xs
xsm
sm
md
lg

จริง/เท็จกาแฟลดนํ้าหนัก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวหนังสือเล็กๆบอกปริมาณสัดส่วน บนผลิตภัณฑ์
บอกว่ามีอะไรอยู่ในกาแฟลดน้ำหนัก ที่ผู้บริโภคกำลังยกกระป๋องดื่มก็จริง
แต่จะมีสักกี่คนรู้ว่า ชื่อสารตัวเล็กๆมีประโยชน์ หรือมีโทษต่อร่างกายแค่ไหน
Good-Health&Well-being manager online มีเรื่องจริงที่คอกาแฟลดน้ำหนัก …ต้องรู้ มาบอก

หลายคนรู้แค่ว่า คาเฟอีน ช่วยทำให้ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงนอน แต่ไม่เคยรู้เลยว่าคาเฟอีน ก็เป็นหนึ่งตัวการเพิ่มการขับแคลเซียม ซึ่งเสี่ยงโรคกระดูกพรุน และครีมเทียม - ไขมันทรานส์ ที่คอกาแฟคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี ก็ทำให้ไขมันร้ายสูง (LDL-C & TG) ไขมันดีตํ่า (HDL-C) ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรัง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (เบาหวาน) และเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากขึ้นด้วย ขณะทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการสถาบันสุเพิร์บ เพื่อสุขภาพและการชะลอวัย เผยว่า “คาเฟอีนปริมาณ 100 มก. (กาแฟประมาณ 1 แก้ว = 150 มล.) เพิ่ม Thermogenic Effect ทำให้ร่างกายมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แต่จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกโดยการให้คาเฟอีนเสริมในผู้ป่วยโรคอ้วน (มียาหลอกหรือแป้ง เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ) ปริมาณ 200 มิลลิกรัม ระยะเวลา 6 เดือน พบว่า การได้รับคาเฟอีนเสริม ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนํ้าหนักตัวแต่อย่างใด
ทำให้สรุปได้ว่า คาเฟอีนช่วยเพิ่มกระบวนการเมตาบอลิซึม หรือการเผาผลาญไขมันในร่างกาย แต่ไม่มีผลช่วยในการลดนํ้าหนักตัวเลย โดยสาเหตุที่ทำให้กาแฟลดนํ้าหนักบางยี่ห้อทำให้นํ้าหนักลดลง ดื่มแล้วไม่หิว รู้สึกอิ่มตลอดเวลา เพราะเฟนเทอร์มีน ไซบูทรามีน ออกฤทธิ์ที่สมอง กดศูนย์ความหิว ทำให้อิ่ม ไม่อยากทานอาหาร ซึ่งผลข้างเคียงทำให้ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ใช้ติดต่อกันนานทำให้ประสาทหลอน และหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เผยอีกว่า “สำหรับกาแฟลด หรือควบคุมนํ้าหนัก...เพื่อสุขภาพที่ดี ต้องปราศจากนํ้าตาล - ใช้สารความหวานทดแทนนํ้าตาล (ที่ปลอดภัย) ที่สำคัญต้องปราศจากครีมเทียม - ใช้สารทดแทนไขมัน หรือสารที่ให้เนื้อสัมผัสที่มัน เช่น อินนูลิน แคลอรี่ตํ่า มีใยอาหาร รวมถึงสารเสริมสุขภาพ/ สารต้านอนุมูลอิสระ ที่สำคัญต้องมีสารลดนํ้าหนัก (ชนิดและปริมาณ) ที่ออกฤทธิ์ได้จริง... มิใช่ ใส่แค่วิญญาน !
สารที่มีประสิทธิภาพช่วย ลดนํ้าหนักได้จริง ได้แก่ สารสกัดจากถั่วขาว, ไคโตซาน,แอล-คาร์นิทีน, ราสเบอรี่คีโตน และสารสกัดจากชาเขียว ทั้งนี้สารสกัดจากถั่วขาว มีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ “Phaseolamin” มีคุณประโยชน์ในการยับยั้งเอนไซม์ อัลฟ่า อะไมเลส (Alpha-Amylase) ลดการย่อยข้าว แป้ง ทำให้ดูดซึมได้ลดลง
งานวิจัยทางคลินิกของถั่วขาว พบว่า การทานสารสกัดจากถั่วขาวปริมาณ 445-3,000 มก.ต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ อาจช่วยลดนํ้าหนักได้ แต่สารสกัดจากถั่วขาว ก็มีข้อจำกัดในการลดนํ้าหนักเช่นกัน เพราะไม่ได้ลดการดูดซึมนํ้าตาล,ไม่ได้ลดการดูดซึมไขมัน ดังนั้นต้องควบคุมอาหารหวาน และอาหารไขมันสูงร่วมด้วย
ไคโตซาน สกัดได้จาก เปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก มีคุณสมบัติช่วยดักจับไขมัน ช่วยให้ลดการดูดซึมไขมัน จากการผลการวิจัยทางคลินิก จำนวน 14 การศึกษา (คนไข้จำนวน 1,071 คน) พบว่า การทานไคโตซานเสริม ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง ของนํ้าหนักตัว ในผู้ที่มีนํ้าหนักเกิน/ อ้วน/ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
 ขณะที่แอล-คาร์นิทีน ซึ่งร่างกายสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากกรดอะมิโนไลซีน + เมทไธโอนีน มีหน้าที่ขนส่งกรดไขมันเข้าสู่ไมโตรคอนเดรีย เพื่อนำไปเผาผลาญ เป็นพลังงาน ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกยืนยันว่า แอล-คาร์นิทีน ช่วยลดนํ้าหนักได้จริง !
 ราสเบอรี่ คีโตน สารพฤกษเคมี ที่พบในราสเบอรี่ มีโครงสร้างทางเคมี คล้ายกับแคปไซซินที่พบในพริก จากการศึกษามีอยู่จำกัดในสัตว์ทดลอง พบว่า เพิ่มการสลายไขมัน (Lipolysis) ยับยั้งการดูดซึมไขมันที่ลำไส้
 แต่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคน ถึงผลของราสเบอรี่คีโตนต่อนํ้าหนักตัว
 สารสกัดจากชาเขียว มีสารสำคัญ คือ EGCG ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน
ลดการสังเคราะห์ไขมัน ยับยั้งการดูดซึมแป้งและไขมัน สรุปข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกกว่า 10 การศึกษา ปริมาณที่ออกฤทธิ์ 400 - 750 มก./วัน สารสกัดจากชาเขียวมีผลช่วยเพิ่มกระบวนการเผาผลาญไขมัน ลดไขมันสะสม ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันและ เพิ่มการใช้พลังงานภายในร่างกาย และทำให้นํ้าหนักตัวลดลงได้ โดยสารสกัดจากชาเขียว ปริมาณ 145 มิลลิกรัม/วัน...ช่วยลดระดับ LDL-C ได้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกราช สรุปปิดท้ายชวนให้คิดว่า ผู้ที่กำลังคิด หรือลดน้ำหนักด้วยกาแฟ ซึ่งเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพอยากให้ศึกษาฉลากก่อนทุกครั้งก่อนตัดสินใจ เพราะจะได้รู้เท่าทันกาแฟลดน้ำหนักที่ชวนเชื่อเกินจริง และเพื่อสุขภาพควรหันมาพึ่งทางหลัก...ควบคุมอาหาร ร่วมกับการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Integrative Health) ด้วยครับ
เครดิตภาพ : อินเตอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น