การสอนนักเรียนนักศึกษา หรือการพูดในสถานที่ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ผมมักเปิดประเด็นด้วย “กวีสี่แถว” แล้วช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์หรือวิเคราะห์แต่ละแถวจนครบสี่แถว วิธีการเช่นนี้ทำให้เกิดบรรยากาศใหม่แห่งการเรียนรู้ กล้า “ฟัง-คิด-ถาม-เขียน” ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือผู้พูดกับผู้ฟังเป็นการเลื่อนไหลแบบกัลยาณมิตร บนเส้นทางแห่งอิสรภาพ ผู้เรียนแสดงทัศนะความคิดเห็นได้โดยเสรี ผู้สอนเป็นครูที่ดี เป็นมิตรที่ดี มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู ได้แก่...น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักพูดให้ได้ผล อดทนต่อถ้อยคำ แถลงเรื่องล้ำลึกได้ ไม่ชักนำในอฐาน เป็นต้น
● พึงเป็นตัวเอง
ผู้หลักผู้ใหญ่ หรือท่านผู้รู้ทั้งหลายทั้งปวง มักพูดมักสอนว่า “จงเป็นตัวของตัวเอง” หรือ “พึงเป็นตัวเอง” การเป็นตัวเอง เป็นเรื่องธรรมดาๆ หากมองในมิติที่ลึกซึ้งก็ไม่ธรรมดา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” ขยายอธิบายความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ...
“ผู้เห็นตน ก็คือผู้เห็นธรรม-ผู้เห็นธรรม ก็คือผู้เห็นตน”
การเห็นตน ดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ไพศาลเกินที่จะประมาณคุณค่าได้
เมื่อเห็นตน ก็ย่อมเห็นคนอื่น หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงได้ เพราะเห็นตนก็คือเห็นธรรม และธรรมก็คือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั่นแล
เห็นตนคือเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจนึกคิด เห็นธรรม คือเห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นธรรมคือเห็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นวงจรแห่งทุกข์ เช่น ชรามรณะ เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เป็นต้น อยากพ้นทุกข์ ต้องกล้าตัดวงจรแห่งทุกข์นั้นเสีย
การเห็นตน จะทำให้เป็นตัวของตัวเอง ผู้เป็นตัวของตัวเอง จะทำให้พึ่งตัวเองได้ ดังพุทธภาษิตที่ว่า... “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ตนแลเป็นที่พึ่งของตน”
คุณธรรมที่ทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ เรียกว่า “นาถกรณธรรม 10” ดังนี้...
1. สีล คือความประพฤติดีงามสุจริต รักษาระเบียบวินัย มีอาชีวะบริสุทธิ์
2. พาหุสจฺจ คือความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้ง
3. กลฺยาณมิตฺตตา คือความมีกัลยาณมิตร การคบคนดี ได้ที่ปรึกษาและผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี
4. โสวจสฺสตา คือความเป็นผู้ว่าง่าย สอนง่าย รับฟังเหตุผล
5. กิลฺกรณีเยสุ ทกฺขตา คือความเอาใจใส่ช่วยขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรอง สามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย
6. ธมฺมกามตา คือความเป็นผู้ใคร่ธรรม คือรักธรรม ใฝ่ความรู้ ใฝ่ความจริง รู้จักพูด รู้จักรับฟัง ทำให้เกิดความพอใจ น่าร่วมปรึกษาสนทนา ชอบศึกษา ยินดีปรีดาในหลักธรรม หลักวินัย ที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป
7. วิริยารมฺภ คือความขยันหมั่นเพียร เพียรละความชั่ว ประกอบความดี มีใจแกล้วกล้า บากบั่น ก้าวหน้า ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุระ
8. สมฺตฏฺฐี คือความสันโดษ ยินดีมีความสุขพอใจด้วยปัจจัย 4 ที่หามาได้ด้วยความเพียรอันชอบธรรมของตน
9. สติ คือความมีสติ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำ คำที่พูดไว้ได้ เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท
10. ปญฺญา คือความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้จักคิดพิจารณา เข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
นาถกรณธรรมนี้ ท่านเรียกว่าเป็น พหุการธรรม หรือธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณความดีทั้งหลาย ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น ให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์
เมื่อตนเห็นตน ก็พึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่น หรือสิ่งอื่นได้ ดั่งดวงตะวันลอยเด่นบนนภา สาดแสงสู่หล้า และดาวเดือนทั่วฟากฟ้า
ดีเก่งแท้จริง
เรื่องดีเรื่องเก่ง มีทั้งดีและเก่งเทียม และดีเก่งแท้ ผู้ที่เป็นตัวของตัวเอง จะต้องมีดีแท้และเก่งแท้เท่านั้น ไม่มีประเภทดีแต่ไม่เก่ง หรือเก่งแต่ไม่ดี ดูบรรดาศาสดาหรือปราชญ์เป็นตัวอย่างสิ อย่างผู้ที่บรรลุนิพพาน มีใครกล้าปฏิเสธความดีความเก่งของท่านเหล่านั้นบ้างไหม?
พุทธคุณ หรือคุณของพระพุทธเจ้า เช่น พุทธคุณ 2 พุทธคุณ 3 พุทธคุณ 9
พุทธคุณ 2 เช่น ความถึงพร้อมแห่งประโยชน์ตน การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
พุทธคุณ 3 เช่น ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ กรุณาคุณ
พุทธคุณ 9 เช่น เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว เป็นผู้มีโชค
พุทธคุณรวม 14 อย่าง คือสุดยอดแห่งความดีแท้ เก่งแท้ เช่นนี้ มีใครที่ไหนกล้าปฏิเสธอยู่หรือ?
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ของพสกนิกรชาวไทยทั้งปวง พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติ พระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระองค์ทรงมีโครงการต่างๆ เกือบ 4,000 โครงการ เพื่อคนไทยทั้งประเทศ ทรงเป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูไปทั่วโลก มีโครงการหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มหาชนชาวไทยรู้จักตัวเอง และพึ่งตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานในการที่จะเป็นที่พึ่งของคนอื่น ของสังคมประเทศชาติต่อไป ไม่ว่าทางโลกทางธรรม พระองค์ทรงอัจฉริยภาพเลิศล้ำ และล้ำลึก ทรงดีทรงเก่งอย่างแท้จริงยากที่จะหาใครในโลกนี้มาเทียบเคียงพระองค์ได้ 5 ธันวาคมทุกปี จึงอลังการยิ่งใหญ่ หัวใจทุกดวงหลั่งไหลรวมพลังที่จุดเดียวกัน...คือพระองค์ หรือพ่อหลวงของเรา ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
แม้คนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ หากมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา หรือมีใจสะอาด มีใจสงบ มีใจสว่างบริสุทธิ์ถึงที่สุดแล้ว มีใครคิดว่า “เขาดีแต่โง่” เช่นนั้นหรือ? สำหรับผม เขาคือยอดคน ดีแท้เก่งแท้แน่นอน คนที่จะเป็นตัวของตัวเอง คือคนเห็นตน หรือคนมีปัญญา จึงพึ่งตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย ดังพุทธพจน์ที่ว่า... “พหูนํ ปณฺฑิโต ชีเว-ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน”
● เลื่อนไหลหยุดนิ่ง
การเลื่อนไหล และการหยุดนิ่ง เป็นสองสิ่งในตัวเรา ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ การเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่ง ก็ยังทำงานอยู่ตราบนั้น
หลวงพ่อชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) กล่าวว่า... “โยม รู้จักน้ำที่มันไหลไหม? เคยเห็นไหม? น้ำนิ่ง โยมเคยเห็นไหม? ถ้าใจเราสงบแล้ว มันจะคล้ายๆ กับน้ำมันไหลนิ่ง โยมเคยเห็นน้ำไหลนิ่งไหม? แน่ะ ก็โยมเคยเห็นแต่น้ำนิ่งกับน้ำไหล น้ำไหลนิ่ง โยมไม่เคยเห็น ตรงนั้นแหละ ตรงที่โยมคิดยังไม่ถึงหรอกว่า มันเฉยมันก็เกิดปัญญาได้ เรียกว่า ดูใจของโยม มันจะคล้ายน้ำไหล แต่ว่านิ่ง ดูเหมือนนิ่ง ดูเหมือนไหล เลยเรียกว่า น้ำไหลนิ่ง มันจะเป็นอย่างนั้น ปัญญาเกิดได้”
หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ (พระธรรมโกศาจารย์) กล่าวว่า... “หยุด พระพุทธเจ้าตรัสตอบแก่องคุลิมาล ว่า ฉันหยุดแล้ว แกไม่หยุด แกไม่หยุดก็คือยังฆ่าคนอยู่ แล้วองคุลิมาลก็หยุดฆ่าคน แล้วจึงเป็นพระอรหันต์
อย่างนี้ คนนั้นอธิบายเอาเองต่างหาก แล้วก็ยังเป็นการตู่พระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “หยุด” ของพระพุทธเจ้านั้น ท่านหมายถึง หยุดการมีตัวกู หยุดมีของกู หยุดมีตัวเรา หยุดความยึดมั่น มันคือความว่าง เพราะฉะนั้นความว่างนั่นแหละ คือความหยุด ความหยุดชนิดนี้เท่านั้น ที่ทำให้องคุลิมาลให้เป็นพระอรหันต์ได้ ไม่ใช่หยุดฆ่าคน
หยุดฆ่าคนนั้น ใครๆ ก็ไม่ฆ่าคนอยู่แล้ว ทำไมไม่เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าความหยุดหรือหยุดที่แท้นั้น มันคือความว่าง จนไม่มีตัวเราที่จะอยู่ที่ไหน หรือจะไปที่ไหน หรือจะมาที่ไหน หรือจะทำอะไร นั่นมันจึงหยุดแท้ ถ้ายังมีตัวเราอยู่แล้วมันหยุดไม่ได้”
ความหยุด ความสงบ ความว่าง คือบ้านที่แท้จริงของเรา ชีวิตคือการเดินทาง ออกจากบ้านแล้วกลับบ้าน ด้วยกันทุกคนทุกท่าน มีไหวมีนิ่งตลอดการเดินทางนั่นแล
● พึ่งพิงทั้งมวล
สิ่งทั้งมวลล้วนพึ่งพิงอาศัยกัน หากขาดไร้ซึ่งแสงตะวัน สรรพสิ่งในโลกหล้า จะดำรงอยู่ได้อย่างไร? แสงดาวเดือนบนฟากฟ้าช่วยส่องทางยามค่ำคืน ถ้าไม่มีชาวไร่ชาวนา เราจะมีข้าวปลาอาหารมาจากไหน? ที่อยู่อาศัยสวยงามใหญ่โต เพราะผู้ใช้แรงงานใช่ไหม? ถนนหนทางสะดวก เพราะคนกวาดถนนทำหน้าที่ ขยะไม่ท่วมบ้านท่วมเมือง เพราะคนเก็บขยะไม่ละเลย เพราะมีคนโง่ จึงทำให้ครูอาจารย์มีอาชีพ ถ้าไม่มีโจรผู้ร้าย คนทุจริตคอร์รัปชัน คนโกงบ้านผลาญเมือง จะมีตำรวจไว้ทำอะไร? ประเทศเป็นบ้านทหารเป็นรั้ว ศัตรูต่างชาติแหลมมา ทหารต้องจัดการขับไล่ให้ออกนอกเขตประเทศ นี่คือเหตุผลที่ต้องมีทหาร ฯลฯ
ฉันกำลังดื่มน้ำชาอย่างมีสติ ฉันมีสมาธิกับการดื่มชา ฉันเห็นได้ว่าการดื่มชานั้น ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าที่ฉันได้ดื่มก้อนเมฆ ด้วยปัญญาความเข้าใจที่เกิดขึ้นตรงนี้ ก็คือการตรัสรู้ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ฉันก็ไม่สามารถที่จะเห็นก้อนเมฆในน้ำชาของฉัน เมื่อก่อนนั้น ฉันอาจจะคิดว่าก้อนเมฆได้หายไปแล้ว ตายไปแล้ว แต่เมื่อฝึกเจริญสติ สมาธิ มีปัญญาเกิดขึ้น ฉันสามารถที่จะเห็นได้ว่า ก้อนเมฆนั้นก็ยังมีชีวิตอยู่ในน้ำชาของฉัน และการดื่มน้ำชาเช่นนี้ จะนำมาซึ่งความสุขเป็นอย่างยิ่ง
ตระหนักรู้ความเป็นดั่งกันและกัน เส้นทางแห่งความไม่แบ่งแยก มองอย่างลึกซึ้งด้วยสายตาของสติ และสมาธิ เห็นจักรวาลในฝุ่นผง เห็นสรรพสิ่งในตัวเรา
ดอกไม้เอ๋ย เจ้าเติบโตมาจากปุ๋ยและขยะ กลิ่นเหม็นฉุน ขยะเอ๋ย วันหนึ่ง เจ้าจะแปรเปลี่ยนเป็นดอกไม้งดงาม ส่งกลิ่นหอมขจรไกล สรรพสิ่งล้วนเป็นดั่งกันและกัน
(ดั่งกันและกัน จากตาสู่ใจ ธรรมะใกล้มือ โดย...นันทจิตรา)
●●●พึงเป็นตัวเอง
ดีเก่งแท้จริง
เลื่อนไหลหยุดนิ่ง
พึ่งพิงทั้งมวล
ไม่ว่าคุณจะเป็นอย่างไร หรือไม่เป็นอะไร เป็นไทหรือเป็นทาส มีอัตตาหรือไม่มีอัตตา เป็นโลกิยะหรือโลกุตตระ ต่างก็พึ่งพาอาศัยกันอยู่ดี คงจะอยู่คนเดียวเดี่ยวโดดไม่ได้ เนื่องเพราะสิ่งทั้งมวลล้วนอาศัยกัน สิ่งทั้งมวลล้วนสัมพันธ์กัน ผู้เห็นธรรมคือผู้เห็นตน ผู้เห็นตนย่อมเห็นสรรพสิ่งในตัวเอง และเห็นตัวเองในสรรพสิ่ง