xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พวกเรารักในหลวง” เสียงจากชาวเขาหมู่บ้านขอบด้ง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กนักเรียนและคุณครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง
ไม่แปลก ถ้าหากมาเยือน “หมู่บ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่” แล้วเจอชาวเขาจากหมู่บ้านแห่งนี้บอกว่า “รักในหลวง” มากเพียงใด...

เนื่องจากทุกวันนี้ ชาวเขาเผ่ามูเซอดำจากหมู่บ้านขอบด้งแห่งนี้ล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวคือพวกเขาได้รับการสนับสนุนให้ประกอบอาชีพเกษตรกร เพื่อป้อนผลิตผลเข้าสู่ “โครงการหลวงหรือสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” โครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากเดิมที่เคยปลูกฝิ่น ทำไร่เลื่อนลอย ใช้ชีวิตแบบอดอยาก มาวันนี้พวกเขาได้เปลี่ยนมาปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาว จนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ...

เสียงจากชาวบ้านหมู่บ้านขอบด้ง

“เราจะทำแปลงตามโครงการหลวงคือ ใช้ปุ๋ยหมักที่เป็นขี้วัว ขี้ควาย พอได้ปุ๋ยแล้ว เราก็ขึ้นแปลง โดยเอาต้นสตรอเบอร์รี่วางลงบนแปลง โดยแต่ละต้นจะต้องห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ระยะของต้นใกล้เกินไป ถ้าเราปลูกถี่เกินไป ต้นจะเล็ก ส่วนวิธีการดูแล เราก็จะเก็บเกี่ยวช่วงเดือน ธ.ค. คือเก็บได้ไปจนถึงเดือนมีนาคม สตรอเบอร์รี่ต้นหนึ่งจะให้ผลผลิต 3 รุ่นต่อปี รุ่นแรกจะให้ช่วงปลายเดือน พ.ย. แล้วค่อยไล่ไปเป็นรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 คือ ถ้าเราดูแลดี สตรอเบอร์รี่ก็จะให้ผลเร็วครับ ส่วนการรดน้ำ ช่วงนี้เราก็จะรดน้ำวันเว้นวัน และใส่ปุ๋ยที่เป็นน้ำหมักชีวภาพสัปดาห์ล่ะ 1 ครั้งครับ”

สุริยา เกิดโอฬาร เจ้าของบ้านพักณิชารีย์และเจ้าของไร่สตรอเบอร์รี่ที่หมู่บ้านขอบด้ง บอกเล่าเรื่องราวและชีวิตของเขาที่ทุกวันนี้อยู่ดีกินดีเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับความรู้จากโครงการหลวงที่มาสอนวิธีการปลูกสตรอเบอร์รี่พันธุ์ 80

ทั้งนี้ สตรอเบอร์รี่ทุกเกรดสามารถขายส่งให้โครงการหลวงเฉลี่ยได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 250 บาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ชาวขอบด้งพอใจเป็นอย่างยิ่ง

“โครงการหลวงขายไม่แพงครับ เพราะเขาไม่เอากำไรบ้าง เอาค่าจัดการนิดหน่อยเท่านั้นเอง ผมต้องขอบคุณโครงการหลวงที่ช่วยส่งเสริมชาวเขาในพื้นที่ ทุกวันนี้วิถีชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อก่อนผมไม่มีบ้าน ไม่รถ แต่ตอนนี้มีบ้านอยู่ มีรถใช้ ก็ขอขอบคุณโครงการหลวงมาก และเนื่องในโอกาสวันพ่อที่ 5 ธ.ค. นี้ผมก็ขออวยพรให้พระองค์ท่านมีสุขภาพพลามัยสมบูรณ์ และพระชนมมายุยืนนานครับ”สุริยากล่าวถวายพระพรด้วยความปลื้มปีติ

เฉกเช่นเดียวกับ อาจหาญ จตุรพรไพร ชาวมูเซอดำ สมาชิกอบต.และประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่แตกต่างกัน

“ผมปลูกผัก ปลูกไม้ดอก และปลูกสตรอเบอร์รี่ ปีที่แล้วผมได้เงินแสนกว่าบาทจากการเพาะสตรอเบอร์รี่ ส่วนผัก ผมก็ปลูกกะหล่ำปลีสีม่วงได้เงินสองหมื่นกว่าบาท เพราะพื้นที่น้อยหน่อย นอกนั้นก็ปลูกไม้ดอกเมืองหนาวด้วยครับ”

จากคำพูดของเขา คงจะเห็นแล้วว่ารายได้จากการปลูกสตรอเบอร์รี่จึงถือเป็นพืชผลที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำของชาวบ้านที่นี่
นอกจากนี้ อาจหาญยังได้เท้าความไปถึงอดีตตอนที่หมู่บ้านขอบด้งยังยากจน และยังไม่มีโครงการหลวงเข้ามาช่วยเหลือว่า

“เมื่อก่อนหมู่บ้านเราจนมากๆ ต้องรับจ้าง ได้ค่าแรงไม่กี่บาท  พ่อเล่าว่า เมื่อก่อนจะซื้อข้าวกินที ก็ต้องเดินเท้าเป็นสิบๆกิโลฯ ตอนนั้นเราทำแค่ไร่ข้าวและปลูกฝิ่น ผมยังจำความได้ ช่วงที่เรายังปลูกฝิ่น ปลูกข้าว ยังไม่ค่อยมีความรู้ด้านปลูกพืชมากนัก ยังเคยตามพ่อไปปลูกฝิ่นด้วย ต่อมาในหลวงเห็นเรามีความเป็นอยู่ลำบาก เลยเปลี่ยนอาชีพพวกเรา โดยให้ปลูกพืชของโครงการหลวง

“พอโครงการหลวงเข้ามากก็จะแนะนำว่าควรใช้เมล็ดพันธุ์พืชอะไร ควรปลูกอย่างไร มีการจัดทำชลประทาน มีการจัดสรรพื้นที่ให้เราทำกิน ตอนนั้นผมอายุประมาณ 7 ขวบ จำได้ว่าครอบครัวเราเปลี่ยนมาปลูกกาแฟ ปลูกกะหล่ำ นอกนั้นก็มีไม้ดอกคาร์เนชั่นเข้ามา ดังนั้นช่วงหลังเลิกเรียนก็ยังช่วยพ่อแม่รดน้ำ” เขาเล่าพร้อมกับยิ้มบางๆ เมื่อนึกถึงความทรงจำเก่าๆ

“เป็นความโชคดีของหมู่บ้านเราที่มีโครงการของในหลวง พระองค์ท่านให้เราปลูกไม้พืชเมืองหนาว จากเดิมที่เคยทำไร่เลื่อนลอย แต่พอโครงการหลวงเข้ามาก็เข้ามาส่งเสริมให้เรามีอาชีพและรายได้มากขึ้น เมื่อก่อนมีอะไร เราก็ต้องขายเอง แต่โครงการหลวงรับซื้อผลผลิตทุกอย่าง เราแค่มีหน้าที่ปลูกและรดน้ำอย่างเดียวเท่านั้นเอง ดังนั้นโครงการหลวงเป็นโครงการที่ดีที่สุดในชีวิตผม ถ้าไม่มีโครงการหลวง ผมก็ไม่รู้จะไปทำอะไร” อาจหาญบอกกับเรา

ด้าน กุลธวัช ภูติโยธิน พนักงานบริษัท หนึ่งในนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมหมู่บ้านขอบด้งแห่งนี้เป็นประจำ บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า ชื่นชมโครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชาวหมู่บ้านขอบด้งแห่งนี้ที่เห็นได้ชัดว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ด้วย

“หมู่บ้านขอบด้งยังคงวิถีชีวิตแบบชาวบ้านที่ยังเป็นแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ขั้นบันได ส่วนบ้านยังเป็นสไตล์เดิม คือ ยังใช้ธรรมชาติในการสร้าง ไม่ใช่ปูน ส่วนชาวบ้านยังใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ดูน่ารักดีครับ เวลามาที่นี่ ผมชอบไปเดินเล่นในหมู่บ้าน ไปเยี่ยมชมโครงการหลวง ชอบที่วิวข้างทางสวยๆ สามารถจอดรถถ่ายรูปได้ นอกนั้นก็มีขายผลไม้พืชเมือง เช่น กีวี สตรอเบอร์รี่ ในราคาที่ถูกมาก แถมรสชาติหวานมาก อย่างสตรอเบอร์รี่ กัดไปคำแรกก็หวานแล้ว

“ผมชอบโครงการหลวง มองว่าถ้าไม่มีโครงการนี้ ชาวบ้านอาจจะไม่มีรายได้ เขาอาจจะปลูกพืชผลอะไรไม่รู้ แต่โครงการหลวงมาให้ความรู้ว่าควรจะปลูกอะไร เช่น ผมเคยคุยกับชาวบ้านที่นี่ เขาบอกว่าช่วงปลายปีจะปลูกสตรอเบอร์รี่ พอพ้นช่วงนี้ไปก็ปลูกต้นท้อ คิดว่าถ้าเขาทำกันเอง ก็คงไม่ได้ปลูกพืชหมุนเวียน หรือไม่ได้พันธุ์พืชที่ดีมากนัก แต่พอเขาเข้าโครงการหลวง โครงการฯ ก็สอนวิธีเพาะปลูกที่ไม่ต้องใช้สารเคมี ได้ปลูกพืชผลที่สร้างรายได้ ดังนั้นถ้าไม่มีโครงการหลวงเขาอาจจะไม่มีงานทำ หรืออาจยังปลูกฝิ่นอยู่ก็ได้”

เจ้าหน้าที่โครงการหลวง มาด้วยใจเทิดทูนในหลวง

ยามพลบค่ำ ขณะที่เราเดินเยี่ยมชมหมู่บ้านขอบด้งอยู่นั้น เราเห็นชายคนหนึ่งกำลังดีดกีตาร์ร้องเพลงร่วมกับชาวบ้านในหมู่บ้าน ชาวบ้านกระซิบบอกเราว่าเขาคนนี้เป็นเจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงหรือสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ซึ่งหลังจากเสร็จงานในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่คนนี้ก็จะถือกีตาร์มาร้องเพลงกับชาวบ้านจนกลายเป็นภาพชินตาของคนในหมู่บ้านไปแล้ว

เมื่อเราเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนนี้ เขาแนะนำตัวเองว่าชื่อ “ประสาน ทิพจร” เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม้ผลขนาดเล็ก (สตรอเบอร์รี่) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง พื้นเพเขาเป็นคนเชียงใหม่ อายุ 25 ปี หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงเริ่มเข้ามาทำงานโครงการหลวงโดยเป็นผู้ช่วยวิจัยไม้ผลขนาดเล็ก จากนั้นจึงเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมหมู่บ้านขอบด้งและหมู่บ้านนอแล โดยเน้นให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการปลูกสตรอเบอร์รี่พันธุ์ 80 ซึ่งเป็นพันธุ์พระราชทาน

แม้จะทำงานกับโครงการหลวงได้แค่ปีกว่า แต่ความรู้สึกของเขาผูกพันกับโครงการหลวงมาก และบอกว่าภาคภูมิใจที่ได้ทำงานรับใช้เบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“การได้ทำงานโครงการหลวง ถือเป็นความฝันของคนเรียนเกษตรทุกคน เพราะตั้งแต่สมัยเรียน อาจารย์ก็จะมักนำเคสโครงการหลวงมาเล่าให้ฟังเป็นประจำ ตอนนี้หน้าที่หลักๆของผมคือรวบรวมข้อมูลจากหลักวิชาการต่างๆ มาบอกชาวบ้าน เช่น การจัดการแปลง การเก็บเกี่ยวผลผลิตต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีที่เราทำการวิจัยแล้วว่าได้ผลกว่าวิธีเก่า นอกนั้นเราก็แนะนำการจัดการต่างๆในแปลง เริ่มตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวสตรอเบอร์รี่”ประสานเล่า

“พอได้มาทำงานที่นี่ ได้สัมผัสชีวิตของชาวบ้านแบบเกษตรกร มีชีวิตเป็นอยู่ที่เรียบง่าย งานที่ผมมาส่งเสริมนั้นไม่ได้จะมาส่งเสริมให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าส่งเสริมให้เขาประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ไม่ปลูกไร่เลื่อนลอย ไม่ปลูกฝิ่น รักษาต้นน้ำ อนุรักษ์ดิน เพราะในหลวงทรงบอกว่าถ้าจะช่วยคน จะต้องช่วยต้นน้ำ แล้วถึงไปกลางน้ำ ปลายน้ำ แล้วพื้นที่ตรงนี้คือต้นน้ำที่ต้องรักษา เพราะถ้าต้นน้ำไม่ดี ข้างล่างก็จะไม่ดีตามไปด้วย”

ประสานบอกด้วยว่านับตั้งแต่มีโครงการเข้ามา ถือว่าช่วยพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญได้มากถึง 100 เปอร์เซ็นต์

“เมื่อก่อนถ้ามาดูพื้นที่ตรงนี้จะเห็นมีแต่ภาพภูเขาโล้น เพราะมีแต่การตัดไม้ทำลายป่า ทำไรเลื่อนลอย ปลูกฝิ่น แต่ตอนนี้มีการปรับเปลี่ยนหมด จนไม่มีแล้ว”

ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการหลวง ประสานยอมรับว่าไม่ง่ายที่จะทำให้ชาวบ้านยอมรับ ดังนั้นเขาจึงเน้นใช้วิธี “ใจเขา ใจเรา” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้เขาอยู่ร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น

“เราต้องยอมรับในตัวเกษตรกรที่เราไปส่งเสริมว่าเขามีประสบการณ์แน่นอน ดังนั้นเคล็ดลับการทำงานง่ายๆ คือใจเขาใจเรา เพราะคนอยู่งานเกษตร เขาจะรู้หน้างานอยู่แล้ว เอาง่ายๆ ว่าเราส่งเสริมเกษตรกร โดยที่ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นลูกน้อง เราไม่ได้ไปดุด่า แต่เกษตรกรคือเพื่อนร่วมงาน ดังนั้นเราจึงไม่ใช่ลูกน้องหรือเจ้านาย ดังนั้นเคล็ดลับเรื่องใจเขาใจเราจึงยังได้ผลอยู่”

ประสานเล่าอีกว่าเกษตรกรที่นี่จะเน้นปลูกแบบชีวพันธุ์ หรือหลัก GAP คือระบบการเพาะปลูกที่ดี ซึ่งเกษตรกรทุกคนจะต้องเข้าร่วมมาตรฐานตรงนี้

“ปกติพืชผลของโครงการหลวงจะประกอบด้วยพืชอินทรีย์กับพืช GAP พืชอินทรีย์ คือเราจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในการผลิต ดิน ต้องมีการตรวจว่าไม่มีธาตุโลหะหรือสารตกค้าง แต่ถ้าเป็นพืชชนิด GAP จะเป็นการเพาะปลูกที่ดี เราจะใช้สารเคมีเฉพาะสารที่เราควบคุมภายใต้โครงการหลวงเท่านั้น ข้อดีคือ จะไม่มีสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะเวลามีผลผลิต เราจะได้มั่นใจ แล้วก่อนจะแพ็กขาย ก็ต้องตรวจสารพิษตกค้าง ถ้าไม่ผ่าน ผมก็จะบอกให้ชาวบ้านเลิกผลิต แต่ไม่ค่อยเจอกรณีนี้ เพราะถ้ามีการออกดอกแล้ว เขาไม่ใช้สารเคมีแล้ว แต่จะใช้สารที่เป็นชีวพันธุ์ ซึ่งไม่มีพิษต่อแมลงและผู้บริโภค”

ส่วนคำถามที่ว่าทำอย่างไรจึงจะปลูกสตรอเบอร์รี่ได้ผลงาม ประสานตอบว่า

“สตรอเบอร์รี่ถือเป็นไม้ผลขนาดเล็ก แต่มีโรคเหมือนพืชผักทุกอย่าง จึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ขาดน้ำไม่ได้ ถ้าขาดน้ำจะตายทันที ควรจะดูแลตั้งแต่การเตรียมแปลง ก่อนเก็บเกี่ยว หลังเก็บเกี่ยว ช่วงระหว่างเก็บเกี่ยวก็ต้องดูแลให้ดีๆ

“พืชผลก็เหมือนคนเรา ถ้ากินไม่อิ่มก็ผอม เป็นโรคง่าย ถ้าอิ่มเกินไปก็ไม่ทำงาน ดังนั้นจึงต้องเลี้ยงแบบพอดีๆ ให้ปุ๋ยให้พอดี และถูกจังหวะเหมาะสม ง่ายๆ คือ ถ้าจะให้ปุ๋ยทางใบ ควรให้ตอนเช้า ถ้าจะพ่นชีวพันธุ์ก็ควรทำตอนเย็นๆ เพื่อให้หลบแดด ไม่งั้นต้นจะตาย”
ทุกวันนี้ ประสานบอกว่าตัวเขายังมีความสุขกับการทำงานและมีความสุขที่ได้ทำงานรับใช้ในหลวง พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย...

“ครูเรียม” แห่งโรงเรียนบ้านขอบด้ง

และหากพูดถึงคุณครูที่เป็นขวัญใจของนักเรียนที่นี่ คงไม่พ้น “ครูเรียม สิงห์ทร” คุณครูจากโรงเรียนบ้านขอบด้ง ที่ถือได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกโรงเรียนแห่งนี้ โดยปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนจำนวน 250 คน ประกอบด้วยชาวปะหล่อง มูเซอดำ และไทยใหญ่ ซึ่งนักเรียนแต่ละคนก็จะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าของตนเอง สร้างสีสันให้แก่โรงเรียนแห่งนี้ ดูแล้วน่ารักไม่เบา

ตามประวัติ โรงเรียนบ้านขอบด้งถือเป็นโรงเรียนที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้เข้ามาช่วยก่อตั้งสร้างโรงเรียนในหมู่บ้านแห่งนี้ในช่วงยุคแรกๆ หลังจากที่โครงการฯส่งคุณครูมาที่นี่หลายคน ก็ปรากฏว่าหลายคนถอดใจและลาออกไปจนหมด จนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางต้องส่งโทรเลขมาตามครูเรียม ซึ่งเคยส่งจดหมายมาขอสมัครเป็นครูที่นี่ในช่วงปีพ.ศ.2527

ครูเรียมเล่าว่าช่วงแรกที่มาอยู่ก็เคยท้อ เพราะไม่มีนักเรียนมาเรียนเลย จนผ่านไป 2 สัปดาห์ คิดว่าจะลาออก แต่พอมองไปเห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ติดอยู่ในห้องเรียน ทำให้มีสติและคิดขึ้นได้

“ครูรู้สึกว่าสายพระเนตรที่ทรงมองมาอบอุ่น เหมือนให้กำลังใจ กลายเป็นความประทับใจ ในขณะที่เราไม่มีอะไรเลย แต่พอได้เห็นพระองค์ท่าน จึงขอเอาพระองค์เป็นแรงบันดาลใจและยึดเหนี่ยวความรู้สึก เลยได้สติ ได้คิด คิดได้ว่าเมื่อไม่มีนักเรียนมา เราเป็นครู เราก็ต้องไปหานักเรียน คือ นักเรียนอยู่ที่ไหน ครูเรียมจะไปหาเด็กที่นั่น เอาดินสอ เอาขนม เอาหนังสือไปให้ เดินเข้าไปในหมู่บ้าน เจอเด็ก 2-3 คนแล้วชวนกันไปในสถานที่เด็กๆ ไปคือ ไร่ข้าว ตั้งแต่นั้นเองที่ไร่ข้าวได้กลายเป็นห้องเรียนของครูเรียม เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่ใหญ่มาก ท่ามกลางขุนเขา มีต้นไม้ เลยรู้สึกว่าความกลุ้มใจหายไป แต่เหลือแค่ความรู้สึกอบอุ่น ครูเอาดินสอ ปากกาให้เด็กๆ บอกว่าเธออยากวาดอะไรวาด อยากทำไร ทำแล้วเราจะมานั่งกินขนมกัน จากความเงียบ ความเหงา กลายเป็นความสุข”

จากนั้น ครูเรียมเล่าให้เราฟังถึงวันที่เธอได้เข้าเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้นเสด็จเยี่ยมชมโรงเรียนบ้านขอบด้งว่า
“ช่วงปี 2535 มีเจ้าหน้าที่โครงการหลวงบอกว่าดูแลดอกคาร์เนชั่นให้ดีๆ นะ จะมีผู้ใหญ่มาดูงาน พอถึงวันที่ 11 มี.ค. 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาที่หมู่บ้านขอบด้ง พอ ฮ. ลงมา พระองค์ก็เสด็จเข้าไปในอาคารเรียนที่อยู่ข้างหน้า โดยมีพระราชดำรัสว่าให้ดูแลการเรียนการสอนของเด็กๆ เน้นให้เด็กเรียนภาษาไทย จากนั้นเสด็จไปที่แปลงดอกคาร์เนชั่นและหันมาทางครู และพระราชทานเงินจำนวนสามพันบาท เพื่อเป็นค่าโรงเรือน ครูเลยให้นักเรียนเข้าไปรับพระราชทานเงินสามพันบาท ถือเป็นความประทับใจมากที่พระองค์ท่านเข้ามาดูงานที่นี่ ไม่คิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ สิ่งที่เราเก็บไว้เป็นแรงบันดาลใจและยึดเหนี่ยวให้เรามาทำงานตรงนี้ตั้งแต่นั้นครูเรียมตั้งปฏิญาณกับตัวเองว่า จะเป็นคุณครูที่นี่จนเกษียณ และถ้าเกษียณแล้ว และยังมีแรงกำลัง ก็จะทำหน้าที่และประโยชน์ให้แก่พื้นที่แผ่นดิน จนถึงวันที่เราจะไม่มีแรง”

“วันนั้น ครูเรียมยังจำได้ว่ามีคนบอกในหลวงว่าพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ แต่พระองค์ท่าน ทรงกางแผนที่และบอกว่านี่ไงล่ะแหลงน้ำ แสดงว่าพระองค์ทรงทำการบ้านมาก่อน และ ห่วงใยพสกนิกรอย่างแท้จริง ดังนั้นครูเรียมสอนนักเรียนเสมอว่า ไม่ว่าเธอจะเป็นชาวไทยใหญ่ ชาวปะหล่อง หรือชาวมูเซอดำ ที่ดินที่พวกเธอยืนอยู่ตรงนี้แลกมาด้วยเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ดูแล คุ้มครองและทำทุกอย่างเพื่อแผ่นดิน ทุกวันนี้พวกเธอเป็นคนไทยชายขอบ ฉะนั้นสิ่งที่พวกเธอจะทำได้คือ เป็นรั้วมีชีวิต คือ ดูแลและทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน นี่คือสิ่งที่เธอทำได้ “

นี่คือถ้อยคำที่ “ครูเรียม” แห่งโรงเรียนบ้านขอบด้ง ฝากถึงนักเรียนทุกคน ...

ทุกวันนี้ แม้คุณครูเรียมจะเป็นเพียงคุณครูเล็กๆ ไม่ได้มีฐานะเป็นคุณครูใหญ่ของโรงเรียน เพราะเธอเลือกจะอยู่โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ แต่เธอบอกว่ามีความสุขที่ได้ทำงาน เจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงงานเพื่อพสกนิกรปวงชนชาวไทยเสมอมา

“ครูเป็นอะไรก็ได้ ขอให้ได้เป็นครูในหมู่บ้านขอบด้ง เป็นอะไรก็ได้ ขอได้ทำประโยชน์ในหมู่บ้านแห่งนี้”

ครูเรียมบอกกับเรา ก่อนที่จะหันหน้าไปมองป้ายที่ตั้งอยู่หน้าโรงเรียน ซึ่งเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมถ้อยคำพระราชดำรัสว่า

“ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ”

นี่คือพระราชดำรัสที่ครูเรียมจดจำไว้เสมอ และไม่เคยลืมมาจนถึงทุกวันนี้...



เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์

ขอขอบคุณ

“บ้านพักณิชารีย์” (หมู่บ้านขอบด้ง ) สนใจเข้าพักเพื่อเยี่ยมชมบรรยากาศหมู่บ้านขอบด้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-6181-5648,08-0130-4494

“บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” สนใจสำรองที่พักได้ที่ 053-450107-9 ต่อ 113 ,114 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.angkhangstation.com

“สายการบินนกแอร์” ที่เอื้อเฟื้อการเดินทาง สนใจบินไปเยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สอบถามข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ โทร.1318 หรือ www.nokair.com


พระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดไว้ที่หน้าโรงเรียนบ้านขอบด้ง
“ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ” พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่ครูเรียม สิงห์ทร ไม่เคยลืม
บรรยากาศภายในหมู่บ้านขอบด้ง
เด็กหมู่บ้านขอบด้งที่ยามว่างจะออกมาวิ่งเล่นในไร่สตรอว์เบอร์รี่

เกษตรกรกำลังรดน้ำในไร่สตรอเบอร์รี่
บ้านพักณิชารีย์  ที่ชาวบ้านหมู่บ้านขอบด้งสร้างไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ 80 ซึ่งเป็นพันธุ์พระราชทาน รสชาติหวานอร่อย
เกษตรกรชาวเขากำลังตัดแต่งพืชผลก่อนนำส่งให้โครงการหลวง
เจ้าหน้าที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางกำลังจัดแต่งและแพ็กพืชผักลงถุง เพื่อจะนำไปจำหน่ายในร้านค้าของโครงการหลวง

ไร่แปลงสตรอเบอร์รี่ในหมู่บ้านขอบด้ง

ชาวบ้านกำลังเก็บต้นไม้ใบหญ้าเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักชีวพันธุ์ ซึ่งปราศจากสารพิษ

นักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าของตนเอง
เด็กนักเรียนรดน้ำในแปลงสตรอเบอร์รี่ซึ่งเป็นแปลงสาธิตของโรงเรียน
ประสาน ทิพจร” เจ้าหน้าที่ส่งเสริมไม้ผลขนาดเล็ก (สตรอเบอร์รี่) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอ่างขาง

อาจหาญ จตุรพรไพร ชาวมูเซอดำ




สุริยา เกิดโอฬาร เจ้าของบ้านพักณิชารีย์และไร่สตรอเบอร์รี่ (คนขวาของภาพ)แชะภาพกับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมหมู่บ้านขอบด้ง

ด.ญ.ณิชารีย์ เกิดโอฬาร ไกด์ตัวน้อยของศูนย์มัคคุเทศก์น้อย โรงเรียนบ้านขอบด้ง ที่ทำหน้าที่พานักท่องเที่ยวชมหมู่บ้าน
ไร่ชาในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง




ชุดประจำเผ่าของมูเซอดำ
เด็กๆ ในหมู่บ้านช่วยกันขายกำไลที่ทำจากหญ้าอิบูแคให้แก่ผู้ที่มาเยือน
กำลังโหลดความคิดเห็น