ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ --บทวิเคราะห์ เรื่องการปฏิรูปตำรวจในสถานการณ์ปัจจุบัน ฉบับนี้ เป็นเนื้อหากว้าง ๆ เพื่อให้สังคมเห็นแนวทาง และให้ตำรวจตื่นตัว เพื่อปรับปรุงตนเอง ว่าสื่อมวลชนที่มีคุณภาพอย่าง astv หรือ manager online กำลังจับตามองอยู่ ด้วยความหวังดี โดยเฉพาะ เป็นการกระตุกต่อม ธรรมาภิบาลของ ผู้มีอำนาจที่เข้ามาควบคุมการบริหารงานตำรวจ ให้มีจิตสำนึกว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด เพื่อประเทศชาติ สังคม และประชาชน หรือเพื่อตัวเอง เพราะประเด็นสำคัญ คือ มิใช่เรื่องปฏิรูปด้วยการ เปลี่ยนเหล้าเก่า ให้เข้าไปอยู่ในขวดใหม่ หรือเพียงสับขาหลอก ด้วยการจับกุม กลุ่มตำรวจผู้กระทำผิดให้เป็นข่าวครึกโครม เพื่อให้เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อให้สังคม และประชาชน หลงลืม เหมือนชมละคร สลับฉาก ไปพลาง ๆก่อนเท่านั้น แต่เบื้องหลัง ก็ยังใช้วิธีการรวบอำนาจในการบริหารงาน ด้วยการแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการตำรวจในเครือข่าย ด้วยบัญชีของผู้มีอำนาจ เท่านั้น เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจในอนาคตเท่านั้น
ด้วยความหวังดี
จาก สื่อมวลชน หัวใจตำรวจ
สถานการณ์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมตำรวจในอดีต เป็นหน่วยงานต้นทางของกระบวนยุติธรรม อันประกอบด้วย ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ด้วยภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันปราบปราบอาชญากรรม แก้ไขปัญหายาเสพติดให้โทษ ปัญหาสังคม การก่อการร้าย ฯลฯ นั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญา ความกล้าหาญเสียสละ ทุ่มเทสรรพกำลัง หรือแม้กระทั่งต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อสร้างความสงบสุขให้กับสังคม ตลอดจนสร้างความมั่นใจต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน แทนที่จะได้รับคำชมเชย และเชิดชูเกียรติยศ สมกับความหมายของคำว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” แต่การณ์กลับปรากฏว่า ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ส่งผลตรงกันข้าม และออกมาในทางลบ กลายเป็น “ผู้พิฆาตสันติสุข” เนื่องจากมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนน้อย สร้างความเสียหายด้วยการทุจริต ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่รังแก กลั่นแกล้งประชาชน ประพฤติตนเยี่ยงโจร
ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนมียศ และตำแหน่งหน้าที่การงานในระดับสูง กลับประพฤติตนเป็นขี้ข้า รับใช้นักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล กำจัดผู้ที่มีความคิดเห็นตรงกันข้าม ด้วยการฆ่าตัดตอน ฆ่าอำพรางคดี สร้างรอยด่างพร้อย ทำให้เกียรติยศชื่อเสียงของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ที่มุ่งมั่นสร้างความดีงาม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องพลอยเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง และศักดิ์ศรีไปด้วย ซึ่งเห็นเป็นตัวอย่างในกรณี อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นำภาพถ่ายการประดับยศพลตำรวจโท โดยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะอ้างว่าเป็นผู้มีพระคุณก็ตาม ไม่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้มีพระคุณนั้นเป็นจำเลยหลบหนีคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง หรือจะอ้างเป็นข้อแก้ตัวว่า ไปให้ประดับยศที่ต่างประเทศไม่ใช่พื้นที่ประเทศไทย แต่ก็เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดในข้อหา เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบ
มิหนำซ้ำนำภาพถ่ายที่ตนภูมิใจมาติดตั้งที่ห้องทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล และประกาศให้สังคม ประชาชน ผ่านสื่อมวลชนทราบว่า ชีวิตที่มีความก้าวหน้าเพราะพี่ให้ ไม่ทราบว่าหมายถึงพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้มีพระคุณหรือไม่ แทนที่จะมีจิตสำนึกว่า เป็นด้วยความรู้ความสามารถของตนเองที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าผู้อื่น จนได้รับโอกาสดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของข้าราชการตำรวจ เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีพฤติกรรมตัวอย่างไม่ดี ต่อหน้าข้าราชการตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ในบางมุมมองก็มีการเอาเป็นแบบอย่างว่า ถ้ารับใช้การเมืองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูแล้วล่ะก็ จะได้รับรางวัลและเกียรติยศ หน้าที่การงาน เยี่ยงนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีการจับกุมปราบปราม กลุ่มข้าราชการตำรวจสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่เป็นข่าวครึกโครม ว่ามีพฤติการณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์จากการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ส่วยและผลประโยชน์จากขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่พบการกระทำผิดเท่านั้น แต่กลับก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของวงการตำรวจยิ่งนัก
สภาพปัญหา
สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับสังคมและประชาชนแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหากับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในภาพรวม มีผลต่อขวัญกำลังใจของ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มอิทธิพลที่มีอำนาจแทรกแซงการบริหารงานบุคคล ระบบการแต่งตั้งโยกย้าย ปราศจากหลักเกณฑ์และระบบคุณธรรม มีการใช้เงินและผลประโยชน์ซื้อขายแลกเปลี่ยน เพื่อให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยปราศจากความรู้ความสามารถ ก้าวข้ามระบบอาวุโส รุ่นน้องข้ามหัวรุ่นพี่ ขึ้นมาปกครอง แต่ขาดความรู้ความสามารถ เนื่องจากเห็นตัวอย่างเลวที่เกิดขึ้น ต่างก็เอาเยี่ยงอย่างเลียนแบบ ใช้ระบบเส้นสายเพื่อให้ตนก้าวหน้าบ้าง อำนาจอิทธิพลทางการเมืองแทรกแซงเข้าครอบงำ การแต่งตั้งบริหารงานบุคคลทั้งระบบ ด้วยการกำจัด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้นำสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนแล้วคนเล่าออกไป เพื่อเปลี่ยนตัวบุคคล แต่งตั้งคนของฝ่ายการเมืองของตนเข้ามา จะได้สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทั้งหน่วยงาน ใช้เป็นกองกำลังของตนเอง เพื่อให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง หรือกำจัดฝ่ายตรงข้าม แม้กระทั่ง ทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์อย่างไร้มนุษยธรรม ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่างพากันเสียขวัญกำลังใจ และมองไม่เห็นอนาคตและก้าวหน้าในหน้าที่ราชการตำรวจ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในภาพรวมขาดประสิทธิภาพล้มเหลว จนยากที่จะแก้ไข เปรียบดั่งอาการเจ็บป่วยของคนไข้ที่ใกล้จะเสียชีวิต ยากที่จะเยียวยารักษา พยาบาลด้วย ยารักษาโรคแขนงใด นอกจากการผ่าตัด หรือตัดเนื้อร้ายบางส่วน และรักษาส่วนดีของร่างกาย เพื่อรักษาชีวิตไว้เท่านั้น
สาเหตุของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกิดจากปัจจัยปัญหาภายนอก และปัจจัยปัญหาภายใน จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข และกำจัดปัญหาภายนอกเสียก่อน อย่างทันทีท่วงทีเนื่องจากปัจจัยทั้งสองมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นรากเหง้าของปัญหาที่เกิดจากปัญหาภายนอกจากฝังรากลึกเข้าไปในโครงสร้างกำลังพล เป็นเครือข่าย ขุมกำลัง ข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งจากระบบอุปถัมภ์ เป็นอุปสรรคขวางกั้น ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารงานบุคคลของผู้บังคับบัญชา โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่กระทบต่อโครงสร้างทั้งระบบ การปูนบำเหน็จรางวัลในการปฏิบัติหน้าที่จนเกิดผลสำเร็จต่อทางราชการตำรวจ ตลอดจนการให้คุณให้โทษ หรือบทลงโทษ ล้วนแต่มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จากอดีตถึงปัจจุบัน
๑. ปัจจัยปัญหาภายนอก
ด้วยกำลังพล สองแสนกว่านาย กำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ และกฎหมายบัญญัติให้ตำรวจมีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุข เรียบร้อยของสังคม ประชาชน มีอำนาจจับกุม ตรวจค้น สืบสวน สอบสวน ดำเนินคดี ผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุข เรียบร้อยของสังคม และประชาชน อีกหลายร้อยฉบับ ทำให้กลุ่มอำนาจและอิทธิพล จำเป็นต้องเข้ามาควบคุมกำกับดูแล หน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมตำรวจ จากอดีตถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบกรมตำรวจที่ล่วงลับไป สร้างกำลังพลตำรวจ และสรรพกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ มีแสนยานุภาพเทียบเคียงได้เท่ากับ สามเหล่าทัพ เป็นขุมกำลังของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในการสร้างอิทธิพลทางการเมือง คุกคามฝ่ายตรงข้ามที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายรัฐบาล มีการฆาตกรรมอดีตสี่รัฐมนตรี อย่างอุกอาจ และโหดเหี้ยม จนกระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ปฏิวัติรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงได้แต่งตั้งข้าราชการทหารมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ อาทิ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ฯ จอมพลประภาส จารุเสถียร พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ และพลตำรวจเอกประจวบ สุนทรางกูร ซึ่งเป็นการเข้าใช้อำนาจทหารเข้าควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ เพื่อมิให้ผู้มีอำนาจนำกำลังพลของข้าราชการตำรวจไปสร้างอิทธิพลของตนเอง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลง อธิบดีกรมตำรวจที่มาจากข้าราชการตำรวจคนแรก คือ พลตำรวจเอกพจน์ เภกะนันท์ ในพ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศ จากระบบเผด็จการทหาร เป็นประชาธิปไตย ในยุค ๑๔ตุลาคม ๒๕๑๖ และในสถานการณ์ปัจจุบัน มีกลุ่มนายทหารที่ทำการปฏิวัติ ในนาม คสช. ก็เข้ามาควบคุมการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ประธาน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งสังคมกำลังเฝ้าจับตามองว่า จะมีความเปลี่ยนแปลง และปฏิรูประบบตำรวจในอนาคต ไปในรูปแบบและทิศทางใด ที่สำคัญก็คือ เพื่อรองรับการบริหารงานเพื่อประเทศชาติ สังคม และประชาชน หรือเพื่อตนเอง พวกพ้อง หรือเพื่อสืบทอดการบริหารอำนาจของ คสช.ต่อไป
๒. ปัจจัยปัญหาภายใน
ต่อมาในสมัยรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศ ตั้งแต่ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ ได้พยายามเปลี่ยนแปลง ระบบราชการ ในรูปแบบของการปรับปรุง ปฏิรูประบบการบริหารราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และกอง ใช้ข้าราชการตำรวจที่ตนไว้วางใจ ไปดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่น เช่น สำนักงานข่าวกรอง สำนักงานป้องกันและปราบปราบยาเสพติด สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนข้าราชการตำรวจ ออกไป และกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งสูงขึ้น สร้างขุมข่ายกำลังของข้าราชการตำรวจทุกระดับชั้น และใช้นโยบายกำปั้นเหล็ก ( IRON FIST ) ปราบปรามแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยการใช้มาตรการฆ่าตัดตอน จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๒,๐๐๐ คน ระหว่าง ปีพ.ศ.๒๕๔๖-๒๕๔๘
มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานตำรวจ คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ และสร้างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ใหม่ คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย มีอำนาจหน้าที่สืบสวน สอบสวน ตรวจค้น จับกุม และดำเนินคดีอาญา ทุกคดีที่เข้าหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการคดีพิเศษกำหนด ทำให้รัฐบาลมีอำนาจดุจเผด็จการรัฐสภาเรียกว่า “ ระบอบทักษิณ “ มีอำนาจและอิทธิพลใช้ข้าราชการตำรวจภายในเครือข่าย กำจัดศัตรูฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง มีการทุจริตประพฤติมิชอบในวงข้าราชการ และราชการตำรวจ กันอย่างกว้างขวาง ไม่มีผู้ใดทำลายล้างได้ เนื่องจากได้ สร้างขุมกำลังและเครือข่าย ด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ตนไว้วางใจ วางระบบต่อยอด ตั้งแต่ระดับสารวัตร จนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไว้หลายชั้น
หากข้าราชการตำรวจผู้ใดเป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่ยอมมาสวามิภักดิ์ ก็จะถูกกำจัด ไม่ให้ได้รับความก้าวหน้า หรือแม้แต่ใช้อำนาจและอิทธิพลของตน ซึ่งมีอยู่ลึกล้ำถึงสำนักงานอัยการสูงสุด หรือแม้แต่ระบบตุลาการ ก็ถูกแทรกแซง เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนแม้กระทั่งมีการปฏิวัติรัฐบาลทักษิณ ฯ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนอมินีของทักษิณ ถึง ๒ ครั้ง ก็ยังไม่สามารถทำลายล้าง เครือข่ายกำลังข้าราชการตำรวจที่ระบอบทักษิณ สร้างไว้ ด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่อ่อนอาวุโส ก้าวข้ามข้าราชการตำรวจอื่น อย่างไร้คุณธรรม ปราศจากธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และข้าราชการตำรวจเหล่านี้ที่ได้ดี ก็จะเป็นปัจจัยปัญหาอุปสรรคทำให้ไม่มีข้าราชการตำรวจคนใดกล้า จับกุม หรือถอดยศพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เนื่องจากเกรงกลัวอำนาจ บารมี ทั้งเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์ และเครือข่ายทางการเมือง แทรกแซงเข้าทุกอนูของสังคมไทย
การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง
๑. กระจายอำนาจการบริหารงาน
ปัจจุบันตำรวจมีโครงสร้างแบบศูนย์รวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป แม้ว่าพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ ยึดหลักการกระจายอำนาจด้วยการบัญญัติให้ หน่วยงานระดับกองบัญชาการเป็นนิติบุคคล และได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการ เช่นเดียวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ตาม ไม่ว่าการบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายงบประมาณ งานจัดซื้อจัดจ้าง แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีอำนาจจากการเมือง และผู้บังคับบัญชาระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทรกแซง ทุกหน้างาน จนกระทั่งเกิดความเสียหาย เช่น กรณีสร้างสถานีตำรวจเพื่อประชาชนจำนวน ๓๙๖ มูลค่าหลายพันล้านบาท และปัจจุบัน คสช.ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ ดึงอำนาจกลับไปอยู่ศูนย์กลางรวมอำนาจที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อีกครั้ง เช่นการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับ ผู้กำกับการขึ้นไป จะต้องเสนอเข้าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร. ) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ แทนที่จะกระจายอำนาจตามหลักการ
๒. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ
ควรต้องมี คณะกรรมการนโยบายตำรวจ ระดับ กองบัญชาการภูธรภาค และนครบาล อีกทั้งระดับตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ปัจจุบัน คสช.ได้ประกาศแก้ไข โครงสร้าง โดยยกเลิก คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ( ก.ตร.) และคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ( ก.ต.ช.) โดยแต่งตั้งคนของฝ่ายทหารเข้าควบคุมการบริหารระดับนโยบาย และการบริหารงานบุคคลของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
๓. สร้างกลไกการตรวจสอบภายในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันมีหน่วยงาน สำนักงานจเรตำรวจ และสำนักงานตรวจสอบภายใน แต่ไม่ได้รับความสำคัญ ใช้เป็นเพียงหน่วยงานรองรับแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ไม่อยู่ในเครือข่ายอำนาจทางการเมือง เพื่อการแก้ไขปัญหากำลังพลเท่านั้น จึงเปรียบประดุจสุสานตำรวจ เท่านั้น
๔. การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานหลักของตำรวจ
ตำรวจควรรับผิดชอบเฉพาะงานด้านป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม และอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น เพื่อสร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น อาทิ งานตรวจคนเข้าเมือง งานท่องเที่ยว งานรักษาทรัพยากรและป่าไม้ งานคุ้มครองผู้บริโภค เหล่านี้เป็นต้น และควรมอบหมายภารกิจในการถวายอารักขา รักษาความปลอดภัยแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ให้แก่หน่วยงานทหาร เนื่องจาก มี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เนื่องจากเป็นภารกิจหลักของทหารอยู่แล้ว โดยตำรวจอาจรับผิดชอบเฉพาะ การจราจร ที่เป็นเส้นทางเสด็จ เพราะมิเช่นนั้น หากให้ตำรวจยังคงทำหน้าที่ต่อไป ตำรวจจะต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับ ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๑๑๒ และอาจจะเกิดกรณีกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และสร้างความเสียหายกระทบต่อความมั่นคงของชาติได้ ดังเช่นกรณี คดีพลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ กับพวก
๕.การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน
๕.๑ตั้งหน่วยงานรับผิดชอบระบบการสอบสวนไว้ที่หน่วยงานกลาง
๕.๒ปรับปรุงสายงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ
๕.๓กำหนดค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน เทียบเคียงกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ
๖.การปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ
๖.๑เน้นการใช้กำลังตำรวจในการป้องกัน มากกว่าการปราบปราม ตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ร.๕ “การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้น ได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้น แต่จะถือเป็นความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สินของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้น อยู่เย็นเป็นสุขพอควร…”
ดังนั้นข้าราชการตำรวจต้องพึงระลึกไว้ว่าการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในเขตพื้นที่รับผิดชอบไม่ให้เกิดเหตุร้ายแก่ประชาชนในเขตพื้นที่ของตนเองนั่นแหล่ะคือความสำเร็จในการทำหน้าที่ ข้าราชการตำรวจ…อย่างแท้จริง….
๖.๒ สร้างระบบการบริหารงานระดับโรงพัก เน้นตำรวจชุมชน ด้วยโครงการ “ ONE STOP SERVICE ”
๗.การพัฒนากระบวนการสรรหา และการผลิตบุคลากรตำรวจ
สร้างระบบการพัฒนา ศึกษา การปฏิบัติงานแต่ละระดับชั้น ให้มีการทบทวนทั้งเนื้อหาด้านกฎหมาย วิชาการ เทคโนโลยีอันทันสมัย งานนิติวิทยาศาสตร์ งานพิสูจน์หลักฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ
๘.การปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของตำรวจในภาพรวม อย่างถูกต้องตาม กฎหมาย และระเบียบ
เพื่อมิให้สังคมและประชาชน ต้องกังวลใจกับ การแสวงหาผลประโยชน์นอกระบบจาก แหล่งอบายมุข สถานบริการ ฯลฯ ของข้าราชการตำรวจ เพื่ออ้างว่านำมาพัฒนาหน่วยงาน และกำลังพลภายใต้ความรับผิดชอบของตน