xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เสธ.น้ำเงิน” รับงาน เชลียร์ “บิ๊กตู่” เสียสัตย์เพื่อทุนพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ไม่น่าเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) จะยอมเสียสัตย์เพื่อทุนพลังงาน ยืนกรานเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ชนิดกู่ไม่กลับ กลุ่มทุนกับนอมินีเลยได้ทีโหมโฆษณาชวนเชื่อปูพรมออกสื่อ แถมเรียกใช้บริการ “เสธ.น้ำเงิน” เชียร์สุดลิ่ม เอาใจท่านผู้นำ และสร้างความชอบธรรมให้“สัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส” นี้มันสุดยอดมาก

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า หลังจากที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 แทนที่พล.อ.ประยุทธ์ จะสดับรับฟังเสียงนั้นกลับยืนยันให้มีการเดินหน้าเปิดสัมปทานต่อไปโดยลืมไปเลยว่าเคยพูดเอาไว้ว่าอย่างไร

“กระทรวงพลังงานเดินหน้าอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะมีการเปิดสัมปทานในเดือน ก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก ไปหาเรื่องชี้แจง อย่าหาเรื่องออกมาเดินขบวนกันอีก....

“ตามกฎหมาย จริงๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงานเขามีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งพลังงาน เป็นอำนาจของเขาเลยนะ ใน ครม. เขาไม่ต้องขอผมด้วย เพราะเป็นอำนาจของกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่พันธกิจอย่างนั้น ในเมื่อเขาแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ที่ประชุมก็รับทราบ ผมก็เพียงแต่บอกว่าให้ไปหารือสิว่าจะเอายังไง แล้วก็ไปชี้แจงทำความเข้าใจมา ทีนี้ในเมื่อ สมมติ สปช. เขาไม่เห็นด้วย ไปดูสิว่าคณะกรรมาธิการเขาเสนอมาว่ายังไง เขาเสนอวิธีที่ 3 ใช่มั้ย ให้เลือกต่างๆ ตอนหลังก็แก้กลับมาว่าไม่ให้ทำ ก็ไปว่ากันมา ... (อาจจะมีบางกลุ่มออกมาเรียกร้อง) ออกมาไม่ได้อะ ไม่ให้ออก ไปชี้แจงโน่น อย่ามาหาเรื่องให้ออกมาเดินกันอีก” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2558

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2557 “บิ๊กตู่” พูดไว้อีกอย่างว่าจะฟังเสียงสปช. “แต่สิ่งสำคัญก็คือ บอกพวกเราสบายใจว่า ในเรื่องของ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอเปิดสำรวจ 29 แปลง หรือเรื่องราคาน้ำมัน หรือการปรับโครงสร้าง ผมได้สั่งการไปให้นำเข้าไปหารือในสภาปฏิรูปแล้ว ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพราะว่า คุณรสนา (โตสิตระกูล) อะไรเหล่านี้ก็อยู่ในสภาปฏิรูปอยู่แล้วนะ เราจะได้ไปหาข้อสรุปกันมาซะทีว่า เอ๊ะ! มันยังไงกันแน่นะ รัฐบาลก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามมติต่างๆ ที่ออกมาจากสภาปฏิรูปด้วยนะครับ”

เป็นอันว่าสิ้นสงสัยนี่แสดงว่ากลุ่มทุนพลังงานใหญ่คับฟ้าจริงๆ แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีเองก็ยังยอมตระบัดสัตย์เพื่อทุน แถมยังโยนไปให้กระทรวงพลังงานรับไปเต็มๆ ร้อนถึงนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องรีบแจ้นออกมาชี้แจงแถลงไขกับสังคมผ่านเฟสบุ๊ค

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ก็มีบุคคลสำคัญจากชาติมหาอำนาจเข้าพบนายณรงค์ชัย ที่กระทรวงพลังงานในทันทีที่รู้ว่า สปช.มีมติไม่เอาด้วยกับข้อเสนอเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมที่คณะกรรมาธิการ สปช. สายพลังงาน นำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สปช.

ข่าวจากกระทรวงพลังงาน เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2558 ระบุว่า อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (Mr. Patrick Murphy) ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายณรงค์ชัย อัครเศรณี เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยอุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้แสดงความชื่นชมถึงความร่วมมืออันดีในด้านต่างๆของทั้งสองประเทศเสมอมา

และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ อุปทูตสหรัฐฯ ยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างดียิ่งกระทั่งเป็นแบบอย่างในบรรดาชาติอาเซียน

“บิ๊กตู่” รู้ยังว่าทำไมอุปทูตสหรัฐฯ จึงต้องรีบแจ้นไปเยี่ยมรมว.กระทรวงพลังงานของไทยหลัง สปช. มีมติไม่เอาด้วยการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ถ้าไม่รู้จะบอกเพราะบริษัทอเมริกันครอบครองทรัพยากรปิโตรเลียมครึ่งประเทศไทย แต่ร่ำรวยกันขนาดไหนไม่รู้เพราะผลตอบแทนการลงทุนในสัมปทานปิโตรเลียมไทยมีอัตรากี่มากน้อยเท่าใดนั้นบริษัทบอกใครไม่ได้แม้แต่คณะกรรมาธิการพลังงาน สปช. เพราะเป็นความลับของบริษัท

“บิ๊กตู่” รู้ยัง สัมปทานปิโตรเลียมตามกฎหมายของไทยนั้น เป็นการยกสิทธิทั้ง 3 สิทธิ คือ สำรวจ ผลิต และยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมของชาติให้เอกชน ไม่ใช่อย่างที่ท่านว่า "การสำรวจ คือ สำรวจว่ามีเท่าไร อะไร ยังไง เขาจะคุ้มค่าหรือเปล่าก็ไม่รู้ เขาจะขุดมาได้หรือไม่ได้ไม่รู้"

อีกเรื่อง “บิ๊กตู่” รู้ยังว่าไม่ใช่อย่างที่ "กระทรวงบอกท่านว่า ถ้าสำรวจแล้วเจอ รัฐบาลสามารถแก้ไขผลประโยชน์ให้ประเทศได้" เพราะเมื่อให้สัมปทานไปแล้ว ข้อตกลงทุกอย่างเซ็นสัญญาไปแล้ว อ้อยเข้าปากช้างแล้ว เราจะมาขอแก้ไขกลางครันใครเขาจะยอม บริษัทที่ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในไทยมาจากประเทศมหาอำนาจทั้งนั้น หากไปขอแก้ก็อาจเป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศได้ เรื่องไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

อีกเรื่อง “บิ๊กตู่” รู้ยังท่านถูกแหกตาจากข้อมูลที่ตอบคำถามนักข่าวว่า "ไทยมีพลังงานหลายแหล่ง แต่ 29 แห่งตรงนี้จะหมดใน 6 ปีข้างหน้า" ท่านนายกฯ รู้ไหมความเป็นจริงสิ่งที่จะหมดคือ อายุสัมปทานเดิม ที่หลายแหล่งยังมีปิโตรเลียมผลิตได้อีก 10-20 ปี กลุ่มทุนจึงอยากให้มีการเร่งเปิดสัมปทานใหม่และเร่งต่อสัมปทานที่จะหมดอายุนี้ด้วย

ฟังท่านนายกฯ แล้ว อาการน่าเป็นห่วงจริงๆ เพราะมีรายการแหกตากล้าโป้ปดมดเท็จข้อมูลแบบครึ่งๆ กลางๆ ให้นายกรัฐมนตรีไปพูดผิดๆ ถูกๆ และก็ดูเหมือนว่าทำกันเป็นขบวนการเสียด้วย เพราะไม่ใช่แค่ปูพรมออกสื่อเท่านั้น ภารกิจนี้ “เสธ.น้ำเงิน” นักปั้นข้อมูลก็มารับงานด้วย

เรื่องที่ถนัดอันดับแรกๆ ของเสธ.น้ำเงิน ก็คือการป้ายความชั่วให้คนอื่น กล่าวหาว่ากลุ่มเอ็นจีโอ ทุนพลังงานต่างชาติและพาดพิงมาถึงแก๊งสภาท่าพระเสาร์ ที่ปั่นป่วนตอนนี้เพราะระบบสัมปทาน “ไทยแลนด์ทรีพลัส” จะทำให้พวกอีลิทต่างชาติเสียผลประโยชน์ แค่เรื่องนี้ก็ต้องบอกว่าโยงกันได้มั่วมาก

แต่ที่น่าอนาถก็คือความรู้ของเสธ.น้ำเงินที่ย้ำว่าระบบนี้ระยะแรกเป็นแค่ “การสำรวจ” “เมื่อสำรวจพลังงานเจอ ก็ยังมีขั้นตอนต้องอนุมัติสัมปทานจากรัฐบาลอีกครั้ง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับช่วงการสำรวจนี้สักนิด”

เรื่องนี้ถ้าเสธ.น้ำเงินอ่านหนังสือแตกสักหน่อยและศึกษาการให้สัมปทานปิโตรเลียมของไทยที่ผ่านมาจะพบว่า กฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 23 นั้น เขียนไว้ว่า "ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในที่ใดไม่ว่าที่นั้นเป็นของตนเองหรือบุคคลอื่นต้องได้รับสัมปทาน" กฎหมายเขียนชัดว่า “สำรวจและผลิต” ไม่ได้แยกออกจากกันเป็น “การสำรวจ” และ “การผลิต” แต่อย่างใด และผู้ใดจะเข้าสำรวจและผลิตได้ก็ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ

นั่นก็หมายความว่า ระบบสัมปทานที่รัฐให้แก่เอกชนนั้นให้สิทธิ์ในการสำรวจและผลิตไปในคราวเดียวกันแล้ว ไม่ใช่ว่าให้ไปสำรวจมาแล้วเจอแล้วถึงจะให้สัมปทานใหม่ให้ไปลงมือผลิตได้เสียเมื่อไหร่ ง่ายๆ แค่นี้ยังตะแบงทำเป็นไม่เข้าใจ

มาตรา 23 นี้ ยังผูกพันกับมาตรา 56 ที่ระบุว่า “ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้” ตรงนี้แหละที่สำคัญถึงแม้ปิโตรเลียมจะเป็นของรัฐ แต่เมื่อรัฐให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการไปแล้วในระหว่างอายุสัมปทาน สิทธิการขายและจำหน่ายจะเป็นของผู้รับสัมปทานโดยสมบูรณ์

หัวใจของระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิตที่ถกเถียงกันแตกต่างกันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าเมื่อเอกชนได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตแล้ว ปิโตรเลียมที่ได้ก็ตกเป็นของเอกชนเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและหากรัฐต้องการก็ต้องซื้อจากผู้รับสัมปทานในราคาตลาดโลก ระบบนี้รัฐจะได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นค่าภาคหลวงแบบขั้นบันได 5-15% และภาษี และผลตอบแทนพิเศษหลังจากที่เอกชนหักค่าใช้จ่ายค่าลงทุนอะไรต่างๆ สารพัดหมดแล้ว

นี่จึงเป็นผลประโยชน์ของทุนพลังงานต่างชาติที่วิ่งเต้นรักษาไว้อย่างสุดชีวิต ดังจะเห็นการเคลื่อนไหวของอุปทูตสหรัฐฯ ที่วิ่งแจ้นเข้าพบรมว.กระทรวงพลังงานของไทยทันทีที่มติสปช.ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบใหม่และสปช.ยังขอให้รัฐบาลกลับมาศึกษาทบทวนเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิตเสียใหม่ด้วย

ต้องถามกลับว่า ใจคอของเสธ.น้ำเงินกับแก๊งทุนพลังงานข้ามชาติกับยักษ์ใหญ่พลังงาน ของไทยเอง จะกดขี่ประชาชนไม่ให้มีโอกาสลืมตาอ้าปากจากแหล่งพลังงานใต้ผืนดินเขาเลยหรือ จะให้เขาต้องซื้อหาพลังงานที่มีอยู่บนผืนดินของตนเองในตลาดโลกร่ำไปแล้วยังมาแอบอ้างเอาบุญคุณอีกเชียวหรือ

ถ้าหากกีดกันคนไทยไม่ให้มีโอกาสได้ใช้พลังงานของตนเองในราคาที่เป็นธรรมในฐานะเจ้าของทรัพยากร ในฐานะเจ้าของประเทศ แต่ต้องซื้อหาในราคาตลาดโลกแล้วคนไทยในชาติจะได้ประโยชน์อะไรจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมนอกจากค่าภาคหลวง ภาษีและผลตอบแทนพิเศษ ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับความมั่งคั่งที่ยักษ์พลังงานได้ไปจากขุมทรัพย์ปิโตรเลียมของไทย

ส่วนเรื่องที่ เสธ.น้ำเงิน อวดโอ่ว่าระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส ดีเยี่ยมสารพัด ทำไม รัฐบาลต้องไปลงขันกับเอกชนสำรวจก่อนให้สิ้นเปลืองสู้ให้สัมปทานไปเลยและเก็บค่าภาคหลวงดีกว่า เสธ.น้ำเงิน ไม่อยากรู้หรือว่าทรัพยากรปิโตรเลียมที่ประเทศไทยมีอยู่นั้นมีอยู่ มากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงจะคอยแต่ฟังบริษัทเอกชนมาบอกว่าข้อมูลว่ามีอยู่เท่านั้นเท่านี้แล้วก็เชื่อตามนั้นอย่างที่เคยทำกันมาตลอด

เสธ.น้ำเงิน รู้ยังว่ายักษ์ใหญ่พลังงานจากอเมริกาอย่างกลุ่มเชฟรอนมั่งคั่งขนาดไหนจาก แหล่งปิโตรเลียมที่ได้สัมปทานจากรัฐบาลไทย ถ้าไม่รู้ว่างๆ ก็ไปอ่านรายงานประจำปีของกลุ่มเชฟรอนบ้างจะได้หูตาสว่างขึ้น และที่ทุนพลังงานมากรอกหูว่าแหล่งปิโตรเลียมของไทยกระเปาะเล็ก สำรวจยาก ต้นทุนสูงนั้น มันใช่หรือไม่ ถ้าบอกว่าใช่แล้วทำไมแหล่งปิโตรเลียมของไทยจึงเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กลุ่มเชฟรอนเป็นอันดับต้นๆ

และ เสธ.น้ำเงิน รู้ยังว่า ผลตอบแทนการลงทุนในสัมปทานปิโตรเลียมไทยที่บริษัท กอบโกยไปนั้นมีอัตรากี่มากน้อย เรื่องนี้เป็นความลับของบริษัทที่เสธ.น้ำเงินน่าจะขุดคุ้ยมาให้พี่ น้องประชาชนชาวไทยได้รับรู้บ้างในฐานะที่เขาเหล่านั้นเป็นเจ้าของทรัพยากรแต่ต้องซื้อหาพลังงานในราคาตลาดโลก

แล้วเสธ.น้ำเงิน ก็ไม่ต้องมาตะแบงข้างๆ คูๆ ว่าระบบแบ่งปันผลผลิตไม่เข้าท่า ได้ ผลตอบแทนต่ำ และไทยเคยทดลอง "ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (PSC)" มานานหลายสิบปี คือ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia - Thailand Joint Development Area : MTJDA)

เสธ.น้ำเงิน ยกเอาเรื่องเจดีเอไทย-มาเลย์ มาอ้างอิงได้อย่างไร เพราะพื้นที่พัฒนาร่วมก็บอกชัดอยู่แล้วว่าสิทธิในแหล่งพลังงานนั้นไม่ใช่สิทธิของรัฐไทยแต่ฝ่ายเดียวแต่มาเลย์ก็อ้างสิทธิด้วย เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน ผลประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมก็แบ่งปันกันกี่มากน้อยตามที่ตกลงกัน นี่เป็นหลักสำคัญที่ผู้อวดอ้างตัวเองว่ามีมันสมองระดับ “เสธ.” ไม่น่าจะแกล้งโง่ ไม่รู้ว่าอะไรคือพื้นที่พัฒนาร่วม อะไรคือแหล่งปิโตรเลียมในไทยซึ่งเป็นสิทธิ์ขาดของรัฐไทย แค่หลักสำคัญก็ต่างกันแล้ว

และเสธ.น้ำเงิน รู้ยังว่าความแตกต่างระหว่างระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต ก็ คือ เมื่อใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมไม่ได้ตกเป็นของเอกชนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่รัฐมีสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ผลิต สามารถนำมาบริหารจัดการได้ แม้แต่จะนำมาซื้อขายให้ประชาชนในราคาต่ำกว่าตลาดโลกก็ทำได้

เสธ.น้ำเงิน จะมาบอกว่า “ถ้าจะเปรียบเทียบผลประโยชน์ระบบ PSC กับ ระบบสัมปทาน ก็ต้องเปรียบเทียบที่ทำในประเทศไทยเหมือนกันเท่านั้น ไม่ใช่อ้างแต่เปรียบเทียบระบบสัมปทานของไทย กับระบบ PSC ของอีกประเทศหนึ่ง เปรียบมวยเขายังต้องเปรียบบนเวทีเดียวกันเลย เช่น เวทีลุมพินีเดียวกัน ไม่ใช่เปรียบเทียบมวยคนละเวที เช่น เวทีลุมพินี กับ เวทีราชดำเนิน การเปรียบเทียบแบบนี้มันคนละเรื่องเดียวกัน เปรียบเทียบเถียงกันไปอีก 100 ปี มันก็ไม่มีวันได้ข้อสรุป”

แค่หลักการสำคัญก็ผิดกัน แล้วเสธ.น้ำเงิน ยังตะแบงยกเอาระบบแบ่งปันผลประโยชน์ใน พื้นที่เจดีเอไทย-มาเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมมาเปรียบเทียบกับระบบแบ่งปันผลผลิตในแหล่งปิโตรเลียมที่รัฐไทยถือสิทธิ์ขาด มันก็คงเป็นคนละเรื่องเดียวกันเถียงกันอีกร้อยปีก็ไม่ได้ข้อสรุปอย่างที่ว่านั่นแหละ

เสธ.น้ำเงิน ยังพาลชี้หน้าสปช.ที่มีมติให้ศึกษาเปรียบเทียบระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิตโดยเหมารวมว่าเป็นกลุ่มป่วนอีกด้วย ดังที่ว่า “....แถมกลุ่มป่วนยังจะให้ชะลอไปก่อน...ทำแบบนั้นเพื่ออะไร ?”

เรื่องนี้ถ้าจะว่าไป ถ้าจะถกเถียงกันบนพื้นฐานของข้อมูลแล้ว ทำไมเสธ.น้ำเงิน ถึงไม่กล้า เชียร์ให้ “บิ๊กตู่” ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่รัฐและประชาชนจะได้ให้เห็นกันจะๆ ระหว่างระบบสัมปทานกับระบบแบ่งปันผลผลิต ตามที่ สปช. มีมติให้ชะลอและศึกษาใหม่เสียก่อน กลัวอะไรกัน ??

แล้วที่ เสธ.น้ำเงิน ออกหน้าเชียร์หนักหนาว่า รูปแบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสนี้ มี ความโปร่งใสชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ หากเอกชนไม่ดำเนินการตามข้อตกลง รัฐสามารถสั่งระงับให้หยุดดำเนินการได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ช่วยเอารายละเอียดการให้สัมปทานและผลตอบแทนที่ได้รับทั้งรัฐและเอกชนผู้ได้รับสัมปทานขึ้นเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน หรือเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของเสธ.น้ำเงิน ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง จะได้เชื่อว่าโปร่งใส ตรวจสอบ ได้จริง เพราะตอนนี้ปกปิดกันเหลือเกิน

ส่วนกรณีที่เสธ.น้ำเงินบอกว่า “หากเอกชนไม่ดำเนินการตามข้อตกลงรัฐสามารถสั่งระงับได้” นั้น นั่นมโนแท้ๆ และก็ยังหมายถึงการเข้าสู่ข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน และร้อยหนึ่งเอาขี้หมากองเดียวรัฐแพ้เอกชนอย่างหลายกรณีที่ต้องรัฐต้องจ่ายค่าโง่ โง่ซ้ำซาก โง่แล้วโง่อีก แล้วมาเอาเงินภาษีประชาชนไปจ่ายค่าโง่ให้เอกชนหลายโครงการนั่นเป็นตัวอย่าง

ส่วนที่ เสธ.น้ำเงิน ป้ายสี “มีกลุ่มบุคคลแก๊งแบ่งงานกันทำ ความเหมือนที่แตกต่าง กำลังฉกฉวยประโยชน์จากความขัดแย้ง ประเด็นก้ำกึ่งกำกวมเหล่านี้ หวังพลิกฝ่ายอำนาจทุนนิยมตะวันตก สายอีลิท หากินบนการสร้างแตกแยกของคนผู้รักชาติ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรียกร้องแต่ให้ชะลอการสำรวจ” .... “ถ่วงเวลาไปเพื่อหวังลึกๆ ให้นักการเมืองเลือกตั้ง มาจัดการผลประโยชน์พลังงานประเทศ แก๊งสภาท่าพระเสาร์ และกลุ่ม NGO ทุนพลังงานต่างชาติ จะรอก็รอไปเถอะ แต่รัฐบาลอนุรักษ์นิยมเขาไม่รอ เพราะเวลาทุกนาทีมันมีค่า จะมานั่งหาวหายใจทิ้งไป 1-2 ปีไม่ได้”

เสธ.น้ำเงิน รู้ยัง บุคคลสำคัญในสปช.ที่ล็อบบี้ให้ที่ประชุม สปช. มีมติชะลอสัมปทานปิโตรเลียมนั้นเป็นใคร ถ้าไม่รู้จะบอกให้ ท่านผู้นี้ชื่อว่า พล.ร.อ. พะจุณณ์ ตามประทีป หนึ่งในเครือข่ายพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษของชาติไทย ผู้ค้ำบัลลังก์ “รัฐบาลทหารอนุรักษ์นิยม” นั่นแหละ

ดังนั้น คำกล่าวหากลุ่มเอ็นจีโอและแก๊งสภาท่าพระเสาร์ว่าออกมาเรียกร้องให้ชะลอสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อผลประโยชน์ให้ฝ่ายอำนาจทุนนิยมตะวันตกสายอีลิท จึงบอกได้คำเดียวว่ามั่วมาก เสธ.น้ำเงินควรหาเวลากลับไปศึกษาหาความรู้มาใหม่จะได้แยกแยะกลุ่มทุนชาติ ทุนข้ามชาติ กลุ่มอำนาจ ฝ่ายก้าวหน้าหรืออนุรักษ์นิยมล้าหลังอะไรๆ ได้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ใช่มั่วไปวันๆ

ที่สำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือ ก่อนที่สปช.จะมีมติออกมาให้ชะลอการเปิดสัมปทานใหม่นั้น เขาไปถามประชาชนมาแล้ว นายประชา เตรัตน์ สปช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมฯ ได้รายงานผลการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากอเครือข่ายต่างๆ ทางสังคมและรายงานผลต่อที่ประชุมสปช.ว่า ประชาชนทุกภาคไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และสนับสนุนให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมากกว่าระบบสัมปทาน

น่าสงสัยว่า “เสธ.น้ำเงิน” ไปหลับอยู่ที่ไหนถึงตกข่าวและมาถามว่า “ถ้ารักชาติ และทำเพื่อประชาชนจริง เคยไปถามประชาชนหรือไม่ ว่าประชาชนเขาอยากได้ระบบ PSC หรือ ระบบสัมปทาน ประชาชนเขาไม่รู้หรอก...”

การผลิตวาทกรรมสัมปทานดีกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตของกลุ่มทุนพลังงานยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น สอดรับกับท่าทีของท่านผู้นำประเทศ และสอดรับการการเคลื่อนไหวของชาติมหาอำนาจ จากนี้ต้องจับตาว่าตัวแทนของ "อำมาตย์ใหญ่" สายอีลีทตัวจริงจะรั้งม้ากลางสายน้ำ เชี่ยวได้หรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าการเร่งให้เดินหน้าสัมปทานไปไกลชนิดกู่ไม่กลับเสียแล้ว


นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลี่ยมรอบที่ 21 และพิจารณาเปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล
แฟนเพจแฉความลับของเสธ.น้ำเงินที่รับงานเชียร์ระบบสัมปทานเต็มอัตราศึก
กำลังโหลดความคิดเห็น