xs
xsm
sm
md
lg

"ทูตเมืองเบียร์"ไม่รับประกันเยอรมันโมเดลเหมาะกับไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15 ม.ค.) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เชิญ นายรอล์ฟ เพเทอร์ กอทท์ฟรีด ซุลเซ่ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย มาบรรยายพิเศษ เพื่อให้ความรู้กับบุคคลากรของสำนักงานกกต. เรื่อง“ระบบการเลือกตั้งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี”โดยมี นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วย นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ให้การต้อนรับ โดยนายศุภชัยกล่าวว่า เหตุที่ต้องเชิญมาบรรยายเรื่องระบบเลือกตั้งเยอรมัน เพราะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้วางรูปแบบว่า การเลือกตั้งต่อจากนี้จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันเป็นแบบอย่าง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย จึงอยากให้บุคลากรรวมทั้งประชาชน มีความรู้ความเข้าใจ เพราะรูปแบบดังกล่าวค่อนข้างมีความซับซ้อนมาก โดยหลังจากนี้ กกต. ก็จะได้ดำเนินการศึกษาในเรื่องนี้ต่อไป
ด้านนายรอล์ฟ กล่าวว่า ระบบเลือกแบบเยอรมันมีความซับซ้อนมาก แต่เชื่อว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่ยุติธรรม อิงประชาธิปไตยชาติหนึ่งในโลก โดยรากฐานระบบการเลือกตั้ง จะวางอยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเยอรมัน ที่ระบุว่า ข้าราชการต้องได้รับเลือกมาจากประชาชน โดยเฉพาะสมาชิกสภา ที่จะต้องได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และบุคคลเหล่านี้ เป็นตัวแทนของคนทั้งหมด แต่ละคนมีอิสระตัดสินใจ ออกเสียง ตามสติสัมปชัญญะของตัวเอง ส่วนหน่วยงานจัดการเลือกตั้ง คล้ายกับ กกต.ของไทย ตั้งมาจากกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นหน่วยงานที่จะประกอบขึ้น ก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งใหญ่
ทั้งนี้ ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน เป็นผลลัพธ์จากประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ที่ได้ผ่านมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราใช้ระบบการเลือกตั้ง 2 ระบบ คือ
1. ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภา และ 2. ระบบสัดส่วน ที่จะมีการออกเสียงให้กับส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่ากับว่า คนเยอรมัน จะมีสิทธิออกเสียง 2 เสียง คือเลือกส.ส.เขต และ เลือกพรรค แต่ละพรรคจะมีรายชื่อส.ส.เจาะจงแต่ละรัฐ โดยพรรคที่จะได้ตั้งรัฐบาล คือ พรรคที่ได้รับเสียงโหวตมากสุด
ทั้งนี้ การเลือกตั้งแบบนี้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเยอรมัน มีความอิสระที่จะเลือกคนที่ชอบและพรรคที่ชอบ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะมีการแยกเสียงระหว่าง การเลือกคน และเลือกพรรค
นายรอล์ฟ กล่าวอีกว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะมีการคำนวณจำนวนส.ส.ที่ซับซ้อน โดยส.ส.เขตที่ได้รับเลือกในตอนแรก จะได้เข้าไปนั่งในสภาอัตโนมัติ และจำนวนที่นั่งที่เหลือ จะมีการคำนวณจากยอดการใช้สิทธิทั้งประเทศ จำนวนที่นั่ง และจำนวนคะแนนที่แต่ละพรรคได้ ทำให้พรรคการเมืองเล็ก สามารถมีโอกาสเข้ามานั่งในสภา ไม่ใช่มีพรรคการเมืองไม่กี่พรรคที่เข้มแข็งเหมือนในอดีต เป็นการสร้างสมดุลระหว่างพรรคเล็ก และพรรคใหญ่ แต่อย่าลืมว่า เยอรมัน และไทยมีความแตกต่างกัน เพราะโหวตเลือกพรรคของเยอรมัน เป็นการเลือกพรรคที่ชนะ แต่ของไทยมีการนำไปคำนวณจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งนี้สมมุติว่า ในการเลือกตั้งปี 2554 ของไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะทำให้พรรคเพื่อไทย ได้ที่นั่ง 242 แทนที่จะเป็น 265 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะได้ 176 แทนที่จะได้ 159 ที่นั่ง
นายรอล์ฟ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า หากไทยนำระบบการเลือกตั้งเยอรมันมาใช้ จะแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ เพียงแต่ยืนยันว่า คนเยอรมันเชื่อมั่นในในระบบการเลือกตั้งของเยอรมัน ทำให้รัฐบาลที่ได้มามีเสถียรภาพมากขึ้น และระบบดังกล่าว ถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเทศ ก็ต้องดูตัวเองว่า ระบบนี้จะเหมาะกับ สังคม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ของประเทศนั้นๆ หรือไม่ บางประเทศจะเอาไปใช้เป็นพิมพ์เขียว หรือใช้เป็นองค์ประกอบก็ได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และประชาชนของเขาจะเลือกใช้อย่างไร
เมื่อถามว่า หน่วยงานจัดการเลือกตั้งของเยอรมัน มีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งหรือไม่ หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติ นายรอล์ฟ กล่าวว่า การเลื่อนวันเลือกตั้ง เป็นอำนาจฝ่ายบริหาร กกต.เยอรมัน ไม่มีอำนาจ แต่มีหน้าที่เพียงบริหารจัดการเลือกตั้ง ตรวจสอบพรรคผู้สมัครรับเลือกตั้ง และการนับคะแนนเท่านั้น รูปแบบการหาเสียงก็จะมีกฎระเบียบกำหนดไว้ ส่วนนโยบายในการหาเสียง ไม่มีข้อจำกัด และภายหลังเลือกตั้งก็ไม่มีการตรวจสอบว่า มีการดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนว่า เมื่อครบวาระแล้วมีการเลือกตั้งจะพิจารณาเลือกผู้สมัครหรือพรรคนั้นอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงจัดการเลือกตั้ง ผู้สมัคร พรรคการเมือง สามารถแถลงต่อสาธารณะผ่านสื่อในช่องทางต่างๆ ได้ โดยได้รับการสนับสุนน งบประมาณจากรัฐ ในช่วงเวลาที่มีการจัดการเลือกตั้ง ก็สามารถแถลงต่อสาธารณะผ่านช่องทางสื่อสารมวลชนต่างๆได้ โดยมีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ และหลังเลือกตั้งแล้ว หากมี ส.ส.ลาออก หรือ เสียชีวิต จนเป็นเหตุให้ตำแหน่งว่างลง จะไม่มีการเลือกตั้งซ่อม แต่ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งในลำดับถัดไป ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขตเลือกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งแทนโดยอัตโนมัติ จนครบวาระจึงจะเข้าสู่เลือกตั้งอีกครั้ง
ทั้งนี้ นายรอล์ฟ ได้ให้ความเห็นในตอนท้ายในฐานะของผู้ออกเสียงเลือกตั้งว่า ข้อดีของระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กได้มีโอกาสเข้ามามีที่นั่งในรัฐสภา ทำให้พรรคเล็กเจริญเติบโตได้ และนโยบายของพรรคเล็ก มีโอกาสกลายเป็นวาระแห่งชาติได้ง่ายขึ้น รวมทั้งระบบการเลือกตั้งเยอรมัน ยังจะทำให้พรรคการเมืองแต่ละพรรค หันหน้าเข้ามาทำงานร่วมกันได้อย่างประนีประนอม
กำลังโหลดความคิดเห็น