xs
xsm
sm
md
lg

3 สินค้าไอทีดาวรุ่งพร้อมรบปี 2015

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต่อจากพัฒนาการก้าวกระโดดของวงการแก็ดเจ็ดโลกในปี 2014 ปีแพะทอง 2015 ถูกมองว่าจะเป็นยุคทองแห่งการเปิดศักราชสินค้าไอทีพันธุ์ใหม่หลากหลายรูปแบบ และทุกแบบมีโอกาสกลายเป็นบันไดมาตรฐานของการใช้ชีวิตบนโลกไอทีในอนาคต

ข่าวคราวจากปี 2014 บ่งบอกชัดเจนว่าสินค้าไอทีทั้ง 3 ชิ้นต่อไปนี้จะเป็นสินค้าใหม่ที่เชื่อกันว่าสามารถสร้างกระแสร้อนแรงในปี 2015 ได้ชนิดเขย่าโลก แน่นอนว่าทั้งหมดยังสามารถบอกแนวโน้มได้ด้วยว่า วงการ Gadget โลกและในเมืองไทยจะเดินไปทางไหนในปีแพะทอง

***นาฬิกา Apple Watch มาแน่ต้นปี 2015

หลังจากลือมาหลายเดือนตลอดปี 2014 ที่ผ่านมา ในที่สุดแอปเปิล (Apple) ก็เปิดตัวนาฬิกาอัจฉริยะรุ่นแรกของตัวเองอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 9 กันยายน 2014 ในชื่อ 'แอปเปิล ว็อตช์ (Apple watch)' ตัวนาฬิกามีให้เลือก 2 ขนาด แต่ตกแต่งในหลากสไตล์ กำหนดการพร้อมวางตลาดคือปีหน้า 2015

นัยสำคัญของแอปเปิลว็อตช์คือการเป็นสินค้าประเภทใหม่ชิ้นแรกที่อยู่ภายใต้การนำของซีอีโอแอปเปิล 'ทิม คุก (Tim Cook)' โดยการเปิดตัวแอปเปิลว็อตช์ในเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้นมีการเปิดเผยเพียงคุณสมบัติคร่าวๆเท่านั้น และแอปเปิลเองก็ประกาศชัดเจนว่ายังพัฒนาแอปเปิลว็อตช์อยู่ในขณะนี้ ทำให้หลายคนยังรอชมคุณสมบัติอื่นเมื่อแอปเปิลวางจำหน่ายในต้นปี 2015

คุณสมบัติของแอปเปิลว็อตช์ที่แอปเปิลเปิดเผยก่อนหน้านี้คือการวางจำหน่าย 2 รุ่น 2 ขนาด ได้แก่ รุ่น 38 มม. และ 42 มม. ผู้ใช้จะสามารถรับและส่งข้อความจากนาฬิกานี้ได้อย่างสะดวกสบาย ขณะเดียวกันก็สามารถรับสายโทรศัพท์ รวมถึงติดตามข้อมูลสุขภาพและการออกกำลังกายได้ ซึ่งผู้ใช้สามารถถ่ายโอนข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ได้จากข้อมือของตัวเอง

ข้อมูลที่แอปเปิลเปิดเผยในขณะนี้ คือแอปเปิลว็อตช์จะวางจำหน่ายในราคา 349 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 11,200 บาท โดยจะสามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนรุ่นเก่าอย่างไอโฟน 5 (iPhone 5) ได้

แอปเปิลว็อตช์นั้นถือเป็นสินค้าตระกูลใหม่ในรอบ 4 ปี นับจากที่แอปเปิลเปิดตัวแท็บเล็ต iPad ในปี 2010 การวางตลาดปี 2015 ของแอปเปิลว็อตช์จึงเป็นที่จับตามองของนักวิเคราะห์ทั่วโลก ส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะที่ผ่านมา แอปเปิลมีการประกาศรับสมัครงานหลายตำแหน่งในปี 2014 โดยเลือกเข้าถึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการแพทย์เพื่อให้ร่วมกันพัฒนาทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพ เช่น อดีตที่ปรึกษาของไนกี้ (Nike) อย่างเจย์ บลาห์นิก (Jay Blahnik) และอดีตรองประธานของเซนส์โซนิกส์ (Senseonics) อย่างดร. ทอดด์ ไวท์เฮิร์สต์ (Dr. Todd Whitehurst) ซึ่งสะท้อนว่าแอปเปิลกำลังเอาจริงเอาจังกับการบุกตลาดแก็ดเจ็ด

ขณะเดียวกัน แอปเปิลยังดึงผู้บริหารนาฬิกาหรูสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์อย่าง 'แท็ก ฮอยเออร์ (Tag Heuer)' มาร่วมทีม ทำให้มีการออกแถลงการณ์ว่าแพทริก พรูเนียค (Patrick Pruniaux) รองประธานฝ่ายขายซึ่งดูแลงานขายนาฬิกาแบรนด์ Tag Heuer มานานกว่า 7 ปีได้ลาออกจากบริษัทเพื่อไปร่วมงานกับแอปเปิลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ไม่เพียงผู้บริหารจากแบรนด์นาฬิกาหรู เจ้าพ่อแดนลุงแซมอย่างแอปเปิลยังดึงตัวผู้บริหารจากนานาแบรนด์ดังมาร่วมทีมขายแอปเปิลว็อตช์ โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าแองเจลา อาเรนท์ส (Angela Ahrendts) อดีตซีอีโอแบรนด์แฟชั่นอย่างเบอเบอร์รี (Burberry) ก็ถูกดึงตัวมาคุมงานฝ่ายค้าปลีกและออนไลน์ตั้งแต่พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่พอล เดเนฟ (Paul Deneve) อดีตประธานบริหารแบรนด์เครื่องสำอางและสินค้าหรูสัญชาติฝรั่งเศสอย่างอีฟแซงต์โรรองต์ (Yves Saint Laurent) เพื่อพัฒนาโครงการพิเศษหรือ special projects ซึ่งจะทำงานขึ้นตรงต่อซีอีโอแอปเปิลชนิดไม่ผ่านใครตั้งแต่ปี 2013 ที่ผ่านมา

แอปเปิลว็อตช์จะมีพลังเป็น 'สัญลักษณ์สถานะทางสังคม' อย่างที่หลายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมีหรือไม่ ปี 2015 ได้รู้กัน

***Windows 10 ขอแก้มือ

ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันใหม่อย่าง 'วินโดวส์ 10 (Windows 10)' มีกำหนดพร้อมเริ่มทำการตลาดอย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2015 ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะสามารถแก้ตัวในหลายความล้มเหลวที่ไมโครซอฟท์ต้องเผชิญกับวินโดวส์ 8 (Windows 8)

ความคืบหน้าล่าสุดของระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันใหม่คือไมโครซอฟท์ (Microsoft) ออกมาให้ข้อมูลว่าวินโดวส์ 10 มีผู้ทดสอบมากกว่า 1.5 ล้านคน (ข้อมูลเดือนธันวาคม ปี 2014) โดยมากกว่า 30% หรือประมาณ 4.5 แสนคนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มติดใจเพราะใช้งานทุกวัน แน่นอนว่าสถิติผู้ทดสอบวินโดวส์ 10 ถือเป็นอีกดัชนีสะท้อนความสนใจของชาวออนไลน์

ไมโครซอฟท์ระบุว่า จำนวนผู้ลงทะเบียนขอสิทธิทดลองใช้งานวินโดวส์ 10 ที่สูงมากทำให้จำนวนชั่วโมงการทดสอบวินโดวส์ 10 สูงขึ้นตามไปด้วย โดยถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับวินโดวส์รุ่นก่อนทั้ง Windows 7, Windows 8 และ Windows 8.1 โดยสถิติผู้ทดสอบ 1.3 ล้านคนนี้เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ผู้บริหารไมโครซอฟท์มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้วินโดวส์ 10 มีพัฒนาการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยรายงานการทดสอบใช้งานจริงจังทั้งจากระบบอัตโนมัติ และการรายงานด้วยข้อความจากผู้ใช้นั้นช่วยให้ไมโครซอฟท์สามารถปรับปรุงระบบได้อย่างทั่วถึง

เบื้องต้น ไมโครซอฟท์ระบุว่า ได้ลงมือแก้ไขปัญหาที่พบในวินโดวส์ 10 มากกว่า 1,300 จุด ซึ่งหลังจากยูสเซอร์มากกว่า 1 ล้านคนดาวน์โหลดวินโดวส์ 10 เวอร์ชันพรีวิวไปทดลองใช้ ก็ได้มีการส่งฟีดแบ็กเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 กลับมาแล้วกว่า 200,000 ครั้ง ทั้งหมดนี้ทำให้เชื่อว่าวินโดวส์ 10 เวอร์ชันสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่มีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 21 มกราคม 2015 จะถูกพัฒนาความสามารถให้สมบูรณ์แบบยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยืนยันว่าวินโดวส์ 10 ไม่ใช่การพยายามแก้ไขข้อบกพร่องเมื่อครั้งเกิดกับวินโดวส์ 8 แต่เป็นการให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของยูสเซอร์ที่หลากหลาย นี่เองที่ทำให้วินโดวส์ 10 มีการคืนปุ่มที่ยูสเซอร์คุ้นเคยอย่างปุ่มสตาร์ท (Start Menu) มาด้วย

ล่าสุด ไมโครซอฟท์ประกาศกำหนดการโชว์ตัววินโดวส์ 10 เวอร์ชันสำหรับกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปในวันที่ 21 มกราคมนี้ (กำหนดการจำหน่ายอย่างเป็นทางการจะยังเป็นช่วงกลางปีหรือต้นฤดูใบไม้ร่วง ปี 2015) ถือเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังจากไมโครซอฟท์เปิดตัววินโดวส์ 10 สำหรับผู้ใช้กลุ่มองค์กรธุรกิจมาก่อนหน้านี้ โดยไมโครซอฟท์ได้จัดงานแถลงข่าวแสดงเทคโนโลยีในวินโดวส์ 10 ไปบางส่วนแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2014

21 มกราคมจะเป็นวันที่ไมโครซอฟท์ลงมือเชิญผู้สื่อข่าว, นักทดลองใช้งานซอฟต์แวร์ และเหล่านักเขียนบล็อกทั้งหลาย มาร่วมงานใหญ่ที่จัดขึ้นตลอดทั้งวันที่สำนักงานใหญ่ในเมืองเรดมอนด์ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ไมโครซอฟท์ระบุว่างานนี้จะมีการเปิดเผยรายละเอียดการใช้งาน Windows 10 ในมุมผู้บริโภคที่มากกว่าเดิม ทั้ง หมดนี้ถือว่าเป็นไปตามกำหนดการที่ไมโครซอฟท์ระบุว่าจะสามารถเปิดเผยความ สามารถของระบบปฏิบัติการวินโดวส์เวอร์ชันใหม่ได้ในช่วงต้นปี 2015

รายงานระบุว่า นอกจาก 2 ผู้บริหารที่จะสาธิตการทำงานของวินโดวส์ 10 เวอร์ชันผู้ใช้คอนซูเมอร์คือ 'เทอร์รี เมอร์สัน (Terry Myerson)' หัวหน้าทีมพัฒนาระบบปฏิบัติการและ 'โจ เบลฟอร์ (Joe Belfiore)' รองประธานกลุ่มงานออกแบบของไมโครซอฟท์ โดยทั้ง 2 เป็นผู้บริหารชุดเดียวกับที่ขึ้นเวทีโชว์ความสามารถของ Windows 10 ในงานเปิดตัวเมื่อปลายเดือนกันยายน 'ฟิล สเปนเซอร์ (Phil Spencer)' หัวหน้าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อคอเกมอย่างเอ็กซ์บ็อกซ์ (Xbox) ก็จะขึ้นเวทีแสดงความสามารถด้านความบันเทิงของวินโดวส์ 10 ด้วย สะท้อนว่าเอ็กซ์บ็อกซ์จะยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของไมโครซอฟท์ต่อไป

งานเปิดตัวนี้ถูกระบุว่าจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์ ต่างจากการเปิดตัววินโดวส์ 10 เมื่อเดือนกันยายนที่ไม่มีการถ่ายทอด จุดนี้มีการวิเคราะห์ว่า ไมโครซอฟท์กำลังส่งสัญญาณถึงผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์พีซีในช่วงเทศกาลหยุดยาวปลายปีที่ผ่านมา เพื่อให้คำมั่นว่าผู้ซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่จะมีโอกาสได้รับสิทธิ์อัปเกรดระบบไปใช้งานวินโดวส์ 10 แน่นอน

***แผนใหญ่ของ Samsung กับ Galaxy S6

ตลอดปี 2014 โลกได้เห็นข่าวคราวมากมายที่ระบุว่าซัมซุง (Samsung) เจ้าพ่อตลาดโทรศัพท์มือถือโลกกำลังมีแผนธุรกิจสุดอลังการสำหรับการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นถัดไปซึ่งเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า 'แกแล็กซี่ เอส 6 (Galaxy S6)' โดยหากวิเคราะห์อิงจากประวัติศาสตร์การเปิดตัวสินค้าของซัมซุง สาวกแกแล็กซี่จะสามารถรอชมโฉมเอส 6 ได้ในต้นปี 2015

เอส 6 นั้นกลายเป็นหนึ่งในทัพหลักของศึกไอทีปี 2015 ที่นักวิเคราะห์จับตามอง เนื่องจากมีรายงานว่าซัมซุงให้ชื่อรหัสสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นนี้ว่า 'Zero' หรือการเริ่มต้นจากศูนย์ตามการออกแบบที่มีการริเริ่มใหม่ทั้งหมด

ในขณะที่เรื่องราวของเอส 6 ยังเป็นเรื่องลึกลับไม่ชัดเจน คำใบ้ของสถานการณ์เอส 6 จึงอยู่ที่ประวัติการเปิดตัวเอส 5 (Galaxy S5) ที่ผ่านมา โดยซัมซุงเคยใช้เวทีงานโมบายเวิลด์คองเกรส (Mobile World Congress 2014) ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน จัดงาน Unpacked 5 เพื่อเปิดตัวสินค้าเรือธงรุ่นใหม่อย่างเอส 5 มาแล้วโดยใช้ชื่องานว่าอันแพค (Unpacked 5) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2014 ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเอส 6 จะถูกโชว์ตัวในงานปีนี้

ในเชิงการแข่งขัน เอส 6 ยังถูกมองว่าจะเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่ชี้วัดอนาคตซัมซุง ตั้งแต่มกราคม 2014 ซัมซุงประกาศตัวเลขกำไรสุทธิลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ปีตั้งแต่ปี 2011 ผลจากการแข่งขันรุนแรงในตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่ทำให้การเติบโตของซัมซุงชะลอตัวตลอดปี 2014 เช่นช่วงกลางปีที่ซัมซุงประกาศว่ากำไรจากการดำเนินงานของตัวเองในไตรมาส 2 จะลดลงราว 22.3-26.5% ซึ่งถือเป็นสถิติตกต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี

นักวิเคราะห์เชื่อว่าอนาคตที่สั่นคลอนของซัมซุงเกิดขึ้นหลังจากคลื่นสินค้าสมาร์ทโฟนราคาประหยัดจากจีนไหลทะลักเข้าสู่ตลาดโลก จนทำให้ยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทลดลงชัดเจนในปี 2014

อย่างไรก็ตาม กำไรลดลงไม่ได้แปลว่าซัมซุงขายสินค้าได้น้อยลง เพราะในมุมยอดจำหน่ายรวม ซัมซุงระบุว่าสามารถโกยเงินมากกว่าปี 2013 แต่ด้วยต้นทุนด้านการตลาดและค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น (เช่น ค่าใช้จ่ายโบนัสพนักงาน ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง) ทั้งหมดนี้ทำให้ซัมซุงมีกำไรที่ลดลงไปโดยปริยาย

เรื่องนี้เป็นไปในทางเดียวกับสำนักข่าวโฟร์บส์ (Forbes) ที่เชื่อว่าซัมซุงกำลังพบศึกหนักจากคู่แข่งสัญชาติจีน เช่น หัวเว่ย (Huawei) และเลอโนโว (Lenovo) ซึ่งกำลังบุกตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางถึงล่างเป็นหลัก ซัมซุงจึงต้องจัดเต็มกลยุทธ์การตลาดให้เข้มข้นขึ้นมากกว่าช่วงยุคทองที่ซัมซุงสามารถทำยอดขายได้สูงที่สุดในรอบ 6 ปี เพื่อแก้ปัญหาที่คู่แข่งจากจีนต่างเริ่มทยอยได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ลูกค้าของซัมซุงในจีนเองก็เริ่มชะลอการซื้อสินค้าใหม่ เนื่องจากหลายคนกำลังอั้นการซื้อเพื่อรอชมสินค้าใหม่ที่รองรับเครือข่าย 4G ซึ่งจีนเพิ่งเริ่มให้บริการในช่วงปี 2014

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสินค้าเรือธงตระกูลแกแล็กซี่รุ่นราคาเกิน 2 หมื่นบาทนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในช่วงปี 2014 ตัวอย่างเช่นแกแล็กซี่โน้ต 4 (Galaxy Note 4) ที่พ่ายแพ้ยอดสั่งจองหรือพรีออเดอร์ไอโฟน 6 และ 6 พลัส (iPhone 6) ถึง 3 เท่าตัว

สำหรับเอส 5 สำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอล (WSJ) รายงานว่าเอส 5 มียอดขายต่ำกว่าเป้าหมายที่ซัมซุงคาดไว้ถึง 40% โดยข้อมูลจากแหล่งข่าววงในชี้ว่าซัมซุงสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นปัจจุบันได้ราว 12 ล้านเครื่องในช่วงเมษายน-มิถุนายน 2014 ถือเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า 16 ล้านเครื่องที่ซัมซุงเคยทำได้สมัยจำหน่ายรุ่นก่อนหน้าอย่างเอส 4 (Galaxy S4)

รายงานยังระบุว่า ซัมซุงมีการลดปริมาณสินค้าคงคลังของเอส 5 ลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเอส 4 ขณะที่ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดที่ซัมซุงสามารถทำเงินได้มากที่สุด รายงานระบุว่าซัมซุงสามารถจำหน่ายเอส 5 ในจีนได้น้อยกว่าเอส 4 ในช่วง 6 เดือนแรกของการจำหน่ายมากกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม ประเทศเดียวที่ซัมซุงสามารถจำหน่ายเอส 5 ได้มากกว่า S4 คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่น่าสนใจ

Instagram









กำลังโหลดความคิดเห็น