xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ของขวัญปีใหม่ “พนักงานรสก.” รอไปก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันก่อนคณะรัฐมนตรี แจกของขวัญปีใหม่ ให้ข้าราชการไทย 1.98 ล้านคน เทงบประมาณเกือบ 2.3 หมื่นล้าน ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานทุกประเภท เป็นการขยายเพดานเงินเดือนขั้นสูง ที่ปรับพรวดเดียว 3 ขั้น 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พนักงานราชการก็ได้เพิ่ม 4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มงานขั้นสูงด้านเทคนิควิชาชีพ ก็ได้บวกเพิ่มอีก 4 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้งหมดต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนจะมีผล 1 ธันวาคมนี้

แถมพนักงานราชการกว่า 3 หมื่นคน ที่เงินเดือนไม่ถึง 10,000 บาท ก็ยังได้อานิสงค์ ขึ้นเงินเดือนเหมือนกัน

การประชุมครม.วันเดียวกันนอกจากคณะรัฐมนตรี จะเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการและพนักงานทุกประเภทแล้ว ยังมีการพูดถึง “ข้าราชการรัฐวิสาหกิจ” ด้วย แต่ไม่ได้เป็นการพูดถึงการเพิ่มเงินเดือนแต่อย่างใด

ภายหลังประชุม ครม. “ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้รับทราบรายงานผลการประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (รสก.) ปี 2556 (รัฐบาลพรรคเพื่อไทย) จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ตามรายงานระบุว่า หากประเมินตามระบบปัจจุบัน มีรัฐวิสาหกิจ 3แห่ง ที่มีผลประเมินต่ำสุด (เรียงลำดับจากต่ำสุด) คือ 1.องค์การตลาด (อต.) 2.องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และ3.ธนาคารพัฒนารัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ตามรายงานระบุว่า เนื่องจากผลการดำเนินการตามนโยบาย และผลดำเนินงานด้านการเงินและที่ไม่ใช่การเงินไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 3 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด คือ 1.การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) 2.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ3.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

ทั้งนี้หากใช้ระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจมาประเมิน พบว่า รัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ที่มีผลประเมินต่ำสุด คือ 1.บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 2.องค์การเภสัชกรรม และ 3.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 3 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด คือ 1.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ3.การประปานครหลวง (กปน.)

ขณะที่รายงานมีข้อเสนอแนะด้วยว่า รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาซับซ้อนและเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาทางด้านการเงิน และยังไม่มีสัญญาณของการพลิกฟื้นที่ชัดเจน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน )ควรดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด และต้องได้รับการกำกับอย่างใกล้ชิดด้วย และรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาจากการแข่งขันของธุรกิจรุนแรง ต้นทุนการดำเนินการสูง การนำองค์กรของคณะกรรมการ ต้องได้รับการกำกับดูแลและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานและผลประกอบการดี แต่มีแนวโน้มเกิดปัญหาในอนาคต ต้องได้รับการดูแลเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ด้วย เช่น บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่ได้รับสัมปทานจากรัฐในอนาคต และมีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องทบทวนบทบาทตัวเอง เช่น ปรับเปลี่ยนภารกิจ ยุบรวม ยุบเลิก และเป็นรูปแบบเป็นหน่วยงานรัฐอย่างอื่น ขณะเดียวกันยังต้องสนับสนุนการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และสร้างความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานสากลด้วย

เมื่อเดือนตุลาคม 2557 สคร.เปิดเผยว่า รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำส่งรายได้รวม 1.9 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) นำส่งรายได้ 1.8 หมื่นล้านบาท สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่งรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาท ธนาคารออมสิน นำส่งรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำส่งรายได้ 1.05 หมื่นล้านบาท

หากแยกตามสาขาของรัฐวิสาหกิจ พบว่า รัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงาน นำส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด คือ 5.39 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม นำส่งรายได้ 2.4 หมื่นล้านบาท สาขาสถาบันการเงิน นำส่งรายได้ 2.1 หมื่นล้านบาท สาขาสาธารณูปการ นำส่งรายได้ 1.23 หมื่นล้านบาท

สาขาขนส่งนำส่งรายได้ 1.21 หมื่นล้านบาท สาขาสื่อสาร นำส่งรายได้ 9.9 พันล้านบาท สาขาสังคมและเทคโนโลยี นำส่งรายได้ 492 ล้านบาท สาขาเกษตรนำส่งรายได้ 128 ล้านบาท

ข้างต้นนี้ เป็นรายงานผลการประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2556 ที่จะนำไปสู่ การกำหนดเกณฑ์โบนัส-เงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ในอนาคต

หากจำได้ เรื่องการการรื้อโบนัสเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นนโยบายหลักของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดย 2-3 เดือนแรก ในการเข้ามาบริหารราชการของ คสช. มีคำสั่งให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด) ที่มีพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานฯ ไปจัดการให้เรียบร้อย เริ่มด้วยการหั่นสิทธิประโยชน์ฟุ่มเฟือยบอร์ดรัฐวิสาหกิจ นำมาสู่การรื้อใหญ่การใช้เกณฑ์คะแนนตัวกำหนดประเมินผลงานจ่ายโบนัสพนักงานข้างต้น มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เข้ามาคุมงานบริหาร 46 รัฐวิสาหกิจ มีการอนุกรรมการแก้ไขและกลั่นกรองปัญหารัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีการแก้ปัญหา 10 รัฐวิสาหกิจ ที่พบว่า ขาดทุนหนักด้วย

ล่าสุดทราบว่า สคร. กำลังพิจารณาปรับสิทธิประโยชน์พนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ตามเกณฑ์การประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ (SEPA) โดยจะทำให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2558 เพื่อให้มีผลต่อการพิจารณาในเรื่องโบนัส และเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2559 ที่จะต้องนำผลการดำเนินงานปี 2558 มาพิจารณา ซึ่งการปรับเกณฑ์ครั้งใหม่นี้ จะนำรัฐวิสาหกิจที่มีผลการขาดทุนอาจจะได้รับโบนัสบ้าง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจที่จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ จากเดิมหากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะหมดสิทธิ์ได้รับโบนัส

“คงต้องไปดูว่า เกณฑ์การประเมินที่มีอยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรปรับเปลี่ยนอะไร และการให้คะแนนง่ายไปหรือไม่ พร้อมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐวิสาหกิจที่ไม่เคยมีกำไร อาจจะต้องจ่ายโบนัสให้บ้าง เพื่อให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานเพื่อองค์กรต่อไป ตรงนี้จะแตกต่างจากเดิมที่หากขาดทุนจะไม่มีโอกาสได้รับโบนัสเลย”

ทั้งนี้ เดิมทีการประเมินนั้น สคร.จะให้น้ำหนักใน 3 ส่วนคือ 1.การดำเนินงานตามนโยบาย น้ำหนัก 20-30% 2. ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ น้ำหนัก 40-50% และ 3.การบริหารจัดการองค์กร น้ำหนัก 30% หากหน่วยงานใดได้ 5 คะแนนเต็ม สามารถจ่ายโบนัสได้ 11% ของกำไรสุทธิ หรือคิดเป็น 8 เท่าของเงินเดือน ไล่ลงมาหากได้ 4.5 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 10.5% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 7 เท่าของเงินเดือน ได้ 4 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 10% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 6 เท่าของเงินเดือน

หากได้ 3.5 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 9.5% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 5.5 เท่าของเงินเดือน ได้ 3 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 9% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน ได้ 2.5 คะแนนจ่ายโบนัสได้ 8.5% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 4.5 เท่าของเงินเดือน ได้ 2 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 8% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 4 เท่าของเงินเดือน ได้ 1.5 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 7.5% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน ได้ 1 คะแนนถือว่าต่ำมาก จ่ายโบนัสได้ 7% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 2 เท่าของเงินเดือน

นอกจากนี้ สคร.กำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจ A B C ใหม่ให้เหมาะสม เพราะของเดิมนั้นใช้มานานหลายปี บางรัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินการที่ดีขึ้นควรจะได้รับการปรับจากกลุ่ม B หรือ C ให้มาอยู่กลุ่ม A และบางรัฐวิสาหกิจอาจจะต้องตกชั้นจากกลุ่ม A เพราะมีผลประกอบการที่แย่ลง

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจกลุ่ม A มี 7 แห่งคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคาร อาคารสงเคราะห์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กลุ่ม B มี 6 แห่ง แบ่งเป็น BA มี 12 แห่ง เช่น ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น และกลุ่ม BB มี 14 แห่ง เช่น บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นต้น กลุ่ม C มี 22 แห่ง เช่นองค์การสุรา โรงงานไพ่ เป็นต้น.

หลายวันก่อน พล.อ.สุรศักดิ์ ได้ประชุมหารือกรณีที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.)และกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ(กบร.) เสนอขอปรับปรุงบัญชีโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจ 37 แห่ง มีการมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจเข้ามาศึกษาตามข้อเสนอที่สรส.และกบร.ยื่นมา เมื่อได้ข้อสรุปก็ให้เสนอต่อประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณาอีกครั้ง ว่าจะมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าจะออกในแนวทางใด

“เชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่ล่าช้าเนื่องจากมีการเสนอมาหลายครั้งแล้ว หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แล้ว จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป”

เรื่องนี้ “นายศิริชัย ไม้งาม” ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในฐานะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฝ่ายลูกจ้าง ระบุว่า ปัจจุบันบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจไทย 37 แห่ง อาทิ บริษัทขนส่ง จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การประปานครหลวง องค์การเภสัชกรรม มีการใช้โครงสร้างอัตราเงินเดือน 58 ขั้น โดยขั้นแรกอัตราเงินเดือน 5,780 บาท และขั้นที่ 58 อยู่ที่ 113,520 บาท แต่ที่มีการใช้จริงจะเริ่มจ่ายที่ขั้นที่ 12 อัตรา 9,040 บาท เนื่องจากขั้นที่ 1-11.5 จ่ายค่าจ้างต่ำกว่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทหรือเท่ากับเดือนละ 9,000 บาท ตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ดังนั้น สรส.จึงได้เสนอขอปรับปรุงบัญชีเงินเดือนอัตราค่าจ้างของรัฐวิสาหกิจใหม่โดยกำหนดให้ขั้นที่ 1อยู่ในอัตรา 9,040 บาท ส่วนขั้นต่อไปปรับขึ้นเฉลี่ยในอัตราร้อยละ 4.3 ของฐานเงินเดือนซึ่งจะทำให้อัตราเงินเดือนขั้นที่ 58 อยู่ที่ 189,330 บาท

ส่วนข้อเสนอของกลุ่มประสานงานบุคคลรัฐวิสาหกิจ อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ขอปรับปรุงขั้นที่ 1 โดยขั้นที่ 1 ยังคงอยู่ที่ 5,780 บาท ส่วนขั้นที่ 2-40 ยังใช้โครงสร้างอัตราเงินเดือนเดิม แต่ขั้นที่ 40.5 ถึงขั้นที่ 58 เสนอให้ปรับเพิ่มค่าจ้างในอัตราร้อยละ 5 ขณะที่ขั้นที่ 58.5 ถึงขั้นที่ 70 เสนอให้ปรับเพิ่มค่าจ้างเฉลี่ยครึ่งขั้นละร้อยละ 2.80 โดยอัตราสูงสุดอยู่ที่ 231,280 บาท

ทั้งนี้เหตุผลที่เสนอปรับโครงสร้างเงินเดือน เนื่องจากโครงสร้างเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน หากไม่มีการปรับโครงสร้างจะทำให้พนักงานรัฐวิสาหกิจขาดขวัญและกำลังใจซึ่งมีผลกระทบต่อการประกอบการ ทำให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวมมากกว่าผลดี และกระทบถึงผลประกอบการและการนำเงินส่งเข้ารัฐ

ทั้งหมดนี้ ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลให้รัฐบาลพิจารณา คาดว่าคงเป็นปีหน้า 2558 สำหรับเงินเดือนและโบนัส ของพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น