xs
xsm
sm
md
lg

สจล.ปิด 3 บัญชี ไทยพาณิชย์ มูลค่า 60 ลบ. จ่อคิวอีก 30 บัญชี “จำรูญ” ลั่นฟ้องทันทีหลังสรุปคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สจล. เอาจริง! ปิดทันที 3 บัญชีของ ธ.ไทยพาณิชย์ มูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท รอคิวทยอยปิดอีกประมาณ 30 บัญชี “เผ่าภัค” เผยคน สจล. ขาดความเชื่อมั่นดอดปิดบัญชีส่วนตัวที่เปิดกับ ธ.ไทยพาณิชย์ ยอดหลายร้อยล้านบาท ระบุเตรียมส่งหนังสือเวียนถามความสมัครใจบุคลากรที่มีบัญชีเงินเดือนกับแบงค์ดังกล่าวจะคงไว้ตามเดิมหรือไม่ ขณะที่ “จำรูญ” สรุปยอดเสียล่าสุด จำนวน 1,586 ล้านบาท ลั่นทันทีที่คดีสรุปชัดเดินหน้าฟ้องร้องทันที

วันนี้ (2 ก.พ.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผศ.ดร.เผ่าภัค ศิริสุข รักษาการแทนรองอธิการบดี สจล. ในฐานะกำกับดูแลส่วนการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ สจล. อยู่ระหว่างการพิจารณาบัญชีทั้งหมดของ สจล. ว่า มีจำนวนกี่บัญชี และบัญชีใดบ้างที่สามารถปิด หรือโยกย้ายได้ เพื่อให้มีจำนวนบัญชีน้อยลงและง่ายต่อการบริหารจัดการและตรวจสอบ โดยเฉพาะบัญชีที่ทำธุรกรรมร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณากระจายไปยังธนาคารที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะกระจายไปในธนาคารของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งที่ผ่านมา มีหลายธนาคารเสนอรูปแบบการให้บริการในการดูแลเงินฝากประจำเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเข้ามาให้พิจารณาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบจำนวนบัญชีพบว่า บัญชี ที่ สจล. ฝากไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ มีประมาณ 70 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีในหลายลักษณะ อาทิ บัญชีโครงการ ทุนวิจัย ฯลฯ โดยกำลังตรวจสอบว่ามีบัญชีใดที่สามารถปิดได้โดยไม่กระทบกับการเบิกจ่าย แต่เบื้องต้นมี ประมาณ 30 บัญชีที่สามารถทยอยปิดได้โดยไม่กระทบกับการบริหารงานของสถาบันฯ และมี 3 บัญชียอดเงินประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นบัญชีแบบเงินฝากประจำและออมทรัพย์ที่สามารถปิดได้ทันที
 
ผศ.ดร.เผ่าภัค กล่าวต่อว่า เร็วๆ นี้จะทำหนังสือเวียนสอบถามไปยังคณาจารย์และบุคลากรของสถาบันฯ ว่า จะยังคงใช้บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เป็นบัญชีเงินเดือนตามเดิมหรือไม่ เนื่องจากพบว่าบุคลากรส่วนใหญ่ไม่สบายใจ ที่จะใช้บัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ต่อไป และเท่าที่ทราบมีบุคลากรที่เปิดบัญชีส่วนตัวไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ทยอยถอนเงินและปิดบัญชีไปแล้ว รวมเป็นเม็ดเงินหลายร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเปิด - ปิดบัญชีเป็นเรื่องส่วนบุคคล ซึ่ง สจล. จะไม่บังคับขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเจ้าของบัญชี โดยปัจจุบันการจ่ายเงินเดือนบุคลากรนั้น สจล. ใช้บริการธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ส่วนใหญ่บุคลากรเลือกใช้ธนาคารไทยพาณิชย์ เข้ามาตั้งสาขาในสถาบันฯ เป็นที่แรกๆ
 
“ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจลงนามเบิกถอน และเป็นผู้ที่พบความผิดปกติแต่ต้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นก็ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายแม้จะมั่นใจในความสุจริตของผมก็ตาม ซึ่งอยากให้เรื่องจบโดยเร็ว และที่ผ่านมาได้เข้าให้ปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2557 ส่วนเรื่องการลงนามเบิกถอนนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอน แต่ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่เซ็นต์แล้ว มีตัวเลขเข้าบัญชีแต่เงินกลับหายไป”ผศ.ดร.เผ่าภัค กล่าว
 
ด้าน รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดี สจล. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ส่งสำเนาเอกสารให้สถาบันฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจบ้างแล้ว แต่ยังไม่เป็นทีพอใจเพราะเป็นเอกสารบางส่วน ที่ยังไม่ใช่เอกสารสำคัญที่จะสาวถึงผู้กระทำผิด ส่วนใหญ่เอกสารที่ส่งมานั้นจะเป็นสลิปการเบิกถอน แต่ไม่มีข้อมูลว่าเงินที่ถอนแล้วถูกส่งไปที่ใคร ซึ่งตรงถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสถาบันฯต้องการ ดังนั้นในวันที่3 กุมภาพันธ์ จะทำหนังสือถือธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้ง เพื่อขอเอกสารสำคัญ โดยครั้งนี้สถาบันฯ จะระบุรายการเอกสารที่ต้องการแนบไปด้วย ทั้งนี้ กรณีที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ให้ นายทรงกลด ศรีประสงค์ ขณะที่เป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ นำใบถอนเงินให้ผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายของสถาบัน ลงนามย้อนหลัง ขณะนี้ทราบแล้วว่า อดีตผู้บริหารของสถาบันระดับอธิการบดี และรองอธิการบดีลงนามจริง โดยเป็นการลงนามย้อนหลังกว่า 30 รายการ แต่ที่ยังต้องตรวจคือ ลายเซ็นของอดีตผู้บริหารสถาบันฯ ที่ลงนามไปนั้นเป็นลายเซ็นต์จริงหรือไม่ หากพบว่าเป็นลายเซ็นปลอมทางธนาคารไทยพาณิชย์ ก็จะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ข้อสรุปทางคดีความแล้วว่าใครมีความผิดอะไรบ้าง และใครต้องรับผิดชอบส่วนใด อย่างไรบ้างก็จะต้องมีการฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาต่อไป
 
“จากการตรวจสอบยอดตัวเลขความเสียหายล่าสุดอยู่ที่ 1,586 ล้านบาท แบ่งเป็นลักษณะความเสียหาย คือ กลุ่มแรก มีเอกสารที่ลงนามโดยผู้บริหารที่มีอำนาจเปิด - ปิดบัญชี จริง แต่เงินไม่ได้ถูกโอนไปในบัญชีของ สจล. จริง กลุ่มที่สอง เป็นเงินที่ผู้บริหารไม่ได้สั่งการใดๆ ให้ปิดหรือเปิด แต่เงินหายไปเฉยๆ ซึ่งล่าสุดที่ตรวจพบ คือ แคชเชียร์เช็ค 14 ใบ รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท สั่งจ่ายในนามบุคคล 3 คนซึ่งไม่ใช่ชื่อของ สจล. คือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด, นายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท, น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.กองคลัง สจล. และขณะนี้ได้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินย้อนหลังถึงปี 2554 แล้วยังไม่พบความผิดปกติเพิ่มเติมแต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะพบความผิดปกติใดอีกหรือไม่”รศ.ดร.จำรูญ กล่าว



ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น