xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นปมถอดถอนกระทบปฏิรูปฯ คาดสุดท้ายรอดหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความกังวลใจในการพิจารณาเรื่องราวของสนช.คือ เรื่องถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง จำนวน 4 เรื่อง คือ การถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ การถอดถอนอดีต ส.ว. และ ส.ส. จำนวน 38 คน ว่า เป็นเรื่องที่ตนมีความกังวลใจมากที่สุด เนื่องจากเวลาทำงานของ สนช. ที่จะต้องใช้ไปมากขึ้น กล่าวคือเวลานี้มีเข้ามาใหม่อีก 1 คำร้อง คือคำร้องขอถอดถอน 38 อดีต ส.ส. และ ส.ว. ดังนั้นจะรบกวนเวลาการทำงานของสมาชิก อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข่าวสารจากสื่อมวลชน ทราบว่ากำลังจะมีอีก 1 เรื่อง ที่เข้ามาใหม่ คือคำร้องจาก ป.ป.ช. กรณีถอดถอน 200 กว่าคน
ส่วนการถอดถอนจะกระทบต่อการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า เป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะเมื่อมีความขัดแย้ง ฟ้องร้องจนถึงขั้นที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็ต้องยุติลงในทางใดทางหนึ่ง เหมือนกับที่มีความขัดแย้งในสังคม ก็ไปยุติที่ศาล แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องทางการเมือง ต้องยุติที่สภา สิ่งที่สนช. ทำได้ดีที่สุด คือ การพิจารณาโดยยึดหลักความเป็นธรรม ความยุติธรรม ยึดหลักกฎหมาย เป็นคำตอบ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่สนช. ทำไปนั้น มีความยุติธรรม เป็นธรรม โดยความเป็นธรรมในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ถูกใจ หรือไม่ถูกใจ แน่นอนความถูกใจไม่ถูกใจเป็นอารมณ์ของบุคคล เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าพิจารณาให้ถ่องแท้ เขาก็อาจจะทำความเข้าใจได้ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของระบบกฎหมายที่สร้างขึ้นมา และกระบวนการก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สนช.ต้องระวัง
"สนช. ต้องเป็นกลาง ไม่ทำหรือไม่แสดงให้เห็นว่าจะไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือไม่มีอคติต่อฝ่ายหนึ่งใด ตรงนี้จะเป็นเกราะป้องกัน สนช. และที่สำคัญจะมีผลต่อความขัดแย้งของบุคคลในสังคมให้ลดน้อยลง ให้เข้าใจได้มากขึ้น เพราะถ้าเราไปสร้างความรู้สึกเกลียดชัง โดยทำให้เขาเห็นว่า สนช. ผู้ตัดสินเองไม่มีความเป็นธรรมมันก็จบ ทำให้สิ่งที่จะตามมาขาดความน่าเชื่อถือ" นายพรเพชร กล่าว
**อดีตส.ว.คาดสุดท้ายรอดหมด
ด้านนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี กล่าวถึงการทำงานปฏิรูปประเทศว่า อยากฝากถึงสนช.และ สปช. ต้องเน้นการปฏิรูปอย่างไรให้ประชาชนพ้นจากปัญหาปากท้อง สามารถลืมตาอ้าปากได้ และกฎหมายใดที่เป็นอุปสรรค ล้าหลัง ไม่ทันสมัย ก็สมควรที่จะแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองและโลกในปัจจุบัน ประชาธิปไตยต้องเอาเสียงคนส่วนใหญ่เป็นตัวตั้ง การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาไร้ทิศทางมาหลายปีแล้ว เพราะความขัดแย้งทางการเมือง วันนี้ควรเริ่มต้นใหม่ อำนาจต้องเท่าเทียมกัน อย่าฝืนธรรมชาติ
นายสิงห์ชัย ยังกล่าวถึงกรณีการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งว่า จากการสังเกตอาการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. แล้ว จะเห็นได้ว่าตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ คงจะไม่อยากให้มีการถอดถอนเท่าไรนัก เพราะอาจจะเป็นชนวนของความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการ จากการพูดคุยกับหลายคน หลายๆฝ่าย แนวโน้มการตัดสินให้ถอดถอนจากตำแหน่งคงไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่สมควรต้อง ถอดถอน เชื่อว่า น่าจะหลุดกันหมด แต่เรื่องการทุจริต ก็ต้องว่าไปตามหลักฐานไม่เกี่ยวกัน
ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นไปในลักษณะของกลุ่มผู้ที่มีอำนาจ มีความรู้ ร่างเพื่อให้เอื้อประโยชน์กับตนเอง ถ้าคิดว่าจะทำให้เป็นอำนาจของประชาชนนั้น เลิกคิดไปได้เลย กลุ่มคนที่มีอำนาจ ยังมองที่ปลายเหตุ พวกเขาคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน และขาดความรู้ ดังนั้นจะฝากอนาคตของประเทศไว้กับประชาชนไม่ได้ พวกเขายังไม่เชื่อพลังของประชาชนในการขับเคลื่อนประเทศ แต่พวกเขาจะออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างไร ให้อำนาจยังอยู่กับพวกเขาต่อไปอย่างเช่นหลายปีที่ผ่านมาได้ แต่ต้องเนียน คือ ให้ทั่วโลกยอมรับ วันนี้เราอย่าไปสนใจในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ ต้องดูที่เป้าหมายของการร่างมากกว่า วันนี้เป้าหมายมี 2 ประการ คือ 1. กลุ่มคนที่มีอำนาจ ยังต้องการมีอำนาจต่อไป 2. กลุ่มที่ต้องการให้ประชาชน มีสิทธิและเสรีภาพ ในการบริหารประเทศ ตามแบบฉบับประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
นายสิงห์ชัย กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลและคสช. ควรเน้นเรื่องกายภาพ เช่น การจัดการน้ำ การบุกรุกพื้นที่ป่า เรื่องการขนส่งระบบราง และปัญหาทางสังคม ควรรีบจัดการให้เรียบร้อยในช่วงนี้ที่รัฐบาลและคสช.ยังมีอำนาจอยู่ในมือ เพราะในสถานการณ์ที่บ้านเมืองปกติ เรื่องเหล่านี้จัดการได้ยากมาก และไม่ค่อยที่จะเกิดขึ้นได้เลย และอีกอย่างที่รัฐบาลควรเร่งรีบทำ คือเรื่องปัญหาปากท้องของประชาชน การจัดการด้านเกษตรชุมชน ให้ประชาชนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง เพราะความมั่นคงในท้องถิ่นจะส่งต่อความมั่นคงของชาติด้วย
“ วันนี้กลุ่มทุนใหญ่ๆ ในประเทศเริ่มมีอำนาจมากขึ้น โลกทุนใหม่เริ่มมีความชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้อันตรายต่อประชาชน จะทำให้ประชาชนตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ร้านค้าชุมชนหรือกลุ่มเกษตรชุมชน อาจจะโดนครองงำจากกลุ่มนายทุนใหญ่ ชาวบ้านจะเป็นได้แค่ลูกจ้าง ดังนั้นรัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนความมั่นคงในท้องถิ่นด้วย” นายสิงห์ชัย กล่าว

**ไม่ถอดถอน เท่ากับ นิรโทษกรรม???

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย และแกนนำกลุ่ม กปปส. เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "สุริยะใส กตะศิลา" โดยวิเคราะห์ถึงการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีความผิดฐานไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเริ่มพิจารณากันในสัปดาห์นี้ ความว่า
มติถอดถอนคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีทุจริตจำนำข้าว ที่จะเริ่มเปิดคดีกันในสัปดาห์หน้า และคาดว่าต้นเดือนกุมภาพันธ์ สนช. จะต้องลงมติว่า จะถอดถอนหรือไม่
คดีนี้ถือเป็นระเบิดเวลาทางการเมือง และต้องยอมรับว่า ไม่ว่ามติจะออกมาทางใดก็ตาม จะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง ไม่มากก็น้อย ถ้ามติถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 5 ของ สนช. หรือไม่ถึง 132 เสียง ถอดถอนไม่ได้ ก็จะมีคำถามทันทีว่า การทุจริตและความล้มเหลวจากนโยบายรับจำนำข้าว ใครจะรับผิดชอบ แต่ถ้าเสียงถอดถอนถึง 132 เสียง แน่นอนก็จะมีคนบางกลุ่มออกประณามว่า กลั่นแกล้งคนบริสุทธิ์ เลือกปฏิบัติ หรือไม่ปรองดอง เป็นต้น
เรื่องนี้ไม่มีทางออกที่ 3 ไม่มีตรงกลาง เป็นเรื่องผิดถูก และเจรจากันไม่ได้ ถ้าอำนาจรัฐไม่สามารถพิสูจน์ หรือแยกแยะผิดถูกออกจากกันได้ ก็มีคำถามว่าเรายังจะไว้วางใจอำนาจรัฐได้อยู่หรือไม่
ผลการลงมติของ สนช.ครั้งนี้ จะเป็นดัชนีชี้ถึงแนวโน้มทางการการเมืองจากนี้ได้มากทีเดียวไม่ว่าจะเป็นความจริงใจ ในการปฏิรูป การปราปรามการทุจริต การปรองดอง ไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญเสร็จ ไม่ต้องรอวาระสุดท้ายของ คสช. ไม่ต้องรอผลเลือกตั้ง เพราะยังไงเสียอำนาจนำทางการเมืองในขณะนี้จะทำอะไร จะตัดสินใจแบบไหนย่อมเล็งเห็นผลข้างหน้าอยู่แล้ว
ฟัง สนช.ปีกทหารใหญ่บางกลุ่ม บอกตั้งใจจะลงมติไม่ถอดถอน เพราะต้องการปรองดอง แสดงว่าคนกลุ่มนี้ก็รู้ว่า นโยบายจำนำข้าวเสียหายจริง และผู้นำต้องรับผิดชอบ แต่อยากให้อภัย เพราะอยากปรองดอง เลยโหวตไม่ถอดถอนดีกว่า หมายความว่า การไม่ถอดถอน คือ การนิรโทษกรรม และคนกลุ่มนี้ต้องการล้างผิดคนบางคนนั่นเอง อีกไม่นานก็จะได้รู้กันครับ !
กำลังโหลดความคิดเห็น