ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทันทีที่ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา เพียงระยะเวลาแค่ 1 เดือน กลับเกิดเหตุทารุณกรรมสัตว์ ยิงสุนัขตายอย่างโหดเหี้ยมขึ้น 2 กรณีด้วยกัน
กรณีที่ 1เกิดขึ้นเมื่อวันที่16 ม.ค.58 ที่นายวิชา บุญลือลักษณ์ ซึ่งเป็นอดีตตำรวจ ได้ใช้ปืนยิงสุนัข ชื่อ “เจ้าซื่อบื้อ” ตายหน้าห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว
กรณีที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 58 เหตุสุนัขสีดำถูกยิงตายที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนี่งแชร์ภาพชายคนหนึ่งแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทับลาน เป็นผู้ก่อเหตุ
ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ยุคสมัยที่มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยี กลับไม่ได้มีความเจริญทางด้านสติปัญญาและยกระดับจิตใจคนในสังคมให้สูงขึ้นได้ และที่น่ากังวลใจไปกว่านั้น หากผู้ที่ลงมือก่อเหตุกลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง สังคมคงหวังพึ่งพาให้จัดการแก้ปัญหาอย่างจริงจังได้ยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มีที่มาที่ไปในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาจากชัยชนะของภาคประชาชน ซึ่งได้ให้ความสนใจ ร่วมลงรายชื่อสนับสนุน 1 แสนกว่ารายชื่อ เพียงระยะเวลาไม่ถึง 3 อาทิตย์ โดยมีกลุ่ม A Call for Animal Righs Thailand และกลุ่มองค์กรที่ทำงานเพื่อสัตว์อีกหลายหน่วยงานได้ร่วมกันต่อสู้ ร่วมกันกับภาคประชาชน ผลักดันกฎหมายฉบับนี้จนประสบผลสำเร็จ
สำหรับหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้อยู่ในหมวด 5 ว่าด้วยการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ที่ระบุไว้ว่า
มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร อาทิ การเฆี่ยน ทุบตี แทง เผา ลวก หรือกระทำการอื่นใดในลักษณะที่มีผลให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน พิการ หรือตาย โดยไม่จำเป็น รวมไปถึงการใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร เลี้ยงหรือกักขัง สัตว์ในที่แคบ พรากแม่และลูกสัตว์ที่ยังไม่หย่านม และทอดทิ้งสัตว์เพื่อให้พ้นภาระ
หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ
ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้ว ผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะปล่อยปะละเลยให้สัตว์เลี้ยงของตนมาก่อความรำคาญ เลี้ยงดูแบบไม่สนใจไยดี ไม่ได้อีกแล้ว เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้การคุ้มครอง เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกทารุณกรรม อีกทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของสัตว์ ยังต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์
ทว่า เมื่อกฎหมายบังคับใช้ได้ไม่ถึง 1 เดือน แต่ได้เกิดปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นการท้าทาย พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ จนกลายเป็นประเด็นที่สังคมถกเถียงกันว่า กฎหมายฉบับนี้ใช้ได้ผลหรือไม่?
สำหรับกรณี “เจ้าซื่อบื้อ” นายวิชาให้เหตุผลว่าสุนัขวิ่งไล่เห่ารถ เบื้องต้นได้ถูกแจ้งดำเนินคดี 3 ข้อหา คือ ทารุณกรรมสัตว์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์, ทำให้เสียทรัพย์ และพ.ร.บ.อาวุธปืน และได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาทางญาติของนายวิชาได้ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 1.5 แสนบาท ขอปล่อยชั่วคราว
หลังเจ้าซื่อบื้อเพิ่งถูกยิงตายเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เจ้าของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Champ fabregas ได้แชร์คลิปวิดีโอภาพชายแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งยานทับลาน ฆ่าสุนัขสีดำ โดยเหตุเกิดขึ้นต่อหน้านักท่องเที่ยวที่มาพักผ่อนกางเต้นท์บริเวณผาเก็บตะวัน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก
และต่อมา วันที่ 23 ม.ค. 58 นายพเยาว์ จิ๊วฉิมภาลี ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ ว่าตนเองเป็นผู้ลงมือก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงสุนัขเสียชีวิต แต่จากการสอบสวนนายพเยาว์ได้ให้การวกวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า จะทำการสอบสวนอีกครั้ง และนั่นจึงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนที่มามอบตัวจะไม่ใช่ผู้ที่ลงมือก่อเหตุเอง
เจ้าของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Champ fabregas และนักท่องเที่ยวผู้อยู่ในเหตุการณ์ขอสงวนนาม ได้เปิดเผยกับ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ว่าคนที่ลงมือยิงสุนัขอาจไม่ใช่นายพเยาว์ และคาดว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทับลานเป็นผู้ก่อเหตุ โดยวินาทีที่สุนัขสีดำถูกยิงยังวิ่งกลับมาตายต่อหน้าให้เห็น คล้ายต้องการสื่อสารให้ช่วยเหลือ
“เวลาประมาณ 10 โมง หลังจากที่เราซื้อของตรงร้านถ่ายรูปเสร็จ ก็เดินกลับมาเพื่อจะเก็บเต้นท์ ทีนี้คือลืมของที่เราซื้อไว้ แฟนก็เลยอาสาเก็บเต้นท์ให้ ส่วนตัวเราอาสาเดินกลับไปเอาของที่ลืม และก็เอาขยะไปทิ้งจากจุดกางเต้นท์ โดยระยะทางห่างประมาณ 200 เมตร พอเราเดินผ่านกลุ่มคนซึ่งกำลังซ่อมแทงก์น้ำ โดยแต่งกายสวมชุดกางเกงลายพราง เสื้อยืด เห็นมีคนขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา แต่งกายสวมเสื้อคลุมสีดำ กางเกงยีนขาสั้น ซึ่งคนคนนี้คือคนเดียวกันกับที่เก็บศพสุนัข เขาขับรถสวนเข้าไปทักคนกลุ่มนี้บอก สวัสดีครับ และคนกลุ่มนี้ จากการทำงานกันอยู่ก็ลุกขึ้นมายืนคุยกัน
“และช่วงที่เราเดินผ่าน สุนัขตัวสีดำยังตามเราไป เราจึงหันกลับมามอง มาเล่น สองสามครั้ง ยังบอกเขาอยู่ว่า ตามมาทำไม จากนั้นเราก็เดินผ่านไป ชั่วประเดี๋ยวเดียว ได้ยินเสียงปืนแก๊ปดังขึ้น1นัด พอดังขึ้นเราก็ตกใจ เพราะด้วยความไม่ได้ห่างกันมาก และคนในกลุ่มนั้นก็พูดขึ้นว่า ยิงป่ะวะ โดนมั้ยๆอย่างสนุกสนาน จากนั้นนักท่องเที่ยวก็ยืนมุงกัน คนอื่นก็บอกว่าหมาโดนยิง แฟนก็บอกกับเราว่า เธอใครยิงไม่รู้ เราก็เลยชี้ไปที่คนขี่รถจักรยานยนต์คันนั้นแล้วบอกว่า พี่อยู่ตรงนั้น ตรงที่มีเสียงปืนดัง ทำไมพี่จะไม่รู้ว่าเป็นใคร เขาก็รีบบอกว่าไม่รู้ๆ ผมไม่รู้เดี๋ยวผมไปตามเจ้าหน้าที่ให้ เขาก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไป ไม่ถึง5นาที เขาขับรถกระบะคันสีฟ้าของอุทยานฯมา บึ่งรถฝุ่นตลบมาเลย และเก็บศพสุนัขสีดำขึ้นกระบะอย่างรวดเร็ว”
เก๋-ชลลดา เมฆราตรี ประธานมูลนิธิ The Voice เสียงจากเรา ที่ดูแลติดตามคดีนี้ได้บอกว่าคุณแชมป์ (นักท่องเที่ยวที่โพสต์เฟซบุ๊กสุนัขสีดำถูกยิง) ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือมาทางเดอะวอยซ์โดยตรง
“กรณีสุนัขที่ถูกยิงที่อุทยานฯทับลาน ต้องบอกเลยว่า ทุกอย่างต้องว่าไปตามหลักฐาน ซึ่งคำพูดตอนนี้ใครก็พูดได้ และทางเรามีพยานตัวอย่าง ซึ่งกล้าสู้คดีเพื่อเรียกร้องสิทธิเพื่อน้องดำ โดยเป็นพยานปากเอกที่สำคัญมากๆ เพราะสองคนนี้เห็นว่าใครเป็นผู้ทำหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้ทำ ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับผู้ที่ยิงได้แล้วเป็นตัวจริง เก๋ก็จะดีใจมากที่เจ้าหน้าที่จับผู้ร้ายได้ภายในข้ามคืน แต่ถ้าไม่ใช่ตัวจริงก็ต้องว่าไปตามเหตุว่าเป็นคนนี้ได้ยังไง และมีการดำเนินคดีความยังไงบ้าง”
“ในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทย เสียภาษีให้รัฐบาล และมีกฏหมายคุ้มครองพวกเราแล้ว ทำให้เรารู้สึกได้ไหมว่า สามารถไว้วางใจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้ เราต้องการเป็นสรรพเสียง แทนสรรพสัตว์ ชีวิตต่างๆที่ในวันนี้ อาจจะทำให้เจ้าที่บ้านเมืองทำงานมากขึ้นอีกหนึ่งหน้าที่ แต่เราก็อยากจะฝากความหวังไว้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้จับผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีให้ได้”เก๋-ชลลดาให้ความเห็น
ขณะที่ โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการมูลนิธิ Thai AGA และเป็นหนึ่งในกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ได้บอกว่าเหตุที่สุนัขถูกยิงนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจ ในการแก้ปัญหาของหน่วยราชการที่ควรทำตัวให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดี
“ถ้าคนของเขามีการทำผิดจริง ก็ควรจะต้องทำตัวให้เด็ดขาด อย่าปกป้องพวกของตัวเองในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเพื่อลดโทษ หรือว่าเพื่ออะไร มันไม่ใช่เรื่องอันควรที่ว่าจะต้องฆ่าสุนัข มันมีวิธีตั้งเยอะ เขาเป็นข้าราชการก็ควรจะรู้ดีที่สุดว่าการป้องกัน การแก้ปัญหาสัตว์ เขาควรใช้วิธีละมุนละม่อม โทร.เรียกกรมปศุสัตว์มาทำก็ได้ เรียกหน่วยไหนก็มาได้หมด ทำไมต้องใช้วิธีรุนแรง ไม่มีเหตุผล”
และทั้งหมดนั้นต้องบอกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยซึ่งยากยิ่งที่จะแก้ไข เพราะต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีกฎหมายดีๆ ที่ออกมาบังคับใช้มากมาย แต่ปัญหาก็คือ ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายต่ำมาก แถมตัวผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่ใช้และบ่อยครั้งทำผิดเสียเองอีกต่างหาก