ASTVผู้จัดการรายวัน-"วิชา"แถลงปิดคดี ส่ง "นิคม-สมศักดิ์" ขึ้นเขียงให้ สนช. เชือด ชี้กระบวนการถอดถอนเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปประเทศ นัดชี้ชะตา 23 ม.ค.นี้ ด้าน "นิคม"ดิ้นสู้เฮือกสุดท้าย อัดป.ป.ช.ตีความเพี้ยน "บิ๊กตู่"ให้เกียรติ สนช. ทำหน้าที่ รัฐบาลมั่นใจรับมือสถานการณ์ได้ "บุญทรง"โวยป.ป.ช. มีวาระซ่อนเร้น รวบรัดชี้มูล หวังกดดันให้ สนช. โหวตสอย "ปู" เผยเจ้าตัวจะมาแถลงปิดคดีเองวันนี้ ขณะที่ "พาณิชย์"จ่อฟัน 2 ข้าราชการเอี่ยวจีทูจีเก๊
ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วานนี้ (21ม.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตสมาชิกวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป.ป.ช. พ.ศ.2542
นายวิชา มหาคุณ กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงปิดสำนวนว่า นายนิคม มีพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย ดังนั้นไม่อาจที่จะยุติการดำเนินการไต่สวนได้ จนกระทั่งส่งเรื่องให้สนช. ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี การที่นายนิคมในฐานะประธานในที่ประชุม จงใจใช้อำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการปิดอภิปรายการแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้ง ทั้งที่มีคนรออภิปรายหลายคน และการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต้องมีความรอบคอบ และมีหน้าที่ต้องควบคุมให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภา หากเห็นว่าญัตติที่เสนอไม่ถูกต้อง ย่อมสามารถที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้หลายวิธี ดังนั้น ข้ออ้างที่นายนิคม หยิบยกขึ้นกล่าวอ้างจึงรับฟังไม่ได้
ทั้งนี้ การตัดสิทธิ์การอภิปราย หรือไม่ฟังความเห็นเสียงข้างน้อย จึงเป็นการกระทำที่รวบรัด เพื่อให้ลงคะแนนเสียงที่ใช้อำนาจไม่ชอบเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายข้างมากโดยไม่เป็นธรรม และเป็นการทำซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ดังสุภาษิตของอังกฤษที่ว่า "การกระทำความผิดสองครั้ง มิได้ทำให้การกระทำผิดครั้งแรกเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม คือ ต้องใช้กฎหมายและอำนาจไปโดยสุจริต ปราศจาศอคติ ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตน และผู้เกี่ยวข้องเข้ามาแอบแฝง จะใช้โดยทุจริต ฉ้อฉล มีผลประผลประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ้อนเร้น หาได้ไม่
คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงเห็นว่าการกระทำของนายนิคม มีมูลความผิด ฐานส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 270 และมาตรา 272 มาตรา 4 ประกอบพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 56 มาตรา 58 มาตรา 61 และมาตรา 62
"กระบวนการถอดถอน ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ และแสดงให้ประชาชนทั้งหลายได้มองเห็นภาพชัดเจนว่า การดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมที่สูงเด่นกว่าบุคคลอื่น จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง จะทำตัวเหมือนคนทั่วไปหาได้ไม่ ดังนั้น หลักสำคัญของการถอดถอน จะสำเร็จหรือไม่ อยู่ในมือของสนช. ทุกคนแล้ว" นายวิชาระบุ
"นิคม" ซัด ป.ป.ช. ตีความเพี้ยน
ต่อมานายนิคม แถลงปิดคดีว่า ข้อกล่าวกรณีตัดสิทธิ์สมาชิกผู้แปรญัตติ และผู้สงวนคำแปรญัตติในการอภิปรายนั้น ป.ป.ช.เห็นว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจรัฐขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 อาจเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขอชี้แจงว่า สมาชิกที่ถูกตัดสิทธิ์ มีจำนวน 57 คน ซึ่งสมาชิกจำนวนดังกล่าว ได้ขอแปรญัตติขัดต่อหลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้รับหลักการในวาระที่ 1ไปแล้ว โดยสมาชิกขอให้ตัดชื่อร่างออก ซึ่งแปลว่า ร่างดังกล่าวจะไม่มีหัวชื่อเรื่อง ถือว่าขอแปรญัตติขัดต่อหลักการ อย่างไรก็ตาม แม้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะลงมติไม่ให้อภิปราย แต่ก็ได้อนุญาตให้สมาชิกได้มีโอกาสอภิปราย
"การแปรญัตติไม่ให้มีชื่อร่างแก้ไข เท่ากับว่า ร่างที่แก้ไขหัวกุด ไม่มีชื่อ นึกดูเวลาเรานำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ไม่มีชื่อ นี่คือการลบหลู่ ไม่ถือข้อบังคับการประชุม นี่คือสิ่งที่ ทำไมเราใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องดำเนินการประชุมตามข้อบังคับการประชุมโดยเคร่งครัด" อดีตประธานวุฒิสภากล่าว
นายนิคมกล่าวอีกว่า ข้อกล่าวหาที่ระบุว่า ตนไม่ยึดหลักนิติธรรมนั้นไม่จริง และขอยืนยันว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นไปโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญปี 50 และตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา และได้รับเอกสิทธิคุ้มครองโดยเด็ดขาด ตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 130 วรรค 1 ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวตนในทางใดมิได้ ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่มาตราดังกล่าวจะให้เอกสิทธิ์แก่สมาชิกรัฐสภา แต่ไม่คุ้มครองการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา หรือการทำหน้าที่ของประธานในที่ประชุม การตีความในลักษณะดังกล่าว ถือว่าผิดเพี้ยน มาตราดังกล่าวเป็นการให้เอกสิทธิ์ในทุกเรื่อง เพราะได้ใช้คำครอบคลุมในลักษณะที่ว่า ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวมิได้ ส่วนกรณีความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิทางแพ่งของผู้อื่นนั้น เป็นเพียงข้อยกเว้นที่มาตราดังกล่าวไม่คุ้มครอง ดังนั้น การตอบข้อซักถามของป.ป.ช. ต่อที่ประชุมสนช. ในประเด็นนี้ จึงไม่เป็นความจริง
"ท่านเลือกครับ จะลงโทษผมในฐานะประธานวุฒิสภา หรือลงโทษนายสมศักดิ์ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างรัฐธรรมนูญ ม. 270 และ ม. 58 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. เพราะในนั้นจะปรากฏชื่อของผู้ถูกถอดถอน ตั้งแต่นายกฯ-ส.ส.-ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานอะไรต่างๆ แต่ไม่มีตำแหน่งประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำไมท่านจึงไม่ถอดถอนผมออกจากตำแหน่งนี้ แต่ท่านกลับถอดถอนผมในตำแหน่ง ส.ว. บอกผมทำหน้าที่ประธานรัฐสภา แต่พอเอกสิทธิ์คุ้มครอง ท่านบอกไม่คุ้มครอง เพราะท่านบอกว่า ผมเป็นประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา จึงไม่คุ้มครอง ถ้าอย่างนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นการตีความกฎหมายจึงต้องตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัด" นายนิคมกล่าว
นายนิคมกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ระบุว่า แก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองนั้น เป็นการคาดการ และจินตนาการล่วงหน้า รัฐธรรมนูญจะแก้ไขได้หรือไม่ ไม่มีใครทราบ เพราะยังมีขั้นตอนการตรากฎหมายอีกหลายกระบวนการ รวมทั้งเงื่อนไขเวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้น ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.เป็นข้อกล่าวหาที่คาดเดา เกินกว่าเหตุ
"ผมพร้อมรับในการตัดสินของ สนช. และไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวการเมืองอีกแล้ว 1-2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมานั้นถือเป็นความทุกข์ยาก ในชีวิตไม่เคยถูกใครด่าว่า และไม่เคยมีใครชี้หน้าด่าว่าเป็นคนเลว ทั้งที่ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริง คนจะเลวหรือไม่เลว อยู่ที่การกระทำ หวังว่าสมาชิกสนช. นั้นเป็นผู้มีเกียรติมาจากหน่วยราชการต่างๆ จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา และให้ความเป็นธรรมกับผม"
**แจกแจงความผิด"ขุนค้อน" 5 ประเด็น
ต่อมา นายวิชาได้แถลงปิดคดี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยเป็นการรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และนายสมศักดิ์ โดยยืนยันถึงอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ในการดำเนินคดีร้องขอถอดถอนครั้งนี้ เพราะมีพฤติกรรมส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดกฎหมาย พ.ร.บ. ป.ป.ช. ส่อใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นใน 5 ประเด็น
ทั้ง 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก เปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 10 มี.ค.2556 ไม่ใช่ร่างของนายอุดมเดช รัตนเสถียร อดีต ส.ส.เพื่อไทย และคณะเสนอแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของวุฒิสภา 2.ในการกำหนดเวลาอภิปรายยังมีเวลาเหลือและมีผู้ประสงค์อภิปรายเหลืออยู่ แต่นายสมศักดิ์ กลับเรียกลงมติรับหลักการเวลาหนึ่ง ถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุม 3.การเสนอวันแปรญัตติ ที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับข้อ 96 4.จงใจปิดการอภิปราย และ 5 นายสมศักดิ์ ขอให้ที่ประชุม ลงมติ ทั้งที่ยังมีสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติ กรรมาธิการสงวนความเห็น ยังไม่ได้ใช้สิทธิอภิปราย การใช้ดุลพินิจของนายสมศักดิ์ จึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิ
จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ชี้แจงว่า ในส่วนของนายสมศักดิ์ ไม่ประสงค์ที่จะขอใช้สิทธิชี้แจงแถลงปิดคดี ดังนั้น จึงเป็นการสิ้นสุดกระบวนการพิจารณา และนัดลงมติ ในวันที่ 23 ม.ค.2558
***นัดแถลงเปิดคดี 38 ส.ว. 25 ก.พ .
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้พิจารณากระบวนการถอดถอน ส.ว. 38 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป.ป.ช. พ.ศ. 2542 เพื่อกำหนดวันแถลงของผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหา โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ประธานที่ประชุม แจ้งว่า พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะอดีต ส.ว. ผู้ถูกกล่าวหา ได้ทำหนังสือคัดค้านสนช. ที่เป็นอดีต ส.ว.สรรหา ในปี 51 และปี 54 ร่วมกระบวนการถอดถอน เพราะถือว่ามีส่วนได้เสีย ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เคยวินิจฉัยไปแล้ว เมื่อครั้งมีการร้องคัดค้าน 16 สนช. ที่เป็นอดีต ส.ว. ที่ได้ยื่นร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของสมาชิกที่สามารถกระทำได้
ทั้งนี้ สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขว้าง อาทิ นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า สิ่งที่ พ.ต.ท.จิตต์ ได้ยื่นหนังสือมานั้น มีวาระแอบแฝง เพราะอาจจะเกรงว่า สนช.กลุ่มนี้ จะลงมติถอดถอนตนเอง และที่ระบุอย่างชัดเจนนั้น แสดงว่า พ.ต.ท.จิตต์ มีประโยชน์ทับซ้อนชัดเจนว่า จะสามารถกลับมาลงสมัคร ส.ว.ในสมัยถัดไปได้อีกครั้ง
ด้านนายพรเพชร วินิจฉัยว่า ในหนังสือคัดค้านไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน และไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายที่ห้ามไว้ ดังนั้นสมาชิกสามารถเข้าร่วมประชุมในกระบวนการถอดถอนได้ และได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกำหนดวันแถลงเปิดคดี เป็นวันที่ 25 ก.พ.นี้ โดยสมาชิกสามารถยื่นญัตติซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ถึงวันที่ 24 ก.พ. และมีมติให้เลื่อนการยื่นญัตติซักถามคู่กรณีออกไปเป็น เวลา 12.00 น. วันที่ 27 ก.พ. เพื่อให้สมาชิกได้ฟังคำแถลงเปิดคดีก่อน ตามข้อเสนอของวิปสนช.
***เตือนเคลื่อนไหวขอให้อยู่ในกรอบ
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจออกมาเคลี่อนไหวกดดัน สนช. ในการลงมติถอดถอนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า ไม่เป็นห่วง ฝ่ายความมั่นคงติดตามสถานการณ์อยู่ ขอเตือนว่าการเคลื่อนไหว อย่าให้เกินไปกว่ากรอบกฎหมายที่ได้ประกาศไว้ และคงจะต้องดูความถูกต้องตามเหตุผลข้อมูลที่ได้ชี้แจงกันไป ขอร้องว่า ทุกคนต้องอยู่ในกรอบกติกา และฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน เหตุผลใครผิด หรือถูก ก็คงจะต้องว่ากันไปตามนั้น และคงเป็นอิสระของ สนช. จะเป็นผู้พิจารณา
สำหรับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จะให้ทหารออกไปชี้แจงทำความเข้าใจ หลังมติในเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า อยู่ที่เหตุผลและความเป็นจริงที่ผ่านมา การทำความเข้าใจ คงเป็นการทำตามหน้าที่ที่ทำอยู่ปัจจุบัน
*** รัฐบาลรับกังวลหลังมีผลถอดถอน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้คสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วยชี้แจงเรื่องการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ในที่ประชุมร่วมครม. และคสช. เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา นายกฯ ไม่ได้สั่งการให้ช่วยชี้แจงแต่อย่างใด เพียงแต่บอกว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ สนช. ไม่ใช่หน้าที่ของ ครม. และ คสช. รัฐบาลจะมีความเห็นเรื่องนี้ไม่ได้
ส่วนที่มีความเป็นห่วงว่า การถอดถอนจะขัดกับการสร้างความปรองดองของรัฐบาลนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ความจริงมันเหมือนหนีเสือ ปะจระเข้ ถ้าไม่ทำอะไร จะถูกวิจารณ์อีกอย่างหนึ่งว่าซูเอี๋ยกัน สมรู้ร่วมคิดกัน และอาจจะมีความผิด ถ้าจำเป็นต้องทำ ซึ่งมันพูดยาก จะมาบอกว่า การไม่ทำอะไรเลย คือ การปรองดอง มันคงไม่ใช่ การปรองดองทำได้หลายขั้นตอน หลักที่รัฐบาลพยายามใช้อยู่ คือ การเข้าสู่กระบวนการ และหลังจากนั้นจะแก้ไข หรือจะเยียวยา หรือจะบรรเทาอย่างไร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นายกฯ ถึงพูดถึงการเข้าสู่กระบวนการอภัยโทษ และนิรโทษกรรม ซึ่งมีขั้นตอนของมัน
เมื่อถามว่า เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับรัฐบาลหรือไม่ หากมีการถอดถอนขึ้นมา เพราะอีกฝ่ายบอกว่าถ้าถอดถอน เท่ากับปิดประตูการปรองดองไปเลย นายวิษณุ กล่าวว่า ความกังวลยังคงมีอยู่บ้าง ในแง่ที่ว่าอาจจะมีคนไม่เข้าใจ และก่อความไม่สงบ แต่ไม่ได้เป็นห่วง เพราะนั่นแปลว่า คงจะมีการเตรียมรับสถานการณ์ได้ ไม่ว่าสถานการณ์จะออกมาแบบไหนก็ตาม
***"บิ๊กตู่"ขอให้ไปหาวิธีนิรโทษ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกรณีการถอดถอน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเมือง และการปรองดองหรือไม่ว่า เรื่องความมั่นคงทางด้านการเมือง ไปแยกให้ออกว่าปรองดองคืออะไร ปรองดอง คือ ทุกคนอยากจะคุยกัน ไปมาหาสู่กัน ดูแลกัน นี่คือปรองดอง ไม่มีศัตรู ไม่ได้โกรธเคืองกัน นี่คือปรองดอง อะไรคือกฎหมาย ก็ไปเข้ากระบวนการยุติธรรม
"วันนี้รัฐบาลมี สนช. ก็ให้เกียรติเขา ก็เหมือนสภา คนมันบังคับกันไม่ได้ เขาไปทำหน้าที่แทน ก็ต้องเชื่อมั่นในระบบ ถ้าไม่เชื่อเขา วันหลังก็ไม่ต้องเชื่อสภา ทำไมเชื่อก็บอกว่าประชาชนเลือกมา ก็เลือกเอาแล้วกัน กระบวนการยุติธรรมเขาจะบอกเอง ถูกหรือผิด ฟ้องก็ไปฟ้อง มีกลไกอยู่แล้ว ต่อสู้คดีได้ ก็สู้ไป ถ้าติดคุก แล้วก็ไปขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม ก็ไปหาข้อมูลมา ผมไม่รู้เรื่องกฎหมาย"นายกรัฐมนตรีกล่าว
** โวยป.ป.ช.ชี้มูลหวังผลถอด "ปู"
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการทุจริตระบายข้าวจีทูจี ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ น่าจะมีวาระซ่อนเร้นอย่างแน่นอน เนื่องจากการชี้มูลในคดีของตน เกิดก่อนที่จะมีการลงมติของ สนช. ในคดีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช. ก็ได้ยอมรับในคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีส่วนร่วมในการทุจริต หรือสมยอมให้เกิดการทุจริตด้วย เพียงแต่กล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ที่ละเลย ไม่ระงับยับยั้งการทุจริตความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวของรัฐบาลเท่านั้น และที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เพียงแต่เป็นผู้กำหนดนโยบายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติ
"การชี้มูลความผิดผมในเวลานี้ เพียงเพราะต้องการหาแพะมาดำเนินการ เพื่อเชื่อมโยงให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์มีความผิดให้ได้ เพื่อใช้มูลความผิดกรณีนี้ มากดดัน หรือชี้นำในการลงมติของสนช. เพื่อให้เห็นว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวของรัฐบาลก่อนมีการทุจริต ดังที่ป.ป.ช.ได้เคยชี้มูลความผิดไว้ จึงจำเป็นต้องมีการชี้มูลความผิดก่อนหน้าที่ สนช.จะลงมติ 2 วันเท่านั้น"นายบุญทรงกล่าว
นายบุญทรงกล่าวถึงมูลค่าความเสียหาย ซึ่ง ป.ป.ช. ระบุไว้ในสำนวนชี้มูลความผิดว่ามูลค่าเกิน 6 แสนล้านบาทว่า อยากทราบว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. นำตัวเลขดังกล่าวมาจากที่ใด เนื่องจากเท่าที่ทราบจากเอกสารของกรมการค้าต่างประเทศ การซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ทั้ง 4 สัญญานั้น ได้มีการชำระเงินค่าข้าวแล้ว และกรมการค้าต่างประเทศ ก็ได้แจ้งให้คณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.รับทราบ ซึ่งก็คือตัวเลขตามที่ นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช.แถลงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2558 ระบุว่า จากการทำสัญญาซื้อขายจำนวน 4 ฉบับ รวมมูลค่าเป็นเงิน 70,549 ล้านกว่าบาทเท่านั้น และเงินจำนวนดังกล่าว ก็ได้มีการชำระคืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
***เผย"ปู"มาเองวันแถลงปิดคดีวันนี้
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความโครงการรับจำนำข้าวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในการแถลงปิดคดีจำนำข้าววันนี้ (22 ม.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางไปแถลงปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวด้วยตัวเอง โดยมีทีมทนายความ 4 คน และอดีตรัฐมนตรี 5 คน ร่วมเดินทางไปด้วย
***"พาณิชย์"จ่อเอาผิด 2 ข้าราชการเอี่ยวจีทูจี
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการตัดสินความผิดทางวินัยข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 2 คน ที่ป.ป.ช.ระบุว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตขายข้าวจีทูจี เพราะต้องรอให้ป.ป.ช. ส่งหนังสือชี้มูลความผิดของข้าราชการดังกล่าวมาให้ก่อน และเมื่อได้รับแล้ว คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวงพาณิชย์ จะนำมาพิจารณาตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ.2551 มาตรา 29 วรรค 2 โดยมีเวลาพิจารณา 30 วัน ซึ่งต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย และระเบียบของกระทรวงฯ โดยหาก ป.ป.ช.ระบุว่า มีความผิดวินัยร้ายแรง ก็มีโทษให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งข้าราชการทั้ง 2 คนสามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้ และต่อไปถ้าป.ป.ช.ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้อง และศาลตัดสินว่าไม่มีความผิด ข้าราชการทั้ง 2 คนสามารถทำเรื่องขอกลับเข้ารับราชการได้อีก ส่วนข้าราชการเกษียณอายุแล้ว ไม่สามารถเอาผิดทางวินัยได้ ต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ป.ป.ช.ฟ้องแพ่งและอาญาต่อไป