xs
xsm
sm
md
lg

คนสจล.แห่ปิดบัญชีไม่เชื่อถือธนาคารตร.โวรู้ตัว“บอส”แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตร.ฟุ้งเห็นเค้าลางตคนบงการแล้ว เร่งสรุปคดีลักเงิน สจล. แยก 5 สำนวนต่างกรรมต่างวาระ เผย “กิตติศักดิ์” ยังกบดานยุโรป ด้าน สจล.เอาจริง!! ปิดทันที 3 บัญชีของ ธ.ไทยพาณิชย์ ไล่เช็คจ่อปิดอีก 30 บัญชี “เผ่าภัค” เผยคนขาดความเชื่อมั่นดอดปิดบัญชีไทยพาณิชย์พรึ่บ ระบุยอดหลายร้อยล้าน เล็งถามความสมัครใจบุคลากรย้ายบัญชีเงินเดือน ขณะที่ “จำรูญ” สรุปยอดเสียล่าสุด จำนวน 1,586 ล้าน ชี้หากมีปลอมลายเซ็ฯแบงค์ต้องรับผิดชอบด้วย

วานนี้ (2 ก.พ.) ที่กองปราบปราม พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาการผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดีฉ้อโกงเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอหลักฐานทางเอกสารหลายรายการก่อนจะนำมาสรุปคดีอีกครั้ง โดยได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.ณษ เสวตเลข รอง ผบก.ป. ในฐานะเจ้าของสำนวน จัดทำสำนวนทางคดีให้แน่นหนา โดยแยกเป็น 5 คดีต่างกรรมต่างวาระ ส่วน นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหารายสำคัญที่อยู่ระหว่างการหลบหนีนั้น ตนได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตํารวจกองการต่างประเทศไว้แล้ว โดยให้เขาเร่งรัดเรื่องการถอดถอนหนังสือเดินทางของนายกิตติศักดิ์ และตรวจสอบสถานที่ที่นายกิตติศักดิ์กบดาน

“ล่าสุดทราบว่านายกิตติศักดิ์ยังอยู่ที่ยุโรป ในส่วนของหลักฐานจากธนาคารต่างๆนั้น ก็ใด้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยได้ส่งหลักฐานมาให้เราเรื่อยๆ เชื่อว่าอีกไม่นานจะสาวไปถึงตัวการใหญ่ในขบวนการนี้อย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ก็เห็นเงาลางๆแล้ว” พ.ต.อ.อัคราเดช ระบุ

อีกด้าน ผศ.ดร.เผ่าภัค ศิริสุข รักษาการแทนรองอธิการบดี สจล.ในฐานะกำกับดูแลส่วนการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ สจล.อยู่ระหว่างการพิจารณาบัญชีทั้งหมดของ สจล.ว่ามีจำนวนกี่บัญชี และบัญชีใดบ้างที่สามารถปิดหรือโยกย้ายได้บ้าง เพื่อให้มีจำนวนบัญชีน้อยลงและง่ายต่อการบริหารจัดการและตรวจสอบ โดยเฉพาะบัญชีที่ทำธุรกรรมร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณากระจายไปยังธนาคารของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายธนาคารเสนอรูปแบบการให้บริการในการดูแลเงินฝากประจำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเข้ามาให้พิจารณาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบจำนวนบัญชีพบว่า บัญชี ที่ สจล.ฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ มีประมาณ 70 บัญชี โดยกำลังตรวจสอบว่ามีบัญชีใดที่สามารถปิดได้โดยไม่กระทบกับการเบิกจ่าย เบื้องต้นมีประมาณ 30 บัญชีที่สามารถทยอยปิดได้โดยไม่กระทบกับการบริหารงานของสถาบันฯ และมี 3 บัญชียอดเงินประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นบัญชีแบบเงินฝากประจำและออมทรัพย์ที่สามารถปิดได้ทันที

ผศ.ดร.เผ่าภัค กล่าวต่อว่า เร็วๆนี้จะทำหนังสือเวียนสอบถามไปยังคณาจารย์และบุคลากรของสถาบันฯว่าจะยังคงใช้บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นบัญชีเงินเดือนตามเดิมหรือไม่ เนื่องจากพบว่าบุคลากรส่วนใหญ่ไม่สบายใจที่จะใช้บัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป และเท่าที่ทราบมีบุคลากรที่เปิดบัญชีส่วนตัวไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทยอยถอนเงินและปิดบัญชีไปแล้ว รวมเป็นเม็ดเงินหลายร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเปิด-ปิดบัญชีเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่ง สจล.จะไม่บังคับขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของบัญชี โดยปัจจุบันการจ่ายเงินเดือนบุคลากรนั้น สจล. ใช้บริการธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ส่วนใหญ่บุคลากรเลือกใช้ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาตั้งสาขาในสถาบันฯเป็นที่แรกๆ

“ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอน และเป็นผู้ที่พบความผิดปกติแต่ต้น ขณะเดียวกันก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นก็ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายแม้จะมั่นใจในความสุจริตของผมก็ตาม ซึ่งอยากให้เรื่องจบโดยเร็ว และที่ผ่านมาได้เข้าให้ปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.57 ส่วนเรื่องการลงนามเบิกถอนนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอน แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่เซ็นแล้ว มีตัวเลขเข้าบัญชี แต่เงินกลับหายไป” ผศ.ดร.เผ่าภัคกล่าว

ด้าน รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดี สจล. กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ส่งสำเนาเอกสารให้สถาบันฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะเป็นเอกสารบางส่วนที่ยังไม่ใช่เอกสารสำคัญที่จะสาวถึงผู้กระทำผิด ส่วนใหญ่เอกสารที่ส่งมานั้นจะเป็นสลิปการเบิกถอน แต่ไม่มีข้อมูลว่าเงินที่ถอนแล้วถูกส่งไปที่ใคร ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและสถาบันฯต้องการ ดังนั้นในวันที่ 3 ก.พ.นี้ จะทำหนังสือถือธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้ง เพื่อขอเอกสารสำคัญ โดยครั้งนี้สถาบันฯ จะระบุรายการเอกสารที่ต้องการแนบไปด้วย ทั้งนี้ กรณีที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ให้ นายทรงกลด ศรีประสงค์ ขณะที่เป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ นำใบถอนเงินให้ผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายของสถาบัน ลงนามย้อนหลัง ขณะนี้ทราบแล้วว่า อดีตผู้บริหารของสถาบันระดับอธิการบดี และรองอธิการบดีลงนามจริง โดยเป็นการลงนามย้อนหลังกว่า 30 รายการ แต่ที่ยังต้องตรวจคือ ลายเซ็นของอดีตผู้บริหารสถาบันฯ ที่ลงนามไปนั้นเป็นของจริงหรือไม่ หากพบว่าเป็นลายเซ็นปลอม ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย

“จากการตรวจสอบยอดตัวเลขความเสียหายล่าสุดอยู่ที่ 1,586 ล้านบาท แบ่งเป็นลักษณะความเสียหาย คือ กลุ่มแรก มีเอกสารที่ลงนามโดยผู้บริหารที่มีอำนาจเปิด-ปิดบัญชี จริง แต่เงินไม่ได้ถูกโอนไปในบัญชีของ สจล.จริง กลุ่มที่สอง เป็นเงินที่ผู้บริหารไม่ได้สั่งการใดๆ ให้ปิดหรือเปิด แต่เงินหายไปเฉยๆ ซึ่งล่าสุดที่ตรวจพบคือ แคชเชียร์เช็ค 14 ใบ รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท สั่งจ่ายในนามบุคคล 3 คนซึ่งไม่ใช่ชื่อของ สจล. คือ นายกิตติศักดิ์ นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท และ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.กองคลัง สจล. และขณะนี้ได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินย้อนหลังถึงปี 2554 แล้วยังไม่พบความผิดปกติเพิ่มเติมแต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะพบความผิดปกติใดอีกหรือไม่” รศ.ดร.จำรูญ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น