มาทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังจะจัดระเบียบใหม่ ต้องมีการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นระบบ และแก้ไขเกษตรกร ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ หรือผู้บุกรุกอย่างไร เพราะถือว่าผิด ทั้งยังปล่อยปะละเลยมาโดยตลอด เมื่อจะจัดระเบียบก็บอกว่าประชาชนเดือดร้อน จึงขอให้ช่วยเหลือ ตนอธิบายว่าเดือดร้อนเพราะอยู่ในพื้นที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า หากอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม ก็อาจจะมีมาตรการผ่อนปรนให้

"ผมได้ถามไปแล้วว่า ให้เงินช่วยเหลือไปแล้ว 1 พันบาท เจ้าของสวนยางบอกว่าได้ แต่คนกรีดไม่ได้ เพราะคนกรีดจ้างมา ต้องเข้าใจว่าเรื่องของยางพารา ไม่ใช่แค่คนปลูก เพราะคนกรีดยังต้องจ้างอีก สองฝ่ายคนละ 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยไป 1 พันบาท คนกรีดไม่ได้ วันนี้เจ้าของสวนยางบอกอยากให้คนกรีดด้วย ปัญหามีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยจัดระเบียบใหม่ เพราะเป็นผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 2ก.พ. ผมได้นั่งคิดว่า เกษตรกรทุกกลุ่มทั้ง ยาง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง จะจัดระบบสหกรณ์มาใช้ได้หรือไม่ โดยการขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา เมื่อไปยุ่งกับกลไกมากๆ ทำให้เกิดการบิดเบือนราคา และระบบจะเสียไปหมด จะแก้กลับมาก็ต้องใช้เวลา แต่หากเราส่งเสริมในระบบสหกรณ์ได้ ก็จะสร้างความเข้มแข็ง หากสหกรณ์ต้องการเงินทุน เราก็พร้อมสนับสนุน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอฝากไปยังเกษตรกรชาวสวนยางว่า รัฐบาลพยายามเร่งรัดการช่วยเหลือทั้งสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศ โดยจะมีการหารือให้เร็วที่สุด ภายในสองสัปดาห์ เพื่อที่จะดูว่าสามารถใช้ยางภายในประเทศได้มากน้อยเพียงใด เพื่อเตรียมรับฤดูกรีดยางครั้งหน้า ให้ราคาดีขึ้น แต่วันนี้ต้องดูที่การลดต้นทุน เมื่อขายได้กก.ละ 60 บาท ก็แบ่งกับคนกรีด 50 เปอร์เซ็นต์

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า หลังจากลงพื้นที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้สั่งการในเรื่องของการจัดตลาดกลางพืชผล โดยการเปิดตลาดแล้วเอาข้าวมาแข่งกันซื้อ โดยประชาชน ซึ่งราคาจะสูงกว่าท้องตลาด 800 บาท ส่งผลทำให้ประชาชนดีใจ วันนี้เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรให้เรียนรู้เรื่องการค้า การลงทุน ซึ่งการเปิดตลาดแบบนี้ ถือเป็นการขายตรงกับผู้บริโภค ถ้าไม่อย่างนั้นพ่อค้าคนกลาง จะเอากำไรไปหมด

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง พยายามทวงถามให้ สปช. ช่วยเหลือจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เราจึงจำเป็นต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือโดยด่วน เพราะอีกไม่นานยางจะผลัดใบ หากราคายางยังตกต่ำอยู่อย่างนี้เกษตรกรจะดำรงชีพด้วยความยากลำบาก และจะก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่นตามมา เช่น ปล้น ขโมย หรือ ค้ายาเสพติด ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ถ้ารัฐบาลไม่เร่งให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ตนคิดว่าในอนาคตและต่อเนื่องไปเกษตรกรจะเลิกกรีดยางและหันไปทำงานโรงงานกันหมด เพราะได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท ขณะที่กรีดยางได้ไม่ถึงวันละ 200 บาท

นายอุทัย กล่าวว่า ส่วน 16 มาตรการที่รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีออกมา ก็ยังไม่ขยับเท่าที่ควร บางมาตรการยังไม่ดำเนินการเลย มีการเรียกประชุม 20 ครั้ง จนผู้ประกอบการและเกษตรกรเบื่อหน่ายหมดแล้ว แต่ก็ไม่ขยับเขยื้อน เช่น มาตรการให้กู้เงินกับผู้ประกอบการหมื่นล้านบาทไปซื้อน้ำยางข้น เพื่อไปช่วยเหลือเกษตรกรในราคา 50 บาท แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ไม่ตอบรับ และติดระเบียบต่างๆ ดังนั้นตนขอเสนอแนวทางแก้ปัญหา 8 ข้อ คือ

1. รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สหกรณ์รับซื้อน้ำยางสดในราคาไม่ต่ำหว่ากิโลกรัมละ 50 บาท 2. สนับสนุนเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ สมาคมรับซื้อน้ำยางข้นดำเนินการรับซื้อน้ำยางสดราคาสูงขึ้น ภายใต้ 16 มาตรการที่รัฐบาลกำหนดไว้ 3. ขอให้รัฐบาลเร่งขายยางดีให้แก่ต่างประเทศ เช่น จีน ในราคายางดีกิโลกรัมละ 65 บาท 4. เร่งสนับสนุนเพิ่มมูลค่ายางพารา โดยนำปริมาณยางพาราไปทำถนน สนามฟุตซอล สนามเด็กเล่น ยางรถยนต์ให้หน่วยราชการของรัฐใช้

5. งบประมาณที่ภาครัฐช่วยเหลือต้องให้ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง อย่าให้กลุ่มผลประโยชน์ที่หากินกับยางพารา มารับผลประโยชน์ในส่วนนี้ 6. ต้องเร่งรัดมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่องจนกว่าระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ และเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและมีความเข้มแข็ง 7. เร่งเปิดช่องทางให้ 108 ตลาดของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เข้ามารับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรง และ 8.รัฐบาลต้องเข้าควบคุมและดูแล ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่แอบทำยางพาราไปเสนอขายแก่ต่างประเทศ ขายตัดราคา และขายต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น ทำให้กลไกลราคายางพาราบิดเบือนจากความเป็นจริง มีความผิด พ.ร.บ.ควบคุมยางพารา พ.ศ. 2542 โดย รมช.เกษตรฯ ต้องสอบสวนหาความจริงและเอาผิดลงโทษ

**ลดพื้นที่ปลูกยาง 7 แสนไร่ ใน 7 ปี

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมครม. นายกฯได้กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ในส่วนของการลดปริมาณการปลูกยาง ที่กระทรวงเกษตรฯ นำเรียนข้อมูล ที่มีแผนลดพื้นที่ปลูกยางพาราลง 7 แสนไร่ ภายในระยะเวลา 7 ปี จะทำให้ปริมาณการผลิตยางใกล้เคียงกับความต้องการของยางในตลาด ซึ่งนายกฯให้แนวทางไว้ว่า ถ้าเราจะลดพื้นที่ทั้งหมดพร้อมกัน คงเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นความเคยชิน หรือวัฒนธรรมของเกษตรกรแล้วก็ได้ จะขอให้ลดการปลูกคงเป็นไปได้ยาก นายกฯจึงให้ความเร่งด่วน กับพื้นที่ปลูกที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน แต่ได้ปลูกไปบ้างแล้ว ส่วนนี้ให้ไปลดพื้นที่การปลูกตรงนี้ก่อน จึงมอบหมายให้หน่วยงานเข้าไปรับซื้อ หรือตัดต้นยาง เพื่อทำประโยชน์ด้านต่างๆ

ขณะเดียวกัน นายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการดูแลประชาชนว่าการที่ลดพืนที่การปลูก ไม่ใช่การไล่เขาออกจากพื้นที่อย่างเดียว แต่ต้องดูความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นด้วย อาจจะต้องเยียวยาค่าเสียหาย หรือ รับซื้อต้นยางที่ปลูกไปแล้ว ก็ขอให้ไปหามาตรการที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ได้สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันนำเสนอพื้นสนามกีฬาที่ผ่านมาตรฐานในระดับนานาชาติที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้เวลา 2 สัปดาห์ รวบรวมความต้องการของทุกกระทรวงทบวง กรม ที่มีแผนงาน กิจกรรม โครงการ ทีี่จำเป็นต้องใช้แผ่นยาง เพื่อรวบรวมความต้องการได้ ว่าจะต้องดำเนินการจัดซื้อยางในปริมาณเท่าไร เพื่อรับรองโครงการแผนงานของแต่ละกระทรวง เพื่อเป็นการแก้ปัญหายางทั้งระบบ เพราะเมื่อเรารู้ว่าเราจะซื้อยางเท่าไร จะได้คำนวนต้นทุน และค่าใช้จ่าย ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ช่วยยกระดับราคายางได้
กำลังโหลดความคิดเห็น