xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นรถไฟทางคู่ดันดัชนีไปต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – ปัจจัยต่างประเทศดันดัชนีหุ้นไทยพุ่ง 10 จุด นักวิเคราะห์ลุ้นผลครม.พิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ ขณะเดียวกันระวังอนุมัติการจัดเก็บภาษีประชาชนเพิ่มเติม ทั้งภาษีมรดก, ภาษีทรัพย์สิน, และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT กดดันดัชนีระยะสั้น
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ปิดที่ 1,590.14 จุด เพิ่มขึ้น 10.94 จุด เปลี่ยนแปลง +0.69% มูลค่าการซื้อขาย 49,361.23 ล้านบาท ระหว่างวันแตะจุดสูงสุดที่ 1,592.20 จุด และต่ำสุดที่ 1,584.54 จุด โดยสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 2,123.23 ล้านบาท, บริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 208.36 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 1,469.84 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 3,801.43 ล้านบาท
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวดัชนีวานนี้ ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นภูมิภาค หลังธนาคารกลางจีนสร้างเซอร์ไพรส์เชิงบวกด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยในเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา นำโดยหุ้นใหญ่ในกลุ่ม Bank ICT และ Energy สอดคล้องกับแรงซื้อจากกองทุน LTF/RMF ในช่วง 2 เดือนสุดท้าย
พร้อมคาดการณ์ วันนี้ดัชนีมีแนวโน้มผันผวนเพราะปรับขึ้นใกล้ 1,600 จุด คาดแนวรับ 1580 จุด แนวต้าน 1593 – 1600 จุด โดยแนะนำให้ทยอยซื้อหุ้น เพื่อขายทำกำไรบางส่วนบริเวณ 1,600 จุด จากปัจจัยบวกต่างประเทศและเงินลงทุนในประเทศหลังงาน SET In the City ซึ่งสนับสนุนการหมุนเข้าหุ้น Big Cap อาทิ ADVANC INTUCH SCB BBL KTB SPALI LPN AP ขณะที่หุ้นกลุ่ม Construction service โดยเฉพาะ ITD มีมูลค่าการซื้อขายสูงขึ้นมาจากการเก็งการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.วันนี้เรื่องการอนุมัติรถไฟรางคู่ไทย-จีน
สอดคล้องกับนายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนิตี้ ระบุวันนี้ ตลาดหุ้นจะยังสามารถเคลื่อนไหวในแดนบวกได้แต่อาจเริ่มแกว่งตัวในกรอบแคบ พร้อมให้แนวรับ 1,570-1,580 จุด ส่วนแนวต้าน 1,600 จุด โดยนักลงทุนต้องติดตามการประชุมครม.ในการพิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ และคาดว่าตลาดฯอาจได้แรงหนุนจากกรณี หรือ MSCI Index จะปรับตะกร้าหุ้นในการคำนวณดัชนีใหม่
ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส เตือน ในระยะสั้นเชื่อว่าตลาดหุ้นไทย อาจจะยังขาดปัจจัยหนุนที่สำคัญ นอกเหนือจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่เกิดจากความต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อประหยัดภาษี ซึ่งจากการศึกษาพบว่าโดยปกติแรงซื้อราว 70% ของยอดซื้อกองทุน LTF ทั้งปี จะมากระจุกตัวอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของปี
ทั้งนี้ปัจจัยที่เชื่อว่าจะเข้ามากดดันตลาดหุ้นน่าจะเป็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีประชาชนเพิ่มเติม ทั้งภาษีมรดก, ภาษีทรัพย์สิน, และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 7% โดยมีเป้าหมายจะเก็บเพิ่มอีก 3% เป็น 10% ในปีหน้า ซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศในระยะสั้นๆ หรือในช่วงที่มีการปรับตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิBIGC, MAKRO, CPALL, HMRPO เป็นต้น จะได้ผลกระทบโดยตรง เพราะคาดว่าราคาขายสินค้าจะถูกปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับการขึ้น VAT ซึ่งในที่สุดจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
กลยุทธ์การลงทุนยังเน้นเลือกหุ้นเป็นรายตัวที่มีแนวโน้มผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง พร้อมกับมีเงินปันผล
กำลังโหลดความคิดเห็น