กลุ่มวัสดุและก่อสร้างแนวโน้มขึ้นเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 6.30 ตามด้วยกลุ่มน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ร้อยละ 6.28 ขณะกลุ่มเคมีภัณฑ์ อยู่ที่ร้อยละ 6.25 โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มลาออกสูงสุดร้อยละ 21 รองลงมาเป็นกลุ่มเคมีภัณฑ์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีรั้งท้าย
บริษัท เฮย์กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก เผยผลสำรวจอัตราค่าตอบแทนปี 2557 รวมถึงแนวโน้มการจ่ายค่าตอบแทนในปี 2558 ว่า ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น และอีกไม่นานทั่วโลกจะประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งแรงงานที่มีในตลาดไม่ตรงกับความต้องการขององค์กร ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการสรรหาและคัดเลือกพนักงานมากขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าว นับเป็นความท้าทายอย่างมากขององค์กรว่า จะทำอย่างไรจึงจะสรรหาบุคลากรให้ได้คุณลักษณะตามที่องค์กรต้องการ พร้อมทั้งตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานด้วย หากฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถสรรหาพนักงานที่มีความสามารถที่เหมาะสมกับองค์กร รวมทั้งเหมาะสมกับลักษณะงานได้ จะช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้
ปีนี้ เฮย์กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจแนวโน้มการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทน พร้อมทั้งศึกษาและวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจในด้านทรัพยากรบุคคล ร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศไทยกว่า 100 บริษัท ทั้งภาครัฐและเอกชน
นายธนายุส สุทธิโก ที่ปรึกษา บริษัท เฮย์กรุ๊ป กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ การโยกย้ายงาน การว่างงาน และความต้องการของแรงงาน ถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารค่าตอบแทนขององค์กร นอกจากนี้ ยังเปิดเผยถึงผลสำรวจเกี่ยวกับ นโยบายการจ่ายค่าตอบแทน อัตราการขึ้นเงินเดือน การจ่ายโบนัส รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มในปีหน้าด้วย
สำหรับแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในแต่ละอุตสาหกรรม ในปี 2558 นั้น อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุและก่อสร้างโดยอยู่ที่ร้อยละ 6.30 กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ร้อยละ 6.28 ตามมาด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อยู่ที่ร้อยละ 6.25 โดยแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในปี 2558 เฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 6.01 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 6.06 ในปี 2558
ส่วนแนวโน้มการจ่ายโบนัสในแต่ละอุตสาหกรรมนั้น การจ่ายโบนัสรวมประจำปี 2558 มีแนวโน้มว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับโบนัสสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยอัตราการจ่ายอยู่ที่ 4.03 เดือน ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อยู่ที่ 3.98 เดือน และกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุและก่อสร้าง อยู่ที่ 3.69 เดือน ซึ่งแนวโน้มการการจ่ายโบนัสเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมในปี 2558 จะลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 3.44 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 3.40 ในปี 2558
หากเปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนในแต่ละอุตสาหกรรม ผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมที่จ่ายเงินเดือน (Basic Salary) สูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
โดยอัตราการลาออกของพนักงานในแต่ละอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยในปีนี้ สูงสุดเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ร้อยละ 21 รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยี อยู่ที่อัตราร้อยละ 14
เมื่อพิจารณานโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนในปีนี้พบว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินเดือนพื้นฐาน (Basic Salary) ในการจ่ายค่าตอบแทนเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของค่าตอบแทนรวม อย่างไรก็ตาม องค์กรหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะปรับการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน โดยเน้นที่การให้สวัสดิการ (Benefits) และเงินได้อื่นๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า องค์กรส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่ค่ากลาง (P50) เมื่อเปรียบเทียบกับตลาด แต่ก็พบว่าหลายองค์กรมีนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานที่สูงกว่าค่ากลางของตลาด (P50 – P75) เนื่องจากปัจจุบัน ตลาดมีการแข่งขันด้านอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น องค์กรเหล่านี้จึงต้องการเป็นผู้นำตลาด เพื่อที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้