xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง"เอนก"หัวเรือใหญ่ปรองดอง ดึง"ปชป.-พท.-นปช.-กปปส."คุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังการประชุม คณะกรรมาธิการฯปฎิรูปการเมืองที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน และมีการเชิญผู้แทนจาก 4 หน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องการสร้างความปรองดองเข้าหารือ อาทิ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกมธ.ศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. , นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานอนุ กมธ.ด้านระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ , นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานอนุกมธ.การมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.ท.บุญธรรม โอริส ผู้แทนศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการปฏิบัติงานในเรื่องการปรองดองของแต่ละหน่วยงาน ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งหลักๆ คือ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ ศปป. ได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว ส่วนคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ก็กำลังศึกษาในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้หลังรับฟังความเห็นแล้ว ผู้ร่วมประชุมเสนอว่า การจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การสมานฉันท์ ปรองดองได้อย่างแท้จริง และใช้เวลาไม่นาน ต้องมุ่งไปที่ผู้นำพรรคการเมือง ผู้ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ส่วนองค์กรมวลชนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อสู้ตามแนวคิดอุดมการณ์ ที่มีการเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ก็คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ที่เกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทย และ กปปส. ที่เกี่ยวพันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะเห็นว่า จะต้องมีการเชิญผู้นำใน 4 ฝ่ายนี้ มาพูดคุย หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผู้ที่จะจัดต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ซึ่งยังไม่มีการพูดกันอย่างชัดเจนว่า หมายถึงใคร ในการที่จะเชิญคนเหล่านี้มาพบ และหารือกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ นายเอนก เป็นหัวหน้าในการประสาน 4 ฝ่าย และเป็นผู้ศึกษาดำเนินการในกรณีหากต้องให้ผู้มีอำนาจสูงสุดเข้ามาดำเนินการ ทางกรรมาธิการฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาในการทำงาน แต่ความแตกแยกที่ผ่านมาทำให้ประเทศเกิดความเสียหายมากแล้ว จึงเพียงแต่ขอให้นายเอนก พยายามเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า 1. หน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่ดำเนินการในการปรองดองไม่ได้ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน แต่จะต้องมีการประสานกัน โดยมอบหมายให้อนุฯปรองดอง ในกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง เป็นผู้ประสาน 2. เพื่อให้การปรองดองเป็นรูปธรรม พบว่า ประเด็นสำคัญคือ หัวเชื้อซึ่งหากจะทำให้การปรองดองสำเร็จ จะต้องให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายร่วมกันแก้ไขในจุดนี้ โดยภารกิจสำคัญคือ การพูดคุยกับหัวเชื้อ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พอได้ข้อสรุป จะนำเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ใครเป็นคนตัดสิน เพื่อคลี่คลายปัญหาตรงนี้ ทั้งนี้จะทำหนังสือให้ นายอเนก เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปรองดอง เป็น หัวเรือใหญ่ ในการขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ สนช. ศปป. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ กมธ.ปฏิรูปการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายวันชัย สอนศิริ กรรมาธิการ ย้ำต่อที่ประชุมว่า ถ้าไม่สามารถทำให้คนในชาติเกิดการปรองดองกัน กฎ กติกาต่างๆที่สร้างขึ้น ก็ไร้ผล ขณะนี้เป็นบรรยากาศที่เหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินการสร้างความปรองดอง เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง
ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ให้ความเห็นถึงการปรับเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบัน ส่วนประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมนั้น ยืนยันว่า ผู้กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อได้ข้อยุติ จึงดำเนินการเยียวยา พร้อมมองว่า ความขัดแย้งไม่ได้เป็นแค่สีเสื้อ
แต่รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง ที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ในฐานะ อนุกมธ.ปฏิรูปการเรียนรู้ การปรองดอง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ให้ความเห็นถึงการนิรโทษกรรมต่อที่ประชุม ว่า ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไปสู่การยอมรับ และขอโทษ จึงจะมีการพิจารณาถึงการนิรโทษกรรม ซึ่งจะเป็นขั้นสุดท้าย โดยจะต้องไม่รวมถึง คดีอาญา คดีทุจริต และ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ส่วน พล.อ. เอกชัย ศรีวิลาศในฐานะ รองประธานกรรมาธิการ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการสร้างความปรองดอง ไม่ควรรีบเร่ง และเป็นที่น่าเสียดาย ที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงควรจะทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น