xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดองกับกองกำลังติดอาวุธ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

เมื่อไม่กี่วันก่อนสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการแนวร่วมของคนเสื้อแดงโพสต์เฟซบุ๊กของเขาว่า ขบวนการเสื้อแดงภายใต้การนำของ ทักษิณ-นปช. ทำความผิดพลาดใหญ่หลวงทางยุทธวิธี 2 ช่วง หนึ่งในนั้นคือ การไม่กำจัดกิจกรรมของ “ชายชุดดำ” ในหมู่เสื้อแดงโดยสิ้นเชิง ในช่วงปี 2553

และช่วงที่สองคือช่วงวิกฤต กปปส. 2556-57 คือการไม่ยกเลิก-ทำให้หมดไป กิจกรรมแบบ “ใต้ดิน” ซึ่งพุ่งพรวดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนของวิกฤต กปปส. และนำความเสียหาย บาดเจ็บล้มตายมาสู่ผู้บริสุทธิ์ และทั้งยังน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทหารตัดสินใจลงมือยึดอำนาจ (“รัฐ” และ “ทหาร” โดยเนื้อหาคือ “การผูกขาดความรุนแรง” หรือกำลังติดอาวุธ... การมีกำลังติดอาวุธ “คู่แข่ง” เป็นอะไรที่ไปท้าทายให้พวกเขาลงมือเพื่อยุติโดยตรง)

นั่นสะท้อนว่า แม้แต่นักวิชาการที่สนับสนุนคนเสื้อแดงด้วยกันก็ยังเชื่อว่า ภายใต้การเคลื่อนไหวที่อ้างว่าเพื่อประชาธิปไตยนั้น มีกองกำลังติดอาวุธและความรุนแรงซ่อนอยู่

คำถามว่า คสช.ที่กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางการปรองดองถึงขนาดจะเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นได้จัดการกับปัญหานี้ในระดับไหน ทำไมกระแสที่มีการจับอาวุธครั้งใหญ่และครึกโครมในช่วงแรกของการยึดอำนาจอย่างเช่น ขอนแก่นโมเดลเงียบหายไป บัดนี้กระบวนการสืบสวนสอบสวนได้สาวไปถึงคนบงการหรือไม่อย่างไร

เราคงไม่ลืมว่า กิจกรรมแบบใต้ดินที่ใช้อาวุธสงครามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะการชุมนุมของ กปปส.แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ทำให้มีผู้คนล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก เชื่อไหมละครับว่า ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีหรือสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเลย นอกจากพุ่งเป้าแต่จะดำเนินคดีฝ่ายพันธมิตรฯ ในข้อหาก่อการร้าย

ลองไปไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดจากการใช้อาวุธสงครามในสมัยพันธมิตรฯ ดูนะครับ

30 ต.ค. 51 ระเบิดเอ็ม 87 ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ การ์ดพันธมิตรฯ บาดเจ็บ 10 คน สาหัส 1 คน มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายยิงใส่ที่ชุมนุมของพันธมิตรฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

4 พ.ย. 51 ระเบิดห่างจากแผงเหล็กแนวกั้นของการ์ดพันธมิตรฯ 3 เมตร บริเวณสะพานอรทัย ไม่มีคนเจ็บ

7 พ.ย. 51 เกิดระเบิด 2 จุด เวลาไล่เลี่ยกัน บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไม่มีคนเจ็บ

8 พ.ย. 51 ระเบิดภายในทำเนียบรัฐบาล ใกล้ตึกไทยคู่ฟ้า เยื้องเวทีชุมนุม 250 เมตร ส่งผลให้การ์ดพันธมิตรฯ บาดเจ็บ 1 คน

11 พ.ย. 51 ระเบิดเอ็ม 79 บริเวณเต็นท์ฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯ ห่างเวที 50 เมตร มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย

20 พ.ย. 51 เกิดเหตุระเบิดเอ็ม 79 ยิงจากด้านนอกทำเนียบรัฐบาล ใส่เต็นท์ฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรฯ ห่างเวทีเพียง 15 เมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 29 คน

22 พ.ย. 51 คนร้ายขี่จยย.ปาระเบิดเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ บริเวณ แยกสวนมิสกวัน ถ.ราชดำเนิน บาดเจ็บ 8 ราย เสียชีวิต 1 ราย

26 พ.ย. 51 เกิดระเบิด 2 ลูก ที่สนามบินสุวรรณภูมิ กลุ่มพันธมิตรฯ บาดเจ็บ 4 ราย จากนั้นเกิดระเบิดที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราวดอนเมือง บาดเจ็บ 2 ราย

29 พ.ย. 51 ลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล บาดเจ็บ 47 คน

30 พ.ย. 51 ยิงระเบิดใส่สำนักงานเอเอสทีวี 2 ลูก พร้อมยิงอาวุธสงครามคาดเป็นปืนอาก้าใส่หลายนัด ไม่มีคนเจ็บ ต่อมาเกิดระเบิดที่สนามบินดอนเมืองบริเวณจุดชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ มีผู้บาดเจ็บ 2 คน เสียชีวิต 1 ราย

2 ธ.ค. 51 คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ บริเวณสนามบินดอนเมือง เจ็บ 24 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ในการชุมนุมของฝ่ายตรงข้ามระบอบทักษิณไม่ว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ หรือ กปปส.การยิงด้วยอาวุธสงครามจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ชุมนุม ต่างกับเมื่อ นปช.หรือคนเสื้อแดงชุมนุมในปี 2553 เป้าหมายของอาวุธสงครามพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานรัฐ ตัวอย่างเช่น

คนร้ายใช้จรวดอาร์พีจียิงใส่กระทรวงกลาโหม มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกหมายจับผู้ต้องหา 2 คน คือ ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม และนายศุภณัฐ หุลเวช หรือโก้ อายุ 43 ปี โดยคนร้ายอ้างว่าเป้าหมายที่แท้จริงคือวัดพระแก้ว

นอกจากนั้นคนร้ายขว้างระเบิดเอ็ม 67 ใส่สถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และพลเรือนได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ยิงเอ็ม 79 หน้าสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บ 1 รายทหารรักษาการณ์ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย คนร้ายยิงเอ็ม 79 เข้าใส่กรมทหารราบที่ 11 ที่ตั้งอำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) เจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 4 นาย

คนร้ายขว้างเอ็ม 67 ใส่อาคารมูลนิธิรัฐบุรุษของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ใช้เอ็ม 79 ยิงเข้าใส่บ้านนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด ใช้เอ็ม 67 ขว้างเข้าใส่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี ปาเอ็ม 67 ใส่สำนักงานอัยการสูงสุดรัชดาฯ ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ขณะเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี คนร้ายยิงเอ็ม 79 และเอ็ม 16 ถล่มที่ทำการพรรคการเมืองใหม่ ถ.พระสุเมรุ และตึกทีพีไอ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร เป็นต้น

รวมไปถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ระเบิดเอ็ม 79 ถูกยิงเข้าไปในกองปราบปราม และช่วงค่ำวันเดียวกันเกิดเหตุปะทะกันรุนแรงระหว่าง นปช.(ชายชุดดำ) กับกองทหารที่สี่แยกคอกวัว ส่งผลให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 482 ราย เสียชีวิต 21 ราย

นอกจากนั้นยังมีการวางระเบิดซีโฟร์ 6 ลูก ที่โคนเสาไฟฟ้าแรงสูง ใน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ยิงเอ็ม 79 ออกจากที่ชุมนุมใส่ม็อบเสื้อหลากสีและฝ่ายทหาร มีพลเรือนบาดเจ็บ 75 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยิงเอ็ม 79 จำนวน 5 ลูกใส่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ศาลาแดง และย่านใกล้เคียง มีคนเสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก รวมไปถึงยิงเอ็ม 79 ถล่มถังเก็บน้ำมันที่ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ของท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด

นี่เป็นเหตุการณ์บางส่วนที่ยกมาในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงซึ่งนักวิชาการเสื้อแดงเรียกว่า กิจกรรมแบบ “ใต้ดิน” ซึ่งชัดเจนว่า ฝ่ายไหนที่มีกองกำลังติดอาวุธหนุนหลัง

แต่ไม่น่าเชื่อว่า ภายหลังการยึดอำนาจของ คสช.พยายามทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นพวกที่มีปัญหาถึงกับเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวโดยไม่แยกแยะว่า ฝ่ายไหนใช้สิทธิการชุมนุมอย่างสงบ ฝ่ายไหนใช้กองกำลังติดอาวุธ และฝ่ายไหนที่มีเจตนาต้องการล้มล้างสถาบัน

สิ่งที่ผมอยากเรียกว่าตรรกะวิบัติของการรัฐประหารครั้งนี้ก็คือ การตั้งเป้าว่าผู้ชุมนุมทั้งฝ่ายสนับสนุนทักษิณและฝ่ายต่อต้านทักษิณต่างก็เป็นปัญหาของบ้านเมือง โดยไม่แยกแยะถึงพฤติกรรมที่ชัดเจนว่า มีบางฝ่ายใช้กองกำลังติดอาวุธและใช้ความรุนแรง แล้วใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์และกฎอัยการศึกปิดปากทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้ไม่เลือกข้างฝ่ายไหน

และสุดท้ายจะคืนความสุขให้ประชาชนด้วยการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้ปรองดองเลิกแล้วกันไป โดยปล่อยให้กองกำลังติดอาวุธลอยนวล
กำลังโหลดความคิดเห็น