โสภณ องค์การณ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
สมาชิกผู้รู้วิชาหลากสาขาของสภาปฏิรูปแห่งชาติยังวุ่นอยู่กับข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการเมืองและอนาคตประเทศ ย่างเข้ามาเดือนที่ 8 หลังจากการรัฐประหาร ก็ยังทำงานไม่คืบหน้าไปไหน เข้าทำนองพวกรู้มากยากนาน ทำเอาพวกรู้น้อยพลอยรำคาญไปด้วย
นี่เป็นผลของการรัฐประหาร แต่ผู้กุมอำนาจไม่ต้องการใช้อำนาจแก้ปัญหาเรื้อรังของชาติ เป็นเพราะใจไม่ถึงหรือเหตุอื่นใดไม่อยากคาดเดา ได้แต่มีคำอ้างว่าทุกอย่างกำลังเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ขอให้ใจเย็นๆ เพื่อรักษาบรรยากาศปรองดอง
ฟังแล้วสร้างความรู้สึกน่าเบื่อหน่ายให้แก่ชาวบ้าน ผู้กุมอำนาจทำไขสือหรือแสร้งไม่รู้หรือว่าปัญหาหมักหมมแทบทำให้บ้านเมืองล่มจมเพราะกระบวนการตามกฎหมายใช้ไม่ได้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ คดีสำคัญหลายคดีมีความพิสดารน่าเหลือเชื่อ
เอาเหอะ คงต้องยอมรอเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นๆ สำหรับประชาชน จวนจนเสร็จสิ้นยุคผู้กุมอำนาจรัฐแล้วผลออกมาเป็นอย่างไรนั่นแหละ ประชาชนย่อมคิดบัญชีได้ แม้จะไร้อำนาจจัดการอะไรได้สำหรับการเสียของ อย่างน้อยยังมีโอกาสได้พูดแซวเอาเจ็บๆ
ปัญหาหลักของบ้านเมืองคือภาคการศึกษา ทั้งด้านคุณภาพ บุคลากร สถานที่ และความพร้อม ทำให้การศึกษาในประเทศไทยผลิตคนไม่เต็มภูมิ เป็นทรัพยากรของชาติด้อยค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในระดับเดียวกัน โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ
การที่ไม่เป็นเมืองขึ้นของใคร ฝรั่งไม่ใช่พ่อ ได้เป็นข้ออ้างของความด้อยในการพูดภาษาต่างประเทศ แต่ประเทศไทยกระดี้กระด้ากว่าชาติอื่นในความกระสันจะเข้ากลุ่มอาเซียน โครงการตัดต้นไม้เพื่อขยายถนน สร้างห้องน้ำสาธารณะก็อ้างโครงการอาเซียน
ไม่สำนึกว่านั่นจะนำไปสู่หายนะของประเทศไทยเป็นขุมทรัพย์ให้ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยความมั่งคั่งจนไม่เหลืออะไรไว้ให้คนไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศเพียงในนาม ในความเป็นจริงคนต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินมากกว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 100 ล้านไร่แล้ว
ปัญหาหลักของความล้าหลังทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง การซื้อสิทธิขายเสียง การยกย่องคนโกงและอีกร้อยแปดประการเป็นเพราะการขาดการศึกษา แต่ก็ประหลาด ตั้งแต่มีรัฐบาล ชาวบ้านยังไม่ได้รับรู้ ได้ยินแผนปฏิรูปจากกระทรวงศึกษา
จะว่าผู้เกี่ยวข้องซุ่มวางแผนยุทธศาสตร์ล้ำลึก ก็น่าจะมีอะไรแพลมๆ ให้รับรู้บ้าง!
งบประมาณสำหรับภาคการศึกษาของประเทศไทยไม่ใช่น้อย แม้จะมีงบประจำ ปัญหาสำคัญคือคุณภาพของนักศึกษาระดับต่างๆ นอกจากขาดความรู้แล้วยังขาดทักษะ แนวคิดวิสัยทัศน์ ความสามารถในการแข่งขันเพื่อศึกษาต่อยังต่างประเทศ
เราเห็นโรงเรียนในชนบทอยู่ในสภาพน่าสงสาร ขาดแคลนครู อาจารย์ผู้สอนซึ่งมีคุณภาพ มีแต่การศึกษาภาคกวดวิชา เร่งรัดการแข่งขันทำให้เยาวชนของชาติขาดโอกาสใช้ชีวิตช่วงเยาว์วัย ไม่มีสังคมนอกห้องเรียน ขาดเพื่อนเล่นในสังคมสถานที่อยู่อาศัย
สังคมไทยเมืองใหญ่จึงเป็นสภาวะ “บ้านใครบ้านมัน” รั้วติดกันแต่ไม่รู้จักกัน ยิ่งยุคนี้เหลียวซ้ายแลขวามีแต่เพื่อนบ้านเป็นชาวต่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้เกิดโรคขาดเพื่อนบ้าน อยู่ไปแต่ละวันโดยบ้านของตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ปิดกั้นตัวเอง
วันนี้อยากเสนอหนทางแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้สอน เป็นวิธีไม่ยากนัก แต่ต้องการผู้นำใจถึงกล้าตัดสินใจคิดนอกกรอบ ทำทันที และต้องเสริมงบประมาณสนับสนุนไม่อั้นเพื่อให้ได้ผลอย่างเต็มที่ภายในระยะเวลาอันสั้น
เราเห็นสภาพของครูอาจารย์ในสถาบันศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่ประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัยเป็นพวกขาดประสบการณ์ มีแต่ทักษะการสอนบ้าง รายได้น้อย เป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการยอมรับ ไร้ความช่วยเหลือ อาจถูกมองว่าไม่ได้เป็นทรัพยากรมีภูมิของแท้
ขอเสนอให้รัฐบาลจัดทำโครงการปฏิรูปการศึกษาด้วยการระดมทรัพยากรมนุษย์จากทุกภาคในสังคมมาช่วยเหลือในการพัฒนา การสอน การถ่ายทอดวิชาความรู้ให้นักเรียน นักศึกษาทุกระดับเพื่อให้มีคุณภาพสมกับเป็นผู้ได้รับการศึกษาอย่างแท้จริง
การคัดสรรครู อาจารย์ผู้สอนต้องเข้มงวดด้านคุณวุฒิ ความรู้ เงินเดือนต้องสูงเท่ากับอัยการ ตุลาการ หรือบุคลากรพิเศษ หรือมากกว่า ให้เป็นเหตุจูงใจ เพราะต้องถือว่าครูอาจารย์นั้นเป็นผู้บ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพสำหรับการพัฒนาบ้านเมือง
รัฐบาลต้องเสนอเป็นเงื่อนไขสำหรับภาครัฐและเอกชน โดยเสนอผลตอบแทนด้านต่างๆ เพื่อจูงใจ เหมือนสิทธิ ผลประโยชน์พิเศษให้กิจการซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเอกชน บุคคลย่อมให้รับผลประโยชน์ในการช่วยเหลือภาคการศึกษา
องค์กรภาครัฐและเอกชนมีบุคคลากรพร้อมคุณวุฒิ ความรู้ ประสบการณ์ในหลายสาขา เหมาะสำหรับเป็นครู อาจารย์ผู้สอนในโรงเรียน สถาบันการศึกษา นอกจากนั้นยังมีกลุ่มผู้เกษียณอายุจากทั้ง 2 ภาคซึ่งสามารถเป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ให้นักศึกษาได้ดีกว่าครูอาจารย์ภาคปกติ
รัฐบาลควรประกาศข้อกำหนดให้องค์กรต่างๆ มีหน้าที่จัดสรรบุคคลที่มีคุณวุฒิไปเป็นครู อาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็น 1 ปี หลังจากได้รับราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสากิจแล้ว 5 ปี มีรายได้พิเศษนอกเหนือจากงานประจำ
ในระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าฯ รับผิดชอบจัดข้าราชการมีคุณวุฒิให้เป็นผู้สอนหนังสือในโรงเรียน มหาวิทยาลัยในพื้นที่ นอกเหนือจากบุคคลากรที่จะส่งมาจากส่วนอื่นๆ ตามทักษะเฉพาะราย ใช้ผลงานการสอนเป็นมาตรวัดเพื่อประเมินการขึ้นเงินเดือนแต่ละปี
นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนในพื้นที่ต้องส่งบุคลากรที่ได้รับการคัดสรรแล้วไปเป็นผู้สอนพิเศษด้วย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้สอนอย่างได้ผล ขั้นแรกใช้ระบบคัดเลือกตามความสมัครใจ โดยถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการปฏิรูปการศึกษา เร่งรัดคุณภาพของนักศึกษา
เรามีข้าราชการจบการศึกษาจากต่างประเทศมากมาย หน่วยงานต่างๆ ต้องจัดบุคคลากรไปช่วยสอน ให้สมาคมภาคเอกชนจัดผู้มีความสามารถไปทำหน้าที่สอนเช่นกัน ธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทการค้า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เช่นกัน
นอกจากประกาศเกียรติคุณ ยังสามารถใช้เป็นประโยชน์ไปหักภาษีหรือด้านอื่นๆ
เมื่อเป็นวาระแห่งชาติ บริษัท กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องรับเงื่อนไขนี้ด้วย พวกเกษียณอายุจากภาครัฐ เอกชนสมควรได้รับการยกย่อง เช่นเป็นศาตราจารย์เกียรติคุณ มีรายได้พิเศษ แทนที่จะไปใช้ชีวิตบนสนามกอล์ฟ หรืออยู่แบบว่างเปล่า
เราจะมีครูอาจารย์พิเศษจำนวนเพิ่มขึ้นหลายหมื่นหรือเป็นแสนคนทันที คิดได้ทำได้แค่นี้ก็เกินพอเพื่อเร่งรัดคุณภาพการศึกษา มีใครกล้าเอาไปใช้มั้ย...