xs
xsm
sm
md
lg

กรมปศุสัตว์โต้ "เลือดไก่" ไม่มีเชื้ออหิวาต์เทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมปศุสัตว์ยันตรวจไม่พบ "เชื้ออหิวาต์เทียม" ในเลือดไก่ และโรงเชือด ย้ำโรงเชือดมีการคุมคุณภาพ ได้มาตรฐานการผลิต ต้มเลือดจนสุกก่อนขนส่งทุกครั้ง มั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์หากมีเชื้อก็ตายหมด ระบุก่อนรับประทานต้องต้มสุกอีกครั้ง ด้าน กรมควบคุมโรคร่วมย้ำปศุสัตว์ "ไก่" ไม่มีเชื้ออหิวาตท์เทียม แต่ระบุพบตั้งแต่รางรองเลือดไก่ สันนิษฐาน "น้ำเกลือ" ต้นเหตุการปนเปื้อน ระบุยังต้องสืบสวนสอบสวนต่อไป พร้อมส่งหนังสือถึง สสจ.ตรวจสอบอาหารไม่บริสุทธิ์ ด้านกรมวิทย์ชี้คนอาจเป็นพาหะ

วานนี้ (15 ม.ค.) สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกรมปศุศัตว์ แถลงข่าวเรื่อง "เลือดไก่อันตรายจริงหรือ" หลังกรมควบคุมโรค (คร.) พบการปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์เทียมในเลือดไก่ตั้งแต่ขั้นตอนการเชือด การขนส่ง ไปจนถึงตลาดขายเลือดไก่ ทั้งนี้ นสพ.อยุทธ์ หรินทรานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบโรงเชือดไก่ที่ คร.ระบุว่าพบเชื้ออหิวาต์เทียม และโรงเชือดไก่อีก 27 แห่ง ต่างไม่พบการปนเปื้อนเชื้อแต่อย่างใด แต่จะตรวจสอบต่อไปอีกสักระยะและถี่ขึ้นเพื่อความมั่นใจ ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่ เพราะทุกคนทราบดีว่าเชื้อไม่ได้อยู่ในตัวไก่ สำหรับประชาชนขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ

นสพ.สุเจตน์ ชื่นชม รองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพการผลิตในโรงงาน กล่าวว่า โรงเชือดไก่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานทุกขั้นตอน โดยไก่ที่เลือกเข้าโรงงานเชือดต้องไม่ใช่ไก่ป่วย จากนั้นจะทำให้สลบแล้วจึงเชือดให้เลือดไก่ไหลลงไปในรางสแตนเลส แล้วจึงกรองลงสู่ถ้วยสแตนเลส จากนั้นใส่น้ำเกลือ 10% เพื่อให้เลือดแข็งตัวและคงสภาพ ก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุม จากนั้นจะสุ่มนำเลือดก้อนบนสุด ตรงกลาง และด้านล่างสุดมาตรวจด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิ โดยมาตรฐานบริเวณใจกลางก้อนเลือดจะต้องมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 75 องศาเซลเซียส จากนั้นนำมาล้างด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส ก่อนจะแพ็กส่งไปยังปลายทาง ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่างๆ จะต้องผ่านการอบรมและตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีไข้ ท้องเสีย หรือเป็นหวัดจะไม่ให้เข้ามาในสายการผลิต

“นักระบาดวิทยาบอกว่าเจอเชื้ออหิวาต์เทียมในรางเลือด ผมยืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ว่า เมื่อผ่านกระบวนการต้มด้วยอุณหภูมิคงที่ 80 องศาเซลเซียสแล้วเชื้อตายหมด เพราะฉะนั้นไม่น่าจะเกิดเชื้อได้ในกระบวนการของโรงเชือด ส่วนการปนเปื้อนระหว่างขนส่งยังไม่แน่ใจ ซึ่งโรงงานบางแห่งอาจจะแช่ด้วยน้ำเกลือ บางแห่งอาจจะแช่ด้วยน้ำแข็ง อย่างที่ทราบกันดีว่าในน้ำแข็งก็มีเชื้อโรคอยู่เช่นกัน” นสพ.สุเจตน์ กล่าวและว่า แม้จะมีการต้มเลือดจนสุกตั้งแต่กระบวนการของโรงเชือด แต่ยังไม่ถือว่าเป็นอาหารพร้อมรับประทาน จึงควรปรุงให้สุกอีกครั้งก่อนรับประทานด้วย

สพญ.พัชรี ทองคำคูณ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำการตรวจหาโรคจากมูลไก่ และลำไส้ไก่มาตลอด ไม่เคยพบเชื้อดังกล่าว เพราะฉะนั้นการปนเปื้อนอาจจะมาจากแหล่งอื่น เช่น การขนส่ง หรือการปรุงเป็นอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ จึงเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเรื่องจริงที่ คร.ตรวจพบเชื้ออหิวาต์เทียม แต่ก็ต้องมาพิสูจน์อีกเยอะว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ เพราะเชื้อดังกล่าวมีหลายร้อยสายพันธุ์ ซึ่งบางตัวก่อโรค บางตัวไม่ก่อโรค

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เห็นตรงกับกรมปศุสัตว์ว่า เชื้อไม่น่าจะเกิดขึ้นในตัวไก่อย่างแน่นอน แต่เชื้อที่พบนั้นพบตั้งแต่ขั้นตอนหลังจากเชือดที่บริเวณราง กระบวนการขนส่ง ร้านขายเลือดไก่ และร้านขายข้าวมันไก่ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่า เชื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยนักระบาดวิทยาจะต้องหาสาเหตุในทุกเหตุการณ์ เพื่อยืนยันต้นตอการพบเชื้อ แต่จากที่พบเชื้อตั้งแต่รางรองเลือดไก่ ทำให้สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากกระบวนการผลิต โดยเฉพาะน้ำเกลือที่ใช้ในกระบวนการผลิต แต่จะเกิดจากสาเหตุใดนั้นต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน เหมือนการสืบสวนสอบสวนคดีต่างๆ ซึ่ง คร.ทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการสืบหาสาเหตุที่แน่ชัดอยู่

"โรงงานที่พบเชื้ออหิวาต์เทียมขณะนี้ได้ปิดปรับปรุงระบบสุขาภิบาลการผลิตให้ได้มาตรฐานแล้ว ส่วนโรงงานอื่นมีการเข้าตรวจสอบและแจ้งเตือน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิต สำหรับผลการพิสูจน์ทราบต้นตอการเกิดเชื้อยังต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการเกิดเชื้ออย่างเต็มที่ ทั้งส่วนของการผลิต ขนส่ง และการขาย" รองอธิบดี คร. กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า นอกจากนี้ คร.ยังส่งหนังสือรายงานความคืบหน้าต่างๆ ไปยังปลัด สธ. เพื่อส่งต่อให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจสอบในพื้นที่ว่า มีเข้าข่ายผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์หรือไม่ ส่วนเลือดไก่จะมีเชื้อปนเปื้อนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิต 27 แห่งทั่วประเทศต่อไป ส่วนอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของเลือดไก่ไม่ต้องกังวล ทั้งแกงกะทิ หรือน้ำเงี้ยว เพราะพวกนี้ต้มก็จะสุกอยู่แล้ว ส่วนข้าวมันไก่ยังบริโภคได้ เหลือเพียงเลือดไก่หากจะรับประทานก็ขอทำให้สุก

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เชื้อที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงมีหลายตัว โดยเฉพาะในอาหารทะเล ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับฤดูกาล และเกี่ยวกับการปรุงอาหารว่าสุกหรือไม่ โดยเชื้อที่มักก่อให้เกิดปัญหาคือตระกูลอหิวาต์ ในข้าวมันไก่ก็เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบมาก่อนเป็นระยะๆ และทุกครั้งในอดีตจะพบว่าเกิดจากคนที่ทำงานในโรงงานเชือดไก่เป็นพาหะ คือตัวเองอาจจะได้รับเชื้อมาด้วยวิธีการต่างๆ หรือการรับประทานสัตว์ทะเล แต่ไม่ป่วย แต่เมื่อมาทำงานแล้วควบคุมเรื่องสุขอนามัยไม่ดีก็จะปล่อยเชื้อเข้าไปในกระบวนการผลิตได้ ดังนั้น ถ้าเราพบคนที่เป็นพาหะ แล้วทำการรักษาคน จึงจะสามารถจัดการกับเชื้ออหิวาต์เทียมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น