ใครจะคิดว่า คนที่เพียบพร้อมซึ่งฐานะทางสังคม ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี มีเงิน ซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จตามมาตรฐานของสังคม อย่าง อรรณพ จิรกิติ ความสุขของเขาคือ การดูแลคนชราที่ไม่ใช่ญาติโยม ถึงขนาดยอมควักกระเป๋าร่วมกับพี่น้อง สร้างบ้านพักคนชรา “บ้านสุทธาวาส” ที่ จ.นครนายก อย่างจริงจัง
สัปดาห์นี้เรามีนัดกับ อรรณพ จิรกิติ เจ้าของศูนย์การค้าสีลม คอมเพล็กซ์ อาคารสำนักงานหลังใหญ่กลางกรุงเทพฯ ซึ่งภาพของอรรณพที่เราวาดไว้ในใจนั้น คงเป็นบุรุษที่ใช้ชีวิตเลิศหรูอยู่บนกองเงินกองทอง หากแต่อรรณพที่ได้พบเจอในวันนั้น เป็นเพียงผู้ชายสมถะคนหนึ่ง ที่เลือกมีความสุขกับการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น
อรรณพ ในท่วงท่าเรียบง่ายสบายๆ เริ่มต้นบอกเล่าประวัติของเขาว่า เป็นลูกคนสุดท้องของประสิทธิ์ กับ อิงอร จิรกิติ นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เดินทางไปต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาก็มาทำงานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ก่อนจะมาทำธุรกิจของครอบครัว
เดิมที อรรณพ ก็เหมือนนักธุรกิจทั่วไปที่มีความสุขกับการทำงานหนัก แม้ในวัยเด็กจะถูกอบรมให้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมถึงการมีโอกาสติดตามแม่ไปทำบุญที่วัด ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นประจำ แต่เขาก็ยังไม่สามารถซึมซับถึงการให้อย่างแท้จริง ชีวิตอรรณพทำงานหนักมาตลอด จนย่างเข้าสู่วัยกลางคน และนั่นเป็นจุดหักเหของชีวิตที่เริ่มหันหน้าหาวัดมากขึ้น
“ผมชอบไปกราบพระและศึกษาธรรมที่ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ครับ พอได้ไปบ่อยๆ ก็เริ่มสนใจทางธรรม ทุกครั้งที่ไปปฏิบัติธรรมผมจะได้เห็นชีวิตคนหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีทั้งสุขและทุกข์ ตรงไหนที่พอจะช่วยได้ก็ช่วยกันไป พอช่วยแล้วเขามีความสุขผมก็มีสุขด้วย”
นั่นเป็นจุดเล็กๆ ของการเริ่มต้นคำว่า “ให้” พราะเมื่อเกิดความสุขใจอรรณพจึงอยากทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น จนวันหนึ่งที่ครอบครัวต้องสูญเสียคุณพ่อ-คุณแม่ ในหมู่พี่-น้องจึงมีความคิดตรงกันว่า อยากทำงานสาธารณกุศล เพื่อทดแทนคุณให้พ่อ-แม่ อีกทั้งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ซึ่งทุกคนมีความคิดตรงกันว่า จะทำสถานสงเคราะห์คนชราหญิงสุทธาวาสขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือหญิงสูงวัยที่ไร้ที่พึ่งพิง
พี่น้องตระกูล “จิรกิติ” ได้รวบรวมเงินก้อนใหญ่หาซื้อที่ดินย่านองครักษ์ นครนายก จำนวน 40 ไร่ เพื่อใช้เป็นที่ตั้ง มูลนิธิสุทธาวาสและบ้านพักคนชรา จากนั้นจึงลงมือก่อสร้างจนสำเร็จ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
“การที่เราตัดสินใจสร้างบ้านพักคนชรา เพราะผมเห็นว่าสังคมไทยเดี๋ยวนี้มีคนแก่เยอะ หลายคนประสบปัญหาตัวคนเดียว พอแก่ตัวลง เจ็บไข้ไม่ลูกหลานคอยดูแล และไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็เลยตัดสินใจทำบ้านพักคนชราหญิง ที่ต้องเลือกทำเฉพาะหญิง ก็เพื่อความคล่องตัว ทั้งในเรื่องของพนักงานที่จะดูแลคุณยาย รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดให้คุณยายได้ทำในแต่ละวัน” อรรณพกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
สำหรับบ้านพักคนชราสุทธาวาส เป็นบ้านพักขนาดใหญ่ มีรั้วรอบขอบชิด ภายในแบ่งเป็นเรือนพัก 3 เรือน คือ เรือนหญิงชราพึ่งตน 3 หลัง, เรือนหญิงชราพึ่งพา 1 หลัง ประมาณ 45 เตียง และ เรือนหญิงชราสมองเสื่อม 1 หลัง มีศาลาปฏิบัติธรรม เรือนฟื้นฟูและสันทนาการ ลานในร่มอเนกประสงค์ ครัวและโรงอาหาร เรือนปกครองและบ้านพักของพนักงาน ซึ่งแต่ละเรือนจะถูกสร้างแบบเรียบง่าย มีทางเดินเชื่อมต่อเนื่องกันทุกเรือนเหมาะกับผู้สูงวัย
ส่วนเกณฑ์การรับคุณยายเข้าอยู่ในบ้านสุทธาวาสนั้น อรรณพบอกว่าจะรับเฉพาะสตรีที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่มีลูก-หลาน ไม่มีที่อาศัยของตัวเอง เมื่อเข้ามาแล้ว จะมีเสื้อผ้า มีอาหาร และกิจกรรมให้ทำต่อเนื่อง ตั้งแต่ให้คุณยายเดินออกกำลังกาย ทำงานการฝีมือ วาดภาพ ร้อยลูกปัดคลายเหงา นอกจากนี้ ก็จัดให้มีการสวดมนต์ ไหว้พระ ปฏิบัติธรรม และนั่งสมาธิ ซึ่งคุณยายไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ระยะเวลา 5 เดือน ที่บ้านสุทธาวาสเปิดตัวรับคนชราที่ไร้ที่พึ่ง เข้ามาอยู่ที่นี่แล้ว 10 คน แม้จะยังไม่มาก เมื่อเทียบกับบ้านพักคนชราแห่งอื่น แต่บ้านหลังใหญ่ที่ชื่อสุทธาวาสแห่งนี้ นอกจากจะช่วยเปลี่ยนความทุกข์ของคุณยายให้กลายเป็นความสุขได้แล้ว ก็ยังทำให้ความสุขของอรรณพเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยทุกวันนี้ หลังบริหารงานที่สีลม คอมเพล็กซ์แล้ว อรรณพจะรีบบึ่งรถมานครนายกทันที “ผมสบายใจกับที่นี่มาก นอกจากเงียบสงบแล้ว ได้มาเห็นรอยยิ้มของคุณยายแล้วผมก็มีความสุขแล้ว”
ธุรกิจสีลมคอมเพล็กซ์นั้น ป็นกิจการมีรายได้พอเลี้ยงตัวและให้ผลกำไรตอบแทน ขณะที่บ้านสุทธาวาสนั้น เป็นการบริหารเชิงการกุศล แม้ไม่ต้องแข่งขันเหมือนธุรกิจ แต่มีข้อจำกัดเรื่องรายได้ แถมยังมีรายจ่ายประจำทุกเดือนอีกด้วย
“ทุกวันนี้บ้านสุทธาวาสมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3 แสนบาทต่อเดือน ถึงเราไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเองต้องอาศัยเงินส่วนตัวของพี่น้อง แต่สิ่งที่พวกผมได้รับคือความสุขใจ ไม่เครียด ที่นี่ทำให้ผมเห็นและได้แบ่งปันความทุกข์ของผู้อื่น ทำให้เราเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง ให้ทั้งเวลา แรงกาย แรงทรัพย์ ตลอดจนให้ความเป็นตัวเรา ทุกวันนี้ผมสามารถดูแลพูดคุยกับคุณยายให้เขาคลายทุกข์ได้”
อรรณพยังบอกอีกว่า คุณยายที่มาอยู่กับที่บ้านสุทธาวาสนั้น จะได้รับการดูแลจนถึงที่สุด แม้จะไม่มีพยาบาลอาชีพ แต่พนักงานพี่เลี้ยงทุกคนผ่านการฝึกเรื่องการดูแลผู้สูงวัยมาแล้ว และถ้าเจ็บไข้ก็นำส่งโรงพยาบาล โดยสิ่งสำคัญที่เขาย้ำกับพนักงานบ่อยๆ คือให้ดูแลคุณยายเหมือนญาติ
“จากวันแรกถึงวันนี้ คุณยายที่เข้ามาอยู่ทุกคนมามีความสุข “คุณยายที่มาแต่ละคนวันแรกอาจจะดูเหงา แต่พอเข้าวันที่ 2-3 ก็เริ่มคุ้นเคยกัน พวกเราอยู่กันตอนนี้ก็เหมือนครอบครัวเดียวกันครับ” อรรณพกล่าวทิ้งท้าย