xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คิดค่าโทรเป็นวินาที สปช.คิด-กสทช.ไม่ทำ-คสช.ตีมึน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สารี อ๋องสมหวัง “การปฏิรูปจะไม่มีความหมายเลย ถ้าประชาชนจับต้องไม่ได้ กินไม่ได้!”

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยที่ “น.ส.สารี อ๋องสมหวัง” ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ออกมาเรียกร้องให้มีการคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นวินาที เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ

เธอหวังว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภคมากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนรับรู้กติกา และรู้เท่าทัน จะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

และนี่คือ “สาร” ที่เธออยากบอกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนอย่างเราๆ

ทำไมถึงออกมาเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่คิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที

เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาเยอะมาก ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือบอกว่าเขาใช้แพ็กเกจ 500 นาที 899 บาท ส่วนใหญ่เขาจะจ่ายค่าโทรศัพท์ประมาณ 1,200 บาทต่อเดือน เขาจึงแปลกใจว่าทำไมเขาต้องจ่ายมากถึงพันสอง พอตรวจสอบถึงรู้ว่าเพราะค่าโทร.คิดเป็นนาที หากโทรเกิน 1 นาที ก็จะปัดเศษวินาทีให้เป็นหนึ่งนาที ซึ่งกรรมการที่รับเรื่องร้องเรียนก็มีมติไปแล้วว่าให้คืนเงินเขา แต่เรามาคิดว่าทุกคนเจอแบบนี้เหมือนกันหมด คือ โดนปัดเศษค่าโทรจากวินาทีให้เป็นนาที แล้วไม่ใช่เฉพาะแค่คนใช้รายเดือน แต่ยังรวมถึงคนส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้โทรศัพท์ในระบบเติมเงินด้วย

ฉะนั้นสมมติว่าเราโทรไปหาเพื่อน 2 นาที 3 วินาที เราก็ถูกคิดค่าโทรเป็น 3 นาที หรือเราโทร 5 นาทีกว่า ก็จะถูกปัดเศษเป็น 6 นาที เรียกว่าเราถูกปัดค่าโทรทุกครั้งที่เราโทรศัพท์ พอมาคุยในกรรมาธิการฯ ว่าคณะเราจะทำอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งคือ ทำข้อเสนอเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องคุ้มครองผู้บริโภคว่ามีสาระบัญญัติอะไรบ้างที่ควรจะต้องทำ ส่วนที่สองคือ เราดูว่ามีปัญหาอะไรที่ผู้บริโภคเจอและเป็นปัญหาที่คิดว่าสามารถจัดการได้เร็วและแก้ปัญหาได้เลย

ในส่วนที่สองนี้ นอกจากคิดว่าจะทำอะไรได้เร็วบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งเราคิดว่าการปฏิรูปครั้งนี้มีความหมายในเชิงที่เราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคในมากขึ้น เพราะฉะนั้นกรรมาธิการจึงเสนอเรื่องเบื้องต้นสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือ แรงผลักดันผู้บริโภคเพื่อทำให้เกิดเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศที่เข้มแข็ง ไม่ใช่แค่มีในกรุงเทพมหานครอย่างเดียวเท่านั้น เราต้องการปรับโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมมากขึ้น เน้นว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง และทำให้เกิดการคุ้มครองของผู้บริโภค ซึ่งส่วนนี้ก็จะออกเป็นกฎหมาย และส่งออกไปสู่ส่วนต่างๆ ต่อไป ส่วนเรื่องที่สองที่มีคนร้องเรียนเรื่องค่าโทรศัพท์นั้น พอมาคุยกับคณะกรรมาธิการฯ ทุกคนรู้สึกและเจอเหมือนกัน ทุกคนก็เห็นด้วยว่าน่าจะเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องเด่น เราจึงรีบทำข้อมูลว่าสภาพปัญหาเป็นอย่างไร ไปศึกษาว่าข้อร้องเรียนเป็นอย่างไร

พอศึกษากติกาเบื้องต้นของ กสทช.ว่า มีอะไรบ้าง พบว่า กสทช. กำหนดแต่เรื่องราคาขั้นสูงของผู้บริโภคใน 2G แต่ใน3G ไม่ได้กำหนดราคาขั้นสูงว่าเท่าไหร่ และไม่ได้กำหนดการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาที นี่จึงเป็นปัญหาที่เราคิดว่าสมควรแก้ไข

แล้วพอนั้นเราไปศึกษาว่าต่างประเทศเขาทำเรื่องนี้อย่างไร พบว่าประเทศที่ทำเรื่องนี้ชัดเจน คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งเขาคิดค่าโทรเป็นวินาที โทรเสร็จแล้วมีการโทรกลับมาบอกลูกค้าด้วยว่าใช้โทรศัพท์กี่นาที กี่บาท เหลือตังค์กี่บาท นอกนั้นก็มีประเทศจาเมกา สเปน และประเทศอื่นๆ ในยุโรป อย่างประเทศสเปนออกเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติเลยว่า ให้คิดค่าโทรตามจริงที่ผู้บริโภคใช้งาน ซึ่งการคิดค่าโทรแบบนี้ในสเปน ทำให้นำมาสู่กติกาในยุโรป เนื่องจากคนในยุโรปเดินทางข้ามประเทศกันเยอะ ทำให้เขาจ่ายค่าโทรศัพท์แพง ฉะนั้นเป็นเหตุทำให้ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่คิดค่าโทรเป็นวินาที เช่น โทรข้ามประเทศในยุโรป เขาก็คิดค่าโทรเป็นวินาที แต่อาจจะมีวิธีการคิดว่า 30 วินาทีแรกเป็นค่าโทรอัตราขั้นต่ำ ดังนั้นถ้าคุณโทรน้อยกว่า 30 วินาที ให้คิดเป็น 30 วินาที แล้วเมื่อไหร่ที่โทรเกิน 30 วินาที ให้คิดค่าโทรตามจริงเลย

นอกจากนั้นเราพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า เวลาบริษัทโทรคมนาคมโทรข้ามเครือข่ายกัน สมมติว่าเอไอเอสเครือข่ายแน่น ก็ต้องไปใช้เครือข่ายของดีแทค หรือถ้าเครือข่ายของทรูแน่น ก็จะไปใช้เครือข่ายของเอไอเอส คือใช้สลับกันไปมา ซึ่งบริษัทเหล่านี้คิดค่าโทรกันเป็นวินาที แต่พอมาคิดค่าโทรกับผู้บริโภค เขากลับมาปัดค่าโทรเป็นนาที

ที่ผ่านมา เราเคยคุยกับคณะและพูดในสภาว่า เวลาเราซื้อของแล้วโดนชาวบ้านโกงตาชั่ง เรายังไม่ยอมเลย หรือเวลาไปซื้อของในห้าง ถ้าโดนคิดตังค์เกิน เรายังไม่ยอมเลย ดังนั้นค่าโทรศัพท์ก็ควรเป็นเหมือนกัน คือ ไม่ควรคิดค่าโทรเป็นนาที เราควรใช้มาตรวัดหรือวิธีคิดแบบเดียวกัน จึงกลายเป็นข้อเสนอว่า น่าจะเปลี่ยนวิธีการคิดค่าโทรศัพท์เป็นวินาทีให้ชัดเจน ซึ่งพอทำข้อเสนอไปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติแล้วเสียงเป็นเอกฉันท์ มีคนไม่เห็นด้วยแค่ 3 คนเท่านั้นเอง ในขณะที่ผู้ประการมีท่าทีตอบรับ ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำโปรโมชั่น คือ เป็นการทำเบื้องต้น ดังนั้นคิดว่าไม่น่ามีปัญหาทางเทคนิค เรื่องนี้น่าจะทำสำเร็จและเดินหน้าต่อไปได้

มีข้อเสนออะไรบ้างที่คิดว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด

การทำงานในส่วนนี้ เราอยากให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องฟังมติของเรา เช่น มติที่บอกว่า

ข้อหนึ่ง เราอยากให้ทำเป็นการทั่วไป คือ ทำถาวร ไม่ใช่ทำเพื่อเป็นโปรโมชั่นทางเลือก เพราะโปรโมชั่นทางเลือกมันมาและก็ไป สมมติบอกว่าคุณจะใช้เป็นวินาทีก็ได้ แต่คิดค่าโทรเท่านี้ๆ นะ มันก็อาจทำให้ผู้บริโภคต้องคิดอีกว่าถ้าย้ายไปใช้โปรโมชันใหม่แล้วจะคุ้มค่าไหม

ข้อสอง ควรจะคิดราคาให้เป็นวินาทีเท่าเทียมกันทุกคน ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องย้ายไปใช้โปรโมชั่นนั้นๆ

ข้อสาม หากทำเป็นโปรโมชั่น มันอาจจะทำอยู่แค่ 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน และก็หายไป ซึ่งเราไม่ได้อยากทำเรื่องนี้ให้เป็นการส่งเสริมการขาย แต่อยากให้คิดว่ามันเป็นหลักคิดที่ควรทำให้เป็นวัฒนธรรมว่า ควรจะคิดค่าโทรตามจริงแบบนี้ และควร ให้แยกกันเป็นสองระบบ ระหว่างวิธีคิดที่ควรจะคิดเป็นวินาที กับเรื่องราคาที่เป็นธรรม เพราะในเรื่องค่าโทรศัพท์ เราคิดว่าทาง กสทช. เองก็ควรไปคิดอัตราค่าโทรศัพท์ขั้นสูง หรือควรจะเป็นเหมือนที่ กสทช. เคยบอกไว้ว่า ถ้าเป็น 3G แล้ว ควรจะลดค่าโทรได้ 15 เปอร์เซ็นต์ คือ ไม่เกิน 85 สตางค์ต่อนาทีหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องที่ กสทช. สามารถไปกำกับเพิ่มเติมได้ นอกเหนือจากที่เราเสนอไป

การที่เราเสนอให้มีระบบการคิดแบบนี้ เพราะอยากเห็นการทำที่เป็นถาวร หรือเรียกว่ามาตรวัดวิทยาที่จะคิดคำนวณให้ตรงไปตรงมาต่อการใช้งานของผู้บริโภค ไม่อยากเห็นว่าโทรแล้วปัดเศษ

หากทำเรื่องนี้สำเร็จ คิดว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างอีก นอกเหนือจากได้ค่าโทรศัพท์ถูกลง

คือถ้าดูตัวเลขข้อมูล จะเห็นว่าเป็นข้อมูลว่าไตรมาสที่แล้ว มีคนใช้โทรศัพท์มือถือทั้งหมด 94 ล้านเลขหมาย แต่ล่าสุดได้ยินว่ามีคนใช้ 100 ล้านเลขหมายแล้ว โดย 90 เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้เป็นระบบเติมเงิน ส่วนที่เหลือเป็นระบบรายเดือน

กสทช.เคยคิดค่าเฉลี่ยค่าโทรศัพท์ทุกค่ายอยู่ที่ 1.33 บาทต่อ 1 นาที ฉะนั้นถ้าทุกคนเจอคิดค่าโทรปัดเศษแค่คนละ 1 นาทีต่อเดือน แต่ความจริงแล้วเชื่อว่ามันต้องมากกว่าหนึ่งนาทีอยู่แล้ว แต่เราคิดแค่ 1 นาทีพอ แล้วเอาเบอร์ 90 ล้านมาคูณ ก็จะเท่ากับเงิน 3,500 ล้าน ถ้าปีหนึ่งก็ประมาณ 43,000 ล้าน ถือเป็นเป็นเงินที่เยอะมาก

ในสหภาพยุโรปพบว่า วิธีการคิดแบบนี้ จะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ใช้งานจริงมากถึง 24 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า1 ใน 4 ของค่าโทรศัพท์ ผู้บริโภคไม่ได้ใช้งานจริงๆ ดังนั้นเราเลยคิดว่าหากทำเรื่องนี้สำเร็จ จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์โดยตรง และทำให้มีหลักการคิดที่ดี มีมาตรวัดที่ดีมากขึ้น

เราจึงขอเสนอให้เปลี่ยนคิดค่าโทรเป็นวินาทีไปตั้งแต่ก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา ตั้งใจว่าจะทำเป็นของขวัญให้ประชาชน ทางที่หนึ่ง เราเสนอไปที่ คสช. ทางที่สองคือ เราเสนอไปที่ กสทช. ก็แล้วแต่ว่าใครจะมาทำให้สำเร็จเป็นของขวัญประชาชน แต่ปรากฏว่าเรื่องมันก็ไม่ได้เข้าที่ประชุมในวันที่ 29 ธ.ค. มาเข้าอีกทีวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา แล้วปรากฏว่าเรื่องที่เราเสนอไป กลายเป็นเสียงข้างมาก ทำให้ กสทช. ก็นัดประชุมเรื่องนี้วันรุ่งขึ้นทันที หลังจากประชุมเสร็จ เราได้ข้อสังเกตจากการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นโอกาสในการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์สูงสุดมากขึ้นอย่างไรบ้าง

ความจริงเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ควรจะต้องปรับปรุงอีกหลายประเด็น เช่น ควรจะมีการกำกับการข้ามแดนอัตโนมัติ แล้ว กสทช. เองก็ควรจะยกเลิกบริการบางอย่าง เช่น ฝากข้อความ เวลาคนโทรมาก็ต้องเสียเงินเลย เพราะกลายเป็นรับ หรือเรื่องดูแลคุณภาพสัญญาณให้มีมาตรฐาน ไม่ใช่โทรแล้วหลุดๆ และไม่ปัดเศษค่าโทรเป็นนาที นี่คือข้อเสนอที่สภาปฏิรูปแห่งชาติให้คำแนะนำในวันนั้น ซึ่งเราก็คิดว่าจะทำเรื่องเหล่านี้แนบไปด้วย เชื่อว่าหากทำสำเร็จ ประชาชนน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น

แล้วถ้าเราไปดูกฎหมายมาตรา 31 วรรค 2 เรื่องพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับประกอบกิจกรรมวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 บอกไว้ว่า

“ให้กสทช. ออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบ โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณา อันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความรำคาญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

คือ ในกฎหมายนี้มีการใช้คำพูดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใดๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค คือเรียกว่าที่น่าจะเป็น กสทช. โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ให้ กสทช.มีอำนาจในการสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้

เพราะฉะนั้นกสทช. ก็มีอำนาจสั่งการแก้ไขได้แล้ว หากเห็นว่าเป็นการกระทำที่เอาเปรียบ เพราะกฎหมายให้อำนาจแก่ กสทช. อยู่แล้ว เราจึงหวังว่า เรื่องนี้จะทำให้ กสทช. เห็นเป็นประเด็นสำคัญ

และต้องบอกว่าเราให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้มาก เพราะเราต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้บริโภค คือ การปฏิรูปจะไม่มีความหมายเลย ถ้าปฏิรูปแล้วประชาชนจับต้องไม่ได้ กินไม่ได้ แต่ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้น ชาวบ้านเข้าใจ กินได้และจับต้องได้จริงๆ มันไม่ใช่แค่นามธรรม หรือนโยบายกว้างๆ ที่จับต้องไม่ได้

รู้สึกอย่างไรที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบในกิจการโทรคมนาคมเสมอมา คุณคิดว่าเราควรจะมีวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรบ้างจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ความจริงเราคิดว่ามีเรื่องร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมเยอะ แต่เรื่องร้องเรียนเหล่านี้มีการจัดการเป็นกรณีๆ ไป โดยไม่ได้มองปัญหาทั้งระบบ ซึ่งเราคิดว่าการจัดการเรื่องร้องเรียน มันไม่ควรแก้ไขทีละรายๆ เพราะมันจะทำให้คุณทำงานไม่มีวันจบ แต่คุณต้องดูว่าเรื่องที่เกิดขึ้น มันกว้างขวางแค่ไหน มันเข้าข่ายที่เป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบหรือเปล่า

สมมติว่ามีเรื่องร้องเรียนเข้ามา ก็ต้องไปดู กสทช. ว่า เรื่องที่ร้องเรียนมานั้นเป็นอย่างไร วิธีแก้ไข แนะนำว่า

ประเด็นที่หนึ่ง ควรดูว่าเรามีกติกาหรือยัง ถ้ามีกติกา แสดงว่าการบังคับใช้กติกามีปัญหา ฉะนั้น กสทช.ก็ต้องไปเข้มงวดกับบริษัทโทรคมนาคมว่า คุณห้ามทำแบบนี้ ถ้าคราวหน้ามา ผมปรับตามอำนาจกฎหมายมากกว่านี้ คือ ถ้าหาก กสทช.เข้มงวดแบบนี้ คือ มันจะเป็นการประกาศกติกาและหลักการของ กสทช.ว่าเข้มงวด อันจะทำให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคดีขึ้น

ประเด็นที่สอง เราต้องมาดูว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามา ถ้ามีกติกาแล้ว ก็ต้องไปจัดการเรื่องบังคับ แต่ถ้ามีกติกาแล้ว แต่ไม่มีกติกา หรือไม่มีกฎหมาย คุณก็ควรไปทำกติกาเรื่องนี้ขึ้นมา

ประเด็นที่สาม ถ้าเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนมา เกิดจากความไม่รู้ คุณก็ควรไปชี้แจ้งหรือให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคให้ชัดเจน เช่น ควรทำการรณรงค์ หรือประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้และเครือข่ายคนที่รู้เรื่องนี้มากขึ้น เช่น ว่าถ้าผู้บริโภครู้ว่าการใช้บริการโทรศัพท์ 2G ต้องคิดเงิน 99 สตางค์ต่อวินาที ถ้าใครถูกคิดเงิน 1.50 บาท ก็ต้องร้องเรียน แต่ถ้าผู้บริโภคไม่รู้ เราก็ควรทำให้เขารู้

สรุปมี 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ควรต้องทำและแก้ไข หากเรื่องไหนยังไม่มีกติกา ยังเป็นช่องว่างของกฎหมาย ยังไม่มีมาตรการอะไรเลย ก็ควรไปออกมาตรการหรืออกหลักเกณฑ์ออกมาให้เรียบร้อย

อีกส่วนหนึ่ง ต้องบอกว่า มันคือปัญหาทิศทางของประเทศเลย คือ ที่ผ่านมารัฐเน้นการขยายตัวกิจการโทรคมนาคมมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วตอนนี้ไม่ใช่แต่กิจการโทรคมนาคม แต่มันกลายเป็นทุกส่วน กลายเป็นว่าประชาชนต้องมาทีหลัง โดยที่ไม่ได้มองว่าการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดี มันจะทำให้ธุรกิจเติบโตและเข้มแข็ง ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ซึ่งความจริงมันควรจะถูกคิดไปในทิศทางนั้น ถ้าประเทศบอกว่าเราจะไปแบบเสรีนิยม เราก็ต้องดูว่าถ้าโทรศัพท์ถูกคิดตรงไปตรงมา ถูกคิดเป็นวินาที ผู้ประกอบการก็ย่อมต้องการกำไรเต็มที่ ดังนั้นเขาก็ต้องไปเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น และจะทำให้การแข่งขันมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วเราคิดว่าผู้ประกอบการก็ต้องปรับทิศทางไปในทางลักษณะนั้น ผลที่สุด คือ ผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์และเป็นธรรมมากขึ้น

นอกจากนั้น ต้องมาดูคนว่า คนที่อยู่นั้นมีปัญหาไหม หรือว่าดีหรือยัง ถ้าไม่ เราก็เปลี่ยนคน แต่ถ้าระบบไม่ดี เราก็เปลี่ยนระบบ เพราะขณะนี้เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันเป็นภาพฝันของสังคม ดังนั้น เรื่องกิจการโทรคมนาคม หรือกิจการกระจายเสียง ถือเป็นเรื่องพื้นฐาน อาจเรียกได้ว่าสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องยึดกับประโยชน์ของสาธารณะ ยึดถือประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น สาระที่จะถูกเขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญ จึงมีความสำคัญมาก

แต่ตอนนี้เราจึงอยากเห็นหน้าตาของการปฏิรูปก่อน แล้วจึงทำกฎหมายให้สอดคล้องกับการปฏิรูป ไม่ใช่ว่าตอนนี้เราไปทำอะไรก่อน ไปแก้ไขอะไรเยอะแยะ แต่สุดท้ายไม่เห็นภาพที่สมควรจะเป็น เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ในเรื่องกิจการโทรคมนาคม กิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์เท่านั้น แต่มันคือหลายๆ ส่วน ที่เราควรจะทำให้ประชาชนมีความหวังในการปฏิรูป นอกจากนั้น ต้องทำให้เรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณะเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษ แต่มันเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และคิดว่าทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ดี ซึ่งจะทำให้ประชาชนพึ่งพิงส่วนต่างๆ น้อยลง

เราอยากเห็น กสทช. มีหน้าที่ทำเรื่องนี้ และหวังว่าเรื่องการให้คิดค่าโทรเป็นวินาทีจะเป็นเสียงข้างมาก เหมือนอย่างสภาปฏิรูปแห่งชาติทำมาแล้ว

อีกส่วนหนึ่งคือ เราคิดว่าประชาชนมีความสำคัญ ควรต้องติดตามและรู้ว่ากติกาเรื่องนั้นๆเป็นอย่างไร เหมือนที่เราคิดว่าหากจะมีองค์กรอิสระของผู้บริโภค เราจะต้องทำให้ประชาชนรู้ว่า ต้องใช้โทรศัพท์อย่างไรถึงจะได้รับความเป็นธรรม กติกาที่มีอยู่มีอะไรบ้าง คือ ทำให้เหมือนคนดูฟุตบอล คือ รู้ว่าฝั่งไหนใครเล่น ฝั่งไหนเล่นแล้วไม่เอาเปรียบคนอื่น ไลน์แมนเป็นอย่างไร โค้ชเป็นอย่างไร กรรมการเป็นยังไง เพราะฉะนั้นคนดูต้องดูเป็น ซึ่งก็เหมือนกับว่าผู้บริโภคจะต้องรู้เท่าทัน มีทักษะ สิ่งเหล่านี้ต้องทำให้เหมือนกันทั้งประเทศ เพราะหากทุกคนรู้เท่าทันแล้ว ก็จะไม่โดนเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

ภาพโดย จิรโชค พันทวี



กำลังโหลดความคิดเห็น