ผบ.ตร.ชี้การทำสัญญาของบริษัทเอกชน กับ อดีตผบช.น.เพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาบนป้องจราจรทั่วกทม. เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอดีตผบช.น.ไม่มีอำนาจในการทำสัญญา รอผลการตรวจสอบของกรมธนารักษ์ ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ ภายใน 19 ธ.ค.นี้ ด้านผบช.น. สั่งตั้งคณะกรรมสอบวินับร้ายแรง ชี้เป็นการเอาพื้นที่สาธารณะไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เข้าข่ายทุจริตอัตราโทษจำคุก
วานนี้ (18 ธ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึง กรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงนายตำรวจ 76 นาย กรณีที่ให้บริษัทเอกชนเข้ามาติดตั้งป้ายโฆษณาแอลอีดีบนป้อมจราจรที่ตั้งอยู่ตามแยกต่างๆ ซึ่งเป็นการทำประโยชน์บนที่ราชพัสดุ โดยไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ ว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียดว่ามีการดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง แต่ก่อนหน้านี้ได้มีการกำชับและออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีการตรวจสอบป้ายโฆษณาที่ติดตั้งอยู่ตามป้อมจราจรในพื้นที่ต่างๆ ทำถูกต้องตามระเบียบของทางราชการหรือไม่ หากไม่ถูกต้องให้ดำเนินการรื้อทิ้ง ส่วนที่มีสัญญากับเอกชน ก็ให้พิจารณาในตัวสัญญาว่ามีการทำอย่างถูกต้องหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาและมีความเห็นว่าการทำสัญญาของบริษัทเอกชน กับ อดีตผบช.น.เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่า ผบช.น.ไม่มีอำนาจในการทำสัญญา แต่กระนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะคุ้มครองบริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นการทำสัญญาโดยสำคัญผิด หรือ เชื่อโดยสุจริตใจว่าการทำสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ถูกต้อง เนื่องจากบริษัทลงนามในสัญญาไปแล้ว ก็ต้องมีการไปลงทุนต่อจนกว่าจะครบกำหนดตามสัญญา
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ที่แต่ละสถานีตำรวจไปทำกันเอง เช่น ไปอนุญาตให้ติดตั้งป้ายโฆษณาของอีกบริษัทหนึ่ง ที่ผกก.มีการทำหนังสืออนุญาตเอง แต่ที่เลวร้ายก็คือ มีการใช้ไฟฟ้าของหลวงด้วย อันนี้เป็นการทำไม่ถูกต้องตามระเบียบทางราชการ ต้องรื้อออก
ด้าน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบงานบริหาร กล่าวว่า ตนเองในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการใช้ที่ดินและอาคารสถานที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งป้อมจราจรที่เกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ เป็นที่ราชพัสดุ หรือ ไม่ โดยได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมธนารักษ์ ว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ และหากเป็นที่ราชพัสดุ การจะใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งคาดว่าทาง กรมธนารักษ์ จะมีหนังสือตอบกลับมาในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ หากที่ตั้งป้อมจราจรเป็นที่ราชพัสดุ การดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการติดตั้งป้ายโฆษณาของเอกชนจะต้องทำสัญญากับกรมธนารักษ์ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ที่ตนเป็นประธานก่อน
“คณะกรรมการฯ ชุดที่ผมเป็นประธานจะพิจารณาว่า ที่ดินบริเวณป้อมจราจรที่มีปัญหาเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่เท่านั้น ซึ่งรอหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการจากกรมธนารักษ์ หลังจากนั้นสตช.จะได้วางแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนนี้ต่อไป ส่วนเรื่องของสัญญากับเอกชน และการดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. “
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร. มีนโยบายที่จะปรับปรุงป้อมจราจร ขนาดเล็ก กลางใหญ่ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า หากเป็นที่ราชพัสดุก็จะต้องขออนุญาตจากกรมธนารักษ์ด้วย โดยขณะนี้กองโยธาธิการ กำลังอยู่ระหว่างการร่างแบบ ทั้งนี้ สำหรับป้อมจราจรที่ปรับปรุงจะมีรูปแบบเดียวกัน ทั้งสี ป้ายข้อความ ภาษาที่เป็นสากล สัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นป้อมตำรวจ
**** ผบช.น. เซ็นติดตั้งป้ายบนป้อมจราจร เข้าข่ายทุจริตโทษจำคุก
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. กล่าวถึงกรณีมีหนังสือคำสั่งให้ตรวจสอบข้าราชการตำรวจกว่า 50 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุมัติติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทเอกชน บริเวณบนป้อมสัญญาณไฟจราจรตามแยกต่างๆทุกแห่งทั่วกทม. โดยระบุว่าขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการติดตั้งป้ายโฆษณาต่างๆ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นของหลวง ที่มีการแบ่งสัดส่วนไว้ชัดเจนแล้ว แต่ทางบริษัทเอกชนได้นำป้ายโฆษณามาติดตั้ง โดยไม่มีหนังสือยินยอมที่ถูกต้องตามข้อกำหนดทางราชการ จึงมีคำสั่งไปยัง ผบก.น.1-9 ให้เร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับรายชื่อข้ารายการตำรวจที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และให้ทำหนังสือแจ้งมาที่บช.น. ภายใน 15 วันว่า เบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนนานกว่า 2 เดือน หากพบมูลความผิดแต่ละบก.จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ซึ่งขณะนี้ตนยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในเรื่องดังกล่าวมีการทุจริตในเรื่องการติดตั้งป้ายโฆษณาหรือไม่ พล.ต.ท.ศรีวราห์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการติดตั้งป้ายโฆษณา โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิดกฎหมายบ้านเมือง เพราะการเอาพื้นที่สาธารณะไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือแสวงหาผลประโยชน์ในบ้านเมือง ถือว่าเป็นการทุจริตในหน้าที่ ส่วนรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้ง 76 ราย จะมีผลกับการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจหรือไม่นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนของการสอบสวน ปรากฎว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิด อัตราโทษสูงสุดคือจำคุก
ทั้งนี้มีรายงานว่า พบเอกสารการทำสัญญากับบริษัทเอกชน 1 ใน 42 สน. คือ สน.ท่าเรือ โดยในเอกสารระบุว่า เรื่อง การติดตั้งจอแสดงภาพบนป้อมตำรวจเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ภารกิจ และกิจกรรมต่างๆของ บช.น.โดยบช.น. ได้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงให้สิทธิ บริษัท สตาร์ค มัลติมีเดีย จำกัด ทำการติดตั้งและบำรุงรักษาแสดงภาพ เพื่อร่วมกันดำเนินโครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ภารกิจ และกิจการต่างๆ ของ บช.น. ผ่านทางจอแสดงภาพบนป้อมตำรวจของสถานีตำรวจท่าเรือ และนำเงินรายได้สมทบลงทุนเงินช่วยเหลือข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้กับข้าราชการตำรวจของ บช.น. และบริษัทผู้ได้สิทธิ ดังกล่าว ขอเริ่มดำเนินการแสดงภาพบนป้อมตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบสถานีตำรวจตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2556 เป็นต้นไป
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามโครงการสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็ว บช.น. จึงมอบหมายให้รีบพิจารณาและประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ทางด้านเทคนิคของ บริษัท สตาร์ค มัลติมีเดีย จำกัด ให้การดำเนินการติดตั้งจอแสดงภาพบนป้อมตำรวจ(ตามรายละเอียดที่แนบมาด้วย)ให้สามารถดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย และ บช.น. สามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ภารกิจเป็นไปตามนโยบายของผบช.น. ให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วถึงและรวดเร็วได้